น้อง อ.: คุณอาหมอคะ ชุมชนของหนู อยู่ติดแม่น้ำ พี่ๆ ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร บางครั้งฝนตกหนัก น้ำก็ท่วมยาวนาน การเกษตรก็เสียหาย บางครั้งฝนแล้ง การเกษตรไร่นาก็เพาะปลูกไม่ได้ ปีนี้เขาว่า El Nino มาแล้ว และจะอยู่กับเราสองสามปี คาดว่าจะหนักหนาสาหัส และยาวนานกว่าที่เราเคยเจอ คุณอาหมอมีคำแนะนำไหมคะ

หมอมาร์ค: ทราบว่าน้อง อ. กำลังเรียนนิเทศศาสตร์ ใกล้จะจบแล้ว ลองนำความรู้ที่เรียนมาใช้ซิคะ เริ่มจากการสื่อสารเพื่อทำความ “เข้าใจ” ลองทำคลิปสื่อสารว่า El Nino คืออะไร ให้เพื่อนๆ ในชุมชนตระหนัก แล้วอธิบายต่อว่า พวกเขาจะเจอวิกฤติแบบไหน และสิ่งสำคัญคือ ต้องทำสื่อเพื่อปรับ mindset ของเพื่อนๆ ว่า ยามวิกฤติไม่มีใครช่วยเราได้ เราต้องพึ่งพากันเอง ดังนั้นต้องรีบเตรียมการเสียแต่เนิ่นๆ เมื่อเพื่อนๆ “เข้าใจ” แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ “เข้าถึง” ต้องรวมกลุ่มกันลงพื้นที่ โดยมีแผนที่เป็นลายแทง ดูว่าบริเวณไหน ปลอดภัย บริเวณไหนเปราะบางมีความเสี่ยงสูง และบริเวณใดที่จะหายนะแน่ ๆ แล้วเราจะเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุขกันอย่างไร ปกติแล้วหน่วยงานราชการในชุมชนน่าจะมีข้อมูลพื้นฐานอยู่บ้างแล้ว และสันนิบาตเทศบาลน่าจะมีแผนผังภูมินิเวศ ที่ช่วยให้เราเริ่มต้นได้ เมื่อลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพียงพอแล้ว ก็นำมาประชุมพูดคุยกเพื่อกำหนดฉากทัศน์ ปั้นโครงการเร่งด่วนระยะสั้น กลาง และยาว อย่าลืมเรื่องการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา เริ่มจากพวกเราภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญภาคเอกชนในท้องถิ่น

การสร้างภูมิคุ้มกัน โดยหลักการคือ ต้องเก็บน้ำจากฟ้าให้ได้มากที่สุด ปัจจุบันฝนที่ตกมา 100 เม็ด เราเก็บไว้ใช้ได้เพียง 6 เม็ด ที่เหลือปล่อยทิ้งลงทะเลไปอย่างเสียเปล่า เราต้องช่วยกันเพิ่มพื้นที่เก็บน้ำ พื้นที่ชะลอน้ำ เชิญชวนนักวิชาการท้องถิ่นและมหาวิทยาลัยมาช่วยคิดสร้างนวัตกรรมการเก็บชะลอน้ำต่างๆ อาทิ ระบบธนาคารน้ำใต้ดิน (groundwater bank) สวนเพื่อดูดซับน้ำ (bioswales) พื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) ระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนเพื่อนำมาใช้ใหม่ (waste water treatment system) และอื่นๆ การปรับผังภูมินิเวศใหม่นี้ ต้องดูความเป็นธรรมของผู้ที่ต้องเสียสละด้วย เพื่อจะได้สุขสม อย่างยั่งยืนไปด้วยกัน การออกแบบพื้นที่เก็บน้ำเหล่านี้ จะเป็นกันชนธรรมชาติได้ประโยชน์ทั้งในคราวน้ำแล้ง และคราวน้ำหลาก ที่สำคัญกว่านั้นคือต้องทำความเข้าใจกับเพื่อนๆ เรื่องการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ต้องประหยัด ใช้น้ำให้ถูกประเภท ลองกลับไปอ่านเรื่อง Water Footprint ก่อนหน้านี้ดู นอกจากช่วยกันใช้น้ำให้คุ้มค่าแล้ว ยังช่วยกันประหยัดเงินในกระเป๋าของเราได้อีกด้วย น้อง อ. ลองนำไปทำนะคะ เป็นคนดีมีความรู้แบบนี้ จบแล้วอยากทำอะไรคะ

น้อง อ.: ขอบคุณอาหมอมากคะ จะรีบไปบอกคุณพ่อ เรื่องทำความเข้าใจ เข้าถึง และร่วมกันพัฒนาชุมชนของเรามีทางรอดอย่างยั่งยืนแล้ว ส่วนหนูคิดว่าเรียนจบปริญญาโทแล้ว หนูอยากจะไปสมัครเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์คะคุณอาหมอ เขาให้โอกาสความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วเลยคะ เห็นจากข่าวรุ่นพี่ คุณอาหมอไปสมัครด้วยกันไหมคะ.