ตอนนี้สิ่งที่หลายคน..น่าจะเรียกว่าเลยคำว่า ลุ้น ไปกลายเป็นคำว่ารำคาญแล้ว คือ ศึกโหวตนายกฯ ซึ่งถือว่า “กรณีนี้รัฐธรรมนูญวางกับดักไว้เต็มๆ” เพราะเดิมมันเข้าใจง่ายจะตายชัก พรรคไหนได้เสียงข้างมากอันดับหนึ่งคือจัดตั้งรัฐบาล พรรคไหนได้เสียงเป็นอันดับสองก็เป็นผู้นำฝ่ายค้าน แต่นี่มาออกแบบบ้าๆ บอๆ ให้หลังเลือกตั้งเสร็จมีการวิ่งรวมเสียงพรรคให้ได้เป็นเสียงข้างมากที่สุดของสภาผู้แทนราษฎรก่อน แล้วก็ยังต้องไปหาเสียงวุฒิสภา ( เฉพาะช่วงบทเฉพาะกาล 5 ปี ) มาสนับสนุนให้ได้เสียงถึง 376 เสียง แคนดิเดตที่ถูกเสนอถึงเป็นนายกฯ ได้

และรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเวลาไว้ว่า “ต้องได้นายกรัฐมนตรีในกี่วัน” ไม่เหมือนกรณีเปิดประชุมเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ก็ไม่รู้ว่าจะต้องโหวตกันกี่ครั้งถึงจะรวมเสียงครบ แล้วก็มี ส.ว.มีปัญหาอีกว่า “ถ้ายึดตามข้อบังคับการประชุมสภาข้อที่ 41 คือ เมื่อมีการเสนอญัตติมาแล้วถูกตีตกจะไม่มีการเสนอญัตตินั้นซ้ำ” โดยเอาไปเทียบเคียงว่า การเสนอเลือกนายกฯ คือญัตติชนิดหนึ่ง ดังนั้น ถ้าโหวตรอบแรก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ คะแนนเสียงไม่ถึงขึ้นมา ก็ปัดตกแล้วก็เอาแคนดิเดตคนใหม่มาเสนอ ..ซึ่งตอนนี้ คนที่เป็นแคนดิเดตถูกเสนอชื่อได้ คือ นายเศรษฐา ทวีสิน, น.ส.แพทองธาร ชินวัตร, นายชัยเกษม นิติสิริ จากค่ายเพื่อไทย

ส่วนค่ายว่าที่ฝ่ายค้านคือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ( รทสช.) ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และแคนดิเดตนายกฯ เบอร์หนึ่งของ รทสช.เพิ่งประกาศวางมือไปเมื่อวันที่ 11 ก.ค.นี่เอง นัยว่า เพื่อกันตัวเองออกจากความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น ( และหลายคนก็ว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ควรลงแต่แรกเพราะศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้วว่าอยู่ได้แค่สองปี ) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) ซึ่งหลังๆ เริ่มมีกระแสเชียร์ว่า “น่าจะเป็นผู้ประสานสิบทิศได้” และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพราะได้ ส.ส.ถึง 5% เสนอชื่อได้พอดี

ทีนี้ ทางฝั่ง ส.ว.ก็เริ่มมีข่าวแบบชวนงง คนนึงว่ามีแจกกล้วยไม่ให้เลือกพิธา คนนึงว่ามีแจกกล้วยให้เลือกพิธา คือไปตกลงกันดีๆ ก่อนให้กล้วยก็ดี ไม่งั้นอาจมีคนให้อวัยวะที่ชื่อคล้ายกล้วยกลับ ..แล้วถ้าโหวตไม่ผ่านรอบแรก ก็ต้องใช้ดุลยพินิจของประธานในที่ประชุมว่า การเลือกนายกฯ ถือเป็นญัตติตามข้อบังคับการประชุมสภาข้อที่ 41 ใช่หรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็เสนอชื่อนายพิธาซ้ำ ให้โหวตกันอยู่นั่น ขานชื่อกันให้สนุกไปเล้ย .. 750 คน

หรือไม่แน่ว่า พอมีการเสนอโหวตรอบ 2 ก็อาจมีการเสนอชื่อประกบ ซึ่งก็ไม่รู้ว่า จะมีการที่เพื่อไทยกลายเป็นเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดหรือไม่ แม้จะพูดๆๆๆ ว่า สนับสนุนพิธาเป็นนายกฯ แต่ธรรมชาติของลิ้นมันไม่มีกระดูก..อาจมีแนวๆ ว่า เมื่อเห็นว่า พิธาไปไม่รอดแน่ๆ ก็อาจต้องคุยเพื่อเสนอแคนดิเดตของเพื่อไทยขึ้น ..กระทั่งว่า อาจมีการเสนอแคนดิเดตของพรรคว่าที่ฝ่ายค้านขึ้น แล้วเกิดการสวิงขั้ว ก็เป็นไปได้… แล้วถ้าไม่ผ่านอีก ก็ให้มีสมาชิกเสนอให้เลือกนายกฯ นอกบัญชีพรรค จากนั้นใช้เสียงกึ่งหนึ่งของสองสภารับรอง “เฉพาะให้โหวตจากชื่อนอกบัญชีพรรค” แล้ว “เฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นที่เสนอชื่อคนนอกได้”  ให้สองสภารับรองอีกครั้ง

ข้างฝ่ายนายพิธาเอง ก็เคราะห์หามยามมาเรื่อยๆ ที่ทำให้มีโอกาสขาดคุณสมบัตินายกฯ คือเรื่องการถือหุ้นไอทีวี แม้เจ้าตัวจะแจ้งว่าเป็นการถือในฐานะผู้จัดการมรดก แต่เป็นมรดกของบิดาก็อาจตีความได้ว่าผู้จัดการก็ได้ผลประโยชน์ด้วย แล้วยังมีประเด็นงอกออกมาให้ตีความอีก คือการออกหนังสือ “วิถีก้าวไกล” ซึ่งมีชื่อนายพิธาเป็นผู้พิมพ์ เท่ากับเป็นการผลิตสื่อตาม พ.ร.บ.การพิมพ์ฯ หรือไม่ ? เช่นนั้นแล้วเข้าข่ายการถือหุ้นสื่อหรือไม่

ล่าสุด กกต.มีคำสั่งให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “คุณสมบัติความเป็น ส.ส.”ของนายพิธา เนื่องจากถือหุ้นสื่อ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3 ) และรู้ตัวว่าขาดคุณสมบัติแล้วยังสมัคร ส.ส. ผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง มาตรา 151 หรือไม่ คือเล่นสองมาตราเป็นเรื่องหลักก่อน เรื่องอื่นยังไม่รู้มีงอกออกมาอีกหรือไม่

ถึงยื่นศาลรัฐธรรมนูญไป ก็เป็นการพักการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ทำให้ถ้าศาลรัฐธรรมนูญสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ก่อนคดีสิ้นสุด ( กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่สั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ) ก็ยังสามารถโหวตนายพิธาเป็นนายกฯ ได้ ..แต่จะเป็นข้ออ้างให้ ส.ว.ไม่ต้องโหวตอีกข้อหนึ่ง นอกจากกรณีข้อกล่าวหาว่า “ไม่โหวตเพราะจะแก้ ม.112” …แต่ต่อมาจะเป็นปัญหาถ้ามีใครยื่นตีความความเป็นรัฐมนตรีอีก เพราะคุณสมบัติของรัฐมนตรีมันล้อกับคุณสมบัติ ส.ส.อยู่ คือ ห้ามถือหุ้นสื่อเหมือนกันนั่นแหละ แล้วก็มีผลตัดสิทธิ์ทางการเมืองนายพิธา ..น่าจะ 10 ปี

ทางพรรคก้าวไกลก็ใช้วิธีสู้แบบหลังพิงฝาประชาชน โดยการให้นายพิธาลงพื้นที่ขอบคุณแบบถี่ๆ แล้วก็ย้ำเรื่อง “เจตนารมณ์ประชาธิปไตย” ที่พรรคเสียงข้างมากต้องได้จัดตั้งนายกฯ ..ซึ่งเราก็เห็นความไม่มั่นใจในเสียง ส.ว.ของพรรคก้าวไกลอยู่ แม้ว่า น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค หรือนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค พยายามบอกว่า “เสียงมีพอ” แต่ “ความไม่มั่นใจ”นั้น แสดงออกผ่านทางนายพิธาที่มีการสื่อสารในช่วงหลังๆ เช่นการออกคลิปเรียกร้องให้ ส.ว.เคารพเสียงของประชาชน หรือกระทั่งในคราที่ไปสุพรรณบุรี แม้ตัวเองไม่ได้ ส.ส.เขต แต่กลับไปพูดกับประชาชนที่นั่นว่า ให้บอก ส.ส.เขตให้ “เลือกตามหลักการประชาธิปไตย” คือให้เสียงข้างมากได้จัดตั้งรัฐบาล

ประวัติ ศิริกัญญา ตันสกุล ตัวเต็ง รมต. คลังหญิงคนแรก และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

 คือเป็นอะไรที่แบบว่า…อธิบายไม่ถูกเหมือนกัน คือไปขอเสียง ส.ส.ขั้วตรงข้ามโหวตให้ แล้วไม่ให้เขาร่วมรัฐบาล ธรรมชาติของการเมืองคือเรื่องของผลประโยชน์ ..ไปขอเสียงให้ ส.ส.ออกเสียงแบบใช้เอกสิทธิ์ แต่จริงๆ แล้วหลายพรรคเขาบังคับว่าการโหวตอะไรแบบนี้ต้องเป็นมติพรรค ...อย่างไรก็ตาม พรรคที่ลองไปขอดีๆ น่าจะได้คือประชาธิปัตย์ เพราะข่าวว่า ส.ส.หลายคนอยากร่วมรัฐบาล อยากได้เก้าอี้รัฐมนตรีเพื่อมาทำผลงาน อาจต่อรองเอาว่าการได้ 1 รมช.1 เพียงแต่ประชาธิปัตย์ก็อยู่ในภาวะร่อแร่ๆ จากการรีแบรนด์พรรคอยู่ในขณะนี้ จะไปทางก้าวไกลกลุ่มอนุรักษ์นิยมเดิมก็พาลจะเทเอา หรือถึงไป เขาก็อาจชื่นชมพอเป็นพิธีว่ารักษาหลักการแล้วเชิญกลับไปเป็นฝ่ายค้านนะคะ ..ขั้วสนับสนุนก้าวไกลก็ยังไม่ได้มองประชาธิปัตย์ดีไปกว่าพรรคแมงสาบ

เอาจริง กรณีแบบนี้ทางออกต้องทำอย่างไร ? ถ้าเป็นทางออกในฝัน ก็คือ “โหวตให้ก้าวไกลเป็นแกนนำรัฐบาล พิธานายกฯ แล้วบริหารไปเถอะ” ถ้าออกมาแล้วมันไม่ดี ก็มีผลต่อการเลือกตั้งในครั้งต่อไปเอง โดยเฉพาะนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่เห็นว่ากันว่า เวลา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ว่าที่ รมว.คลังพูดอะไรทีมีแต่คนวิจารณ์เชิงลบ ..พรรคขั้วรัฐบาลปัจจุบันก็ไปทำหน้าที่ฝ่ายค้านให้ดีๆ แล้วก็รีแบรนด์พรรคตัวเอง หัดใช้กลยุทธ์แบบก้าวไกลในการสื่อสาร คือ ส.ส.เป็นอะไรที่เข้าถึงได้ง่าย มี meme น่ารักๆ ให้เล่น ชาวเน็ตนิยมก็มีผลต่อคะแนนอย่างมีนัยยะสำคัญอยู่  เพราะขณะนี้อินเทอร์เนตเป็นที่แพร่หลายไปทั่วแล้ว คนแก่ๆ หลายคนก็หันมาเล่นอินเทอร์เนตเพราะการเข้าถึงเครื่องมือมันง่าย

ในระหว่างการบริหารก็แก้ไขรัฐธรรมนูญซะ..ทำประชามติให้ยกร่างใหม่ไปเลย ( ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า จะยกร่างใหม่ต้องถามประชาชนก่อน )  ไม่ต้องมาใช้กติกาที่ปวดกบาลหลังการเลือกตั้งแบบนี้ ที่ต้องให้มารวมเสียงกัน ส่วนเรื่องถือหุ้นสื่อสารมวลชนนั้น..มันเป็นเรื่องสองคนยลตามช่อง บางคนว่ามันไม่จำเป็นจะต้องกำหนดแล้วว่า ส.ส., รัฐมนตรีห้ามถือหุ้นสื่อ ปัจจุบันคนมาใช้อินเทอร์เนตเยอะแยะ เขาสื่อสารทางนั้นได้  แต่เอาจริงแล้ว “ผู้นำทางความคิด”ในสังคมยังเป็นสื่อวิทยุโทรทัศน์เสียมาก นักเล่าข่าวบางคนแทบจะกลายเป็น “ศาสดา” ดังนั้น ก็ต้องไปถกกันว่าควรจะตัดทิ้งหรือไม่เรื่องการถือหุ้นสื่อ

พอแก้รัฐธรรมนูญ ก็มีบทเฉพาะกาลออกมาในการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง นิรโทษกรรมนักการเมืองที่มีปัญหาจากการกำหนดคุณสมบัติของรัฐธรรมนูญเดิม เชื่อว่า เขียนหลักการและเหตุผลกันได้แหละ แต่ไปกำหนดวิธีคัดเลือก ส.ส.ร.ดีๆ จะเลือกตั้งก็ได้ หรืออย่างไรที่ได้ตัวแทนที่มีความเป็นธรรม เป็นกลางมากที่สุด ..สำหรับมาตรา 112 ฝ่ายที่อยากให้แก้ไขก็มี แต่ฝ่ายที่บอกว่าตัวเองไม่มีปัญหากับมันก็เยอะ เขาว่า “มันก็เหมือนหยดหมึกบนผ้าขาว คือคนไปสังเกตหยดหมึกแล้วคิดว่าเรื่องใหญ่ ทั้งที่จริงๆ พื้นที่ขาวตั้งเยอะ เช่นเดียวกับ ม.112 คนมีปัญหาก็ไม่ได้มีเยอะหรอก แต่พอมีขึ้นมาสักคนไปขยายความกันให้ใหญ่โตไปเอง” อันนี้ก็แล้วแต่ความคิดความเชื่อของแต่ละคน

แต่ส่วนหนึ่งคือ ถ้าจะออกบทเฉพาะกาลมานิรโทษกรรม แล้วรัฐธรรมนูญให้ทำประชามติเห็นด้วย อาจมีกระบวนการสกัดไม่ให้ผ่านประชามติ ..เอาจริงพรรคก้าวไกลควรหา “หัว Generation 3” ต่อจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เตรียมไว้ก่อนหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับนายพิธาจริงๆ ..และ “หัว Generation 3” นี่แหละจะต้องถือธงรณรงค์ว่า “เราคือพรรคที่ได้รับผลกระทบจากความไม่เป็นธรรมทางกฎหมาย” เพื่อเรียกคะแนนนิยม มาพร้อมกับคะแนนสงสาร

เลือกตั้งใหม่เที่ยวหน้าเผลอๆ อาจตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เลย ไม่ต้องวุ่นวาย

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”