เมื่อวันที่ 13 ก.ค.นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวถึงผลการโหวตนายกรัฐมนตรี ว่า ผลการลงคะแนนเสียงวันนี้สะท้อนว่ารัฐสภาไทยไม่เป็นประชาธิปไตย ธรรมดาผลการเลือกตั้งจากประชาชนย่อมจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรที่มี 500 คนได้แล้ว แต่ต้องมาเลือกตั้งซ้ำอีกครั้งโดยวุฒิสภาด้วย ซึ่งไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ชาติไทย เพราะไม่ใช่บทบาทหน้าที่ ส.ว. แต่มาเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 60 เพื่อสืบทอดอำนาจ คสช.เท่านั้น ทำให้ ส.ว.แต่งตั้งสามารถมีอำนาจพิเศษร่วมโหวตนายกได้ใน 5 ปีแรก คือปี 2562-2567
นายเมธา กล่าวต่อว่า ทำให้การเลือกนายกจึงต้องมีเสียงเห็นชอบ 375 ขึ้นไปในสมาชิกทั้งหมด 749 เสียงของรัฐสภา ทำให้ประชาชนเลือกมาแล้ว ส.ว.ต้องมาเลือกใหม่อีกรอบ ถ้าไม่พอใจในเสียงประชาชนก็ไม่ให้ผ่าน นี่คือรูปแบบเผด็จการที่เขียนแทรกไว้ จึงต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยเสียที การที่ ส.ส. หรือ ส.ว.หลายคนอภิปรายและตัดสินใจงดออกเสียงหรือไม่โหวตให้นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยอ้างว่ามีนโยบายแก้ไข ม.112 นั้น รับฟังไม่ได้เพราะไม่เกี่ยวกับการเลือกนายกฯ เลย เพราะเป็นเรื่องพรรคการเมืองหาเสียงไว้กับประชาชนและต้องรับผิดชอบเอง จะเอาเสียง ส.ว.มาต่อรองไม่ให้พรรคการเมืองไม่ปฏิบัติตามนโยบายที่หาเสียงไว้และได้รับมอบหมายจากประชาชนให้เข้าสภาไม่ได้ เรื่องนี้จึงเป็นเพียงข้ออ้างของกลุ่มอำนาจเก่าเอามาเล่นตลก เพราะเรื่องนี้เมื่อ ส.ส.เสนอกฎหมายก็ต้องไปถกกันในที่ประชุมรัฐสภาในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ และในชั้นกรรมาธิการ ซึ่ง ถ้า ส.ส.พรรคอื่นๆ หรือ ส.ว.ไม่เห็นด้วย กฎหมายก็ไม่ผ่านสภา ไม่เกี่ยวกับการไม่โหวตให้นายพิธาเป็นนายก
“ผลการโหวตนายกวันนี้ สมาชิกรัฐสภาลงมติ เห็นชอบ 324 – 182 ไม่เห็นชอบ โดยมีการงดออกเสียงถึง 199 คนที่ต้องถูกนับรวมไปในกลุ่มไม่เห็นชอบด้วยโดยปริยาย ซึ่งเป็น ส.ว.ถึง 159 คน การที่ ส.ว.จำนวนมากงดออกเสียงนั้น เท่ากับท่านไม่เห็นชอบ จะบอกว่างดออกเสียงถือว่าเป็นกลางแล้วลอยตัวเหนือปัญหาไม่ได้ เพราะการที่ท่านงดออกเสียง ก็เท่ากับการไม่รับผิดชอบต่อสังคมและระบอบประชาธิปไตย การไม่เห็นชอบต่อเสียงของประชาชนและผลการเลือกตั้ง ก็เท่ากับท่านกระทำการเป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งต้องคิดใหม่และตอบคำถามประชาชนให้ได้” นายเมธากล่าว
นายเมธา กล่าวต่อว่า ที่น่าสนใจคือ ส.ส. 8 พรรคร่วม เห็นชอบ 311 เสียงไม่มีแตกแถว ขณะที่ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านลงคะแนนไม่เห็นชอบ 148 เสียง โดยงดออกเสียงถึง 40 คน แม้เท่ากับไม่เห็นชอบแต่การแสดงสัญลักษณ์แบบนี้ก็น่าจะเปิดทางให้ 8 พรรคร่วมไปเจรจาเพื่อโหวตนายกฯ รอบใหม่ในสัปดาห์หน้าได้ เพราะขาดเสียงสนับสนุนเพียง 51 เสียงก็จะครบ 375 เสียงแล้ว ดังนั้นตนเชื่อว่าในรอบต่อไป พวกเขาคงไปล็อบบี้เสียงจากพรรคประชาธิปัตย์ที่งดออกเสียง 25 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนาที่งดออกเสียง 10 เสียง รวมถึงพรรคชาติพัฒนากล้า พรรคครูไทยเพื่อประชาชนและพรรคใหม่ รวมอีก 4 เสียง จึงขาดเสียง ส.ว.อีก 12 เสียงเท่านั้น โดย ส.ว. มาโหวต 206 คน จากสมาชิกทั้งหมด 249 คน เห็นชอบเพียง 13 คน ไม่เห็นชอบ 34 คน งดออกเสียงถึง 159 เสียง ซึ่ง 8 พรรคร่วมจะต้องไปทำความเข้าใจและขอคะแนนเสียงในรอบใหม่ เนื่องจากบางท่านอาจจะยังไม่เข้าใจนโยบาย บทบาทหน้าที่ของพรรคการเมือง และไม่เข้าใจว่า งดออกเสียง เท่ากับไม่เห็นชอบ และมี ส.ว.ที่ขาดประชุมถึง 43 คน
“ผมขอเรียกร้องให้ ส.ว.รับผิดชอบต่อประชาชนและระบอบประชาธิปไตย ให้รัฐสภามีเกียรติมีศักดิ์ศรี หากจะงดออกเสียงเยอะขนาดนี้ คืนเงินเดือนที่มาจากภาษีประชาชนดีกว่า ได้ยินข่าวลือมาว่ามีกลุ่มทุนใหญ่ 4 กลุ่มพยายามทุ่มทรัพยากรขัดขวางการจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกลทุกวิถีทาง แต่สมาชิกรัฐสภาจะรักษาเกียรติศักดิ์ศรีไว้ได้ต้องเป็นอิสระจากอำนาจรัฐและทุน ถ้าพรรคก้าวไกลสามารถเดินหน้าล็อบบี้ขอเสียงสนับสนุนได้โดยทำความเข้าใจเรื่องกระบวนการรับผิดชอบนโยบายของพรรคการเมืองต่อประชาชน เชื่อว่านายกฯ คนใหม่ในสัปดาห์หน้าคือนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แต่ถ้าไม่ได้เชื่อว่านายกคนใหม่จะเป็นนายเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย ที่พร้อมเชิญชวนพรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคอื่นเข้าร่วมรัฐบาล และได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. บางส่วนที่มีดีลไว้แล้วกับกลุ่มอำนาจเก่า”นายเมธา กล่าว
นายเมธา กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า ส.ว.ถูกแต่งตั้งโดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ การเมืองไทยในรอบ 5 ปีหลังนี้ จึงถูกออกแบบไว้ต่อเนื่องจาก 5 ปีแรกภายใต้เผด็จการ คสช. ที่แต่งตั้งคนของตนเองมาดำรงตำแหน่งใน กกต. ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ พวกเขาอาจจะใช้ทุกวิถีทางเพื่อสะกัดกั้นเสียงของประชาชน และอาจถึงขั้นยุบพรรคก้าวไกลในอีกไม่นาน