ยังไง ๆ เรื่องขัดแย้งเพราะการเมืองนี่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ “น่าพิจารณาลงลึกในเชิงป้องกันปัญหาไม่พึงประสงค์” ซึ่งนอกเหนือจากที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” สะท้อนต่อข้อมูล-สะท้อนย้ำแง่มุมเพิ่มเติมไปในตอนก่อนหน้า…ก็ยังมีข้อมูลที่สำคัญอีกส่วน…

คือการ…“สกัดปัญหาที่เกิดจากขัดแย้ง”

และ…“แปรขัดแย้งเป็นพลังสร้างสรรค์”

ซึ่ง…“มุมสังคมวิทยามีการแนะนำวิธีไว้”

ทั้งนี้ตอนนี้ชวนดูกันต่อ จากบทความ “ความขัดแย้งแตกแยกในสังคมไทยจากมุมมองทางสังคมวิทยา” ที่จัดทำไว้โดย อ.คมลักษณ์ ไชยยะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ซึ่งยังมีเนื้อหาส่วนที่ระบุไว้ว่า… เมื่อระบบทางสังคมหนึ่งเกิดปัญหาขึ้นมา ระบบอื่น ๆ ที่ค้ำยันการทำงานอย่างเป็นเอกภาพของสังคมก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย ดังตัวอย่างเมื่อเกิดการรัฐประหารยึดอำนาจโดยทหาร ซึ่งเป็นการ ใช้อำนาจนอกระบบ ที่ไม่ได้รับความน่าเชื่อถือยอมรับตามมาตรฐานอุดมการณ์ประชาธิปไตยทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ เข้ามาแทรกการทำงานตามปกติของสังคม ระบบกลไกทางการเมืองปกติไม่สามารถทำงานได้เพราะรัฐสภาและรัฐธรรมนูญถูกยกเลิก กระทั่ง เกิดความขัดแย้งขยายตัวขึ้นในสังคม ผลกระทบก็สะท้อนกลับไปยังสังคมและการทำงานของระบบสังคมต่าง ๆ… เช่น เศรษฐกิจตกต่ำ

อย่างไรก็ดี หากโฟกัสที่เรื่อง “ความขัดแย้ง” ในแง่มุมทางวิชาการ ในชุดข้อมูลดังกล่าวนี้มีการสะท้อนไว้ว่า… ในสังคมแต่ละระดับจะมีความขัดแย้งดำรงอยู่ทั้งสิ้น เนื่องจากมนุษย์เรามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นอยู่โดยตลอด…

ในบริบทของสังคมไทย เรามักรู้สึกว่าการเกิด “ความขัดแย้ง” เป็นสภาพที่ไม่พึงประสงค์ มองว่าความขัดแย้งเป็นสภาพที่เลวร้ายที่อาจนำไปสู่ “การระส่ำระสายในสังคม (anomie)” จนกระทั่งเกิด “การแตกแยก” หรือ “ระบบสังคมเสียระเบียบ (social disorganization)” เกิดสภาพล้มเหลว “นำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ตามมา” ได้…

ความขัดแย้ง ในบางครั้งก็ อาจลุกลามขยายวงกลายเป็นความรุนแรงทางกายภาพขึ้นมา ซึ่งมีตั้งแต่ระดับใช้กำลังระหว่างกัน ไปจนถึงการประทุษร้ายทำลายชีวิตกัน… หากแต่ “ประเด็นที่ก็น่าพิจารณา” เกี่ยวกับ “ความขัดแย้ง” ที่ชุดข้อมูลวิชาการก็ได้มีการชี้ไว้ด้วย ก็คือ… ความขัดแย้งมีทั้งด้านที่ทำให้ล้มเหลว และ “ด้านที่เป็นพลังสร้างสรรค์”…

ความขัดแย้งก็มี “ด้านที่เป็นประโยชน์” อยู่มาก… นักคิดหลายคนก็เห็นว่า ความขัดแย้งเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและคุณภาพใหม่ที่พัฒนาขึ้นของสังคมมนุษย์ได้ เมื่อเกิดปัญหาประเด็นความขัดแย้งขึ้น การแก้ไขปัญหาโดยการพูดคุยถกเถียงในเวทีสาธารณะ ระดมความคิดของกลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียหรือคิดเห็นแตกต่างกัน ก็ช่วยให้เกิดข้อยุติและการหาทางออกที่ได้ผลเป็นที่ยอมรับ บางครั้งก็สามารถพัฒนาไปไกลกว่าเดิมด้วย…

ทั้งนี้ ในสังคมไทย “ขัดแย้งเพราะการเมือง” มาเนิ่นนาน…ดังนั้น “ด้านที่เป็นพลังสร้างสรรค์-เป็นประโยชน์…ของความขัดแย้ง” นับว่า“น่าพิจารณาอย่างยิ่ง” ซึ่ง อ.คมลักษณ์ ไชยยะ ระบุไว้ในการ เสนอ “ทางออกจากปัญหาความขัดแย้งแตกแยก” ในสังคมไทย ผ่านแนวคิดทางสังคมวิทยา ว่า… สังคมไทยไม่มีทางเลี่ยงที่จะต้องหันกลับมายึดถือบรรทัดฐานหรือกติกาทางสังคมในการดำรงอยู่ร่วมกันให้ได้…  พร้อมเสนอทางออกจากความขัดแย้งแตกแยก หลักใหญ่ใจความมีว่า…

1.เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นอย่างเท่าเทียม เคารพความแตกต่างหลากหลาย คนอื่นที่แตกต่างจากเราก็มีความเป็นมนุษย์ไม่แตกต่างจากเรา ต้องละทิ้งการยึดถือตัวตนและมองเห็นถึงความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น… 2.อดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง โลกเสรีประชาธิปไตยเสรีภาพในการแสดงออกเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคล… แม้ไม่เห็นด้วยแต่ก็ต้องยอมรับในสิทธิการแสดงออกของผู้อื่น… ต้องเรียนรู้วุฒิภาวะในการรู้จักอดกลั้นในความแตกต่างจากสิ่งที่ตัวเองคุ้นชิน…

3.สร้างวัฒนธรรมการถกเถียงและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เปลี่ยนการมีทัศนคติเชิงลบต่อเรื่องนี้ ซึ่งยิ่งมีการถกเถียงวิจารณ์กันมาก ๆ ในประเด็นต่าง ๆ อย่างเสรี จะยิ่งทำให้มีการตรวจสอบ ใช้เหตุผลได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น… การถกเถียงอย่างเสรีที่ไม่นำสู่การละเมิดกฎเกณฑ์ร่วมของสังคมทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันได้มากขึ้น… 4.สร้างบรรทัดฐานในองค์กรทางสังคมที่สอดคล้องหลักการประชาธิปไตยในทุกระดับ สิ่งที่ทุกภาคส่วนควรยึดถือร่วมกันคือหลักการในการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาคเท่าเทียมและมีเสรีภาพ แม้มีความขัดแย้งไม่พอใจระหว่างกันแต่ต้องยอมรับหลักการไม่ทำลายระเบียบกติกาในการอยู่ร่วมกัน เรียนรู้ที่จะอดทนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามกติกาสังคมส่วนรวม

“อาจต้องอาศัยเวลาอีกยาวนานหลายปีถึงจะสามารถยุติปัญหาความขัดแย้งนี้ได้ แต่ก็ใช่ว่าจะไร้ความหวังไปเสียทีเดียว” …นี่เป็นอีกส่วนจากการระบุไว้ในการเสนอ “ทางออกจากปัญหาความขัดแย้งแตกแยกเพราะการเมือง”

“ที่สำคัญ” คือ “ผู้เกี่ยวข้องต้องคิดให้ได้”

จะ “ยังฉุดรั้งไทยด้วยความขัดแย้ง??”

จะ “แปรขัดแย้งเป็นพลังฟื้นไทย??”.