ทั้งนี้ ในตอนที่แล้ว “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้สะท้อนเน้นย้ำนำเสนอทิ้งท้ายว่าเรื่องนี้กรณีนี้  “กุญแจสำคัญอยู่ในมือคนรุ่นเก่า” โดยที่ “มีกุญแจ 3 ดอก”…

กุญแจที่ว่านี้ เกี่ยวกับการสนทนา”…

มีอยู่ “3 ขั้น เพื่อจะ ป้องกันปัญหา

เพื่อ มิให้การเมืองทำให้บ้านแตก!!!

ทั้งนี้ ณ ที่นี้ในวันนี้เน้นย้ำไว้อีกครั้งว่า… การเท่าทันเพื่อป้องกันปัญหา “พิพาทในบ้านอันเนื่องจากเรื่องการเมืองระหว่างคนรุ่นเก่า-รุ่นใหม่” นั้น…ในยุคนี้ “ยุคที่คนรุ่นใหม่สนใจการเมืองกันมากขึ้น” ยังไง ๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญสำหรับสังคมไทย…ไม่ว่า “สถานการณ์ร้อนทางการเมือง” เกี่ยวกับ “นายกรัฐมนตรีคนใหม่-รัฐบาลชุดใหม่” ล่าสุดจะเป็นเช่นไร??

และกับแนวทางป้องกันปัญหา…ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ขอพลิกแฟ้มสะท้อนย้ำชุดข้อมูลงานวิจัยที่จัดทำไว้โดย ดร.มติ ทาเจริญศักดิ์ นักวิชาการสาขาวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ที่มีการเผยแพร่ในวารสารพฤติกรรมศาสตร์ ปีที่ 29 ฉบับที่ 1 มกราคม 2566 ของสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) งานวิจัยหัวข้อ “การเสริมสร้างความไว้วางใจระหว่างบิดามารดาและวัยรุ่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการความคิดทางการเมืองและแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในครอบครัว” ซึ่งผู้ใหญ่ในบ้านที่มีสมาชิกเป็นวัยรุ่นน่าพิจารณา…

ผู้ใหญ่ในบ้านในที่นี้หมายรวมได้ทั้งคนที่เป็น พ่อ-แม่ ลุง-ป้า น้า-อา ปู่-ย่า ตา-ยาย และวัยรุ่นในบ้านก็หมายรวมได้ทั้งคนที่เป็น ลูก-หลาน ซึ่งกับ กุญแจ 3 ดอกหรือ แนวทาง 3 ขั้นเกี่ยวกับการสนทนาที่ถือเป็นวิธีสร้างความไว้วางใจเพื่อที่จะช่วยลดพิพาทขัดแย้งในบ้านเพราะการเมือง นั้น…ในงานวิจัยชิ้นดังกล่าวได้ระบุไว้ โดยสังเขปมีดังนี้คือ…

Diverse friends gathering together

เริ่มจาก ขั้นก่อนสนทนา ที่ผู้ใหญ่ก็ต้องเข้าใจว่าวัยรุ่นก็ต้องการการสนทนาด้วยเหตุผล ต้องการให้การสนทนาเป็นแบบให้เกียรติกัน ซึ่งผู้ใหญ่ส่วนใหญ่มักใช้สถานภาพที่สูงกว่าเพื่อการอบรม ด้วยความเคยชิน จึง อาจเกิดการใช้อำนาจโดยไม่รู้ตัว ทำให้ถูกต่อต้านจากวัยรุ่น ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ผู้ใหญ่ต้องทำคือเตรียมตัวก่อนเริ่มสนทนา เช่น ปรับความสัมพันธ์ให้มีบรรยากาศแบบเพื่อน เตรียมความรู้การเมืองสำหรับสนทนา รวมถึงควร ปรับลดความคาดหวัง ของผู้ใหญ่ลงมา เหล่านี้เพื่อ…

ทำให้ “การคุยการเมืองในบ้านราบรื่น”

ถัดมา “ขั้นสนทนา” เมื่อการสนทนาเริ่มต้นขึ้น สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำคือ…กำหนดขอบเขตของเรื่องที่เปิดเผยได้ โดยอาจให้วัยรุ่นเป็นผู้กำหนด มีการรับฟังอย่างตั้งใจด้วยการเปิดโอกาสให้วัยรุ่นสนทนาโดยไม่ถูกขัด ต้อง ควบคุมอารมณ์และให้อภัยเมื่อวัยรุ่นแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ขัดใจผู้ใหญ่ หรือไม่ถูกต้อง อนุญาตให้วัยรุ่นตัดสินใจด้วยตนเอง เพื่อแสดงออกถึงความไว้วางใจของผู้ใหญ่ในครอบครัวในการสนทนาเรื่องทางการเมือง สร้างบรรยากาศแลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งหากผู้ใหญ่ไม่แน่ใจในข้อมูลก็ควรบอกกับวัยรุ่นโดยตรง และอย่าลืมปรับสัมพันธ์ในการสนทนาเสมือนเป็นเพื่อน เหล่านี้ก็เพื่อ…

ทำให้ “การคุยการเมืองไม่ตึงเครียด”

และกุญแจอีกดอก-อีกขั้นคือ “ขั้นหลังการสนทนา” เมื่อการสนทนาการเมืองจบลง สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำคือ…แสดงออกด้วยความจริงใจ รักษาสัญญา ไม่นำเรื่องที่สนทนากันไปเล่าให้ผู้อื่นฟังต่อ เพราะถ้าวัยรุ่นรู้ว่าผู้ใหญ่นำเรื่องที่สนทนาในบ้านไปเล่าต่อ ก็อาจส่งผลให้วัยรุ่นในบ้านไม่อยากเผยความคิดทางการเมืองให้ผู้ใหญ่ได้ฟังได้รู้อีก และก็อาจนำสู่ปัญหาพิพาทได้ …นี่ก็อีกแนวทาง “ลดความขัดแย้งจากการที่สมาชิกในครอบครัวมีความคิดทางการเมืองที่ต่างกัน” ซึ่งขั้นนี้ก็ประมาณว่า…

ทำให้ “คุยการเมืองได้อย่างไว้วางใจ”

ข้อมูลน่าพิจารณาจากงานวิจัยเรื่องการ “แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในครอบครัว” โดย ดร.มติ ทาเจริญศักดิ์ นักวิชาการสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ยังมีบางช่วงบางตอนที่ระบุไว้ประมาณว่า… วัยรุ่นมักมองว่าการสนทนาในบ้านนั้นตนเองเสมือนถูกบังคับ การสนทนาเปิดเผยแนวคิดทางการเมืองส่วนตัวออกมาอาจทำให้ถูกผู้ใหญ่ในบ้านตำหนิหรือลงโทษได้ อีกทั้งการเมืองก็เป็นอีกเรื่องที่วัยรุ่นมองว่าการจะเผยแนวคิดในบ้านก็ควรมีขอบเขต-มีบางประเด็นที่ตนเองเก็บเป็นความลับได้ ซึ่งผู้ใหญ่ในบ้านก็ควรต้องเข้าใจมุมมองเหล่านี้ และพยายามสร้างความไว้วางใจต่อกัน เพื่อป้องกันการเกิดพิพาท

ทั้งนี้ ย้ำ ณ ที่นี้อีกครั้งว่าไม่ว่าสถานการณ์การเมืองในไทยล่าสุดดำเนินถึงจุดไหน?? เป็นเช่นไร?? กับการ “ป้องกันปัญหาพิพาทในบ้านอันเนื่องจากเรื่องการเมืองระหว่างคนรุ่นเก่า-รุ่นใหม่”ก็ยังคง “น่าพิจารณา-น่าตระหนัก” ต่อไปให้เป็นปกติวิสัยในบ้านในครอบครัว เนื่องเพราะ “รากเหง้าความขัดแย้งแตกแยกเพราะการเมืองในไทยยังคงฝังลึกอยู่”

และที่ก็สำคัญ ที่ ณ ที่นี้ขอสะท้อนไว้ด้วยคือ…“คนรุ่นใหม่ก็ต้องเปิดใจในความคิดเห็นหรืออุดมการณ์การเมืองของคนรุ่นเก่า” ด้วย ซึ่งยิ่งกับคนรุ่นเก่าในบ้าน…คนรุ่นใหม่ก็ยิ่งต้องเปิดใจ ก็ยิ่ง “ต้องไม่เอาแต่ความคิดตน” เป็นที่ตั้ง…

“คนรุ่นใหม่” ยุคนี้ “สนใจประชาธิปไตย”

“เป็นเรื่องดี” แต่ “ก็ต้องระวังเหตุพิพาท”

“ไม่ละเมิดประชาธิปไตยตั้งแต่ในบ้าน”.