ตามกำหนดการวันที่ 13 ก.ค.นี้ เวลา 17.00 น. สมาชิกรัฐสภาทั้งส.ส.-ส.ว. รวมกัน 750 คน จะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก หลังจากมีการเลือกตั้งผ่านมาเกือบ 2 เดือน โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล จะได้รับเสียงโหวตผ่าน! หรือไม่ผ่าน! สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในเดือนก.ค.66 หรือจะลากยาวกันไปเรื่อยๆ หรือต้องเป็นขั้วการเมือง เปลี่ยนตัวแคนดิเดตนายกฯเพื่อโหวตกันใหม่

วันนี้เราไปฟังมุมมองนักวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์ คือ รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกี่ยวกับภาพรวมของเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งแรกปี 66 และบรรยากาศการค้า การลงทุนในช่วงที่กำลังรอรัฐบาลชุดใหม่

เศรษฐกิจยังไม่ดี-หนี้ครัวเรือน-หนี้เสียพุ่ง!

รศ.ดร.กิริยา กล่าวกับทีมข่าว Special Report ถึงภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.66) ว่ายังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จะคลี่คลายไปแล้ว ด้วยเหตุผลจากหลายปัจจัย เช่น เศรษฐกิจโลกไม่ดี ปัญหาการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังยืดเยื้อ ปัญหาการส่งออกของไทยติดลบมาตั้งแต่ปลายปี 65 (ต.ค.65-เม.ย.66) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7

ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90% ส่งผลโดยตรงต่อกำลังซื้อภายในประเทศ นอกจากตัวเลขหนี้สูงแล้ว ยังเป็นปัญหา “หนี้เสีย” ตามมาด้วย โดยเฉพาะหนี้ในกลุ่มเช่า-ซื้อรถยนต์ที่ชัดเจนมาก!

ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องยนต์ตัวสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 แต่ครึ่งปี 66 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เราคาดหวังกันไว้ยังมาไม่สุด! (13ล้านคน) จึงไม่ได้ฉุดเศรษฐกิจให้หวือหวาขึ้นมา

ช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.66 มีเม็ดเงินจากการเลือกตั้งเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่หลังการเลือกตั้งผ่านมาแล้วเกือบ 2 เดือน ตอนนี้เศรษฐกิจทั้งระบบ และนักลงทุนกำลังรอความแน่นอนทางการเมืองว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะจัดตั้งรัฐบาลได้หรือเปล่า ยืดเยื้อหรือไม่ และนโยบายของรัฐบาลใหม่จะมีผลต่อบรรยากาศการค้า การลงทุนหรือไม่

นักลงทุนรอดูนโยบายรัฐบาลใหม่

รศ.ดร.กิริยากล่าวต่อไปว่าถ้ามองกันในระยะสั้นๆ มี 3 ประเด็นที่น่าติดตามคือ 1.เมื่อยังไม่ได้รัฐบาล นักลงทุนจึงชะลอการลงทุนเอาไว้ก่อน เพื่อรอดูทิศทางของนโยบายว่าฝ่ายไหนจะมาบริหารประเทศ 2.จะมีความวุ่นวายเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะมีม็อบลงถนนอีกหรือไม่

3.ถ้าพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ถ้าดูจากนโยบายพรรคไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้หวือหวาขึ้นมาในชั่วพริบตา เพราะเป็นนโยบายที่เน้นการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเกลี่ยเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ ปรับความสมดุล ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เก็บภาษีนายทุนรายใหญ่ ทลายทุนผูกขาด พวกกลุ่มทุนเก่าๆ กลุ่มทุนพลังงาน คงจะไม่สุขสบายเหมือนช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา

“นโยบายทางเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยนั้นแตกต่างกัน ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย แต่พรรคก้าวไกลจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ จะปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 450 บาท/วัน ซึ่งนโยบายเรื่องค่าแรงขั้นต่ำมีด้วยกันทั้งสองพรรค แต่สภาพเศรษฐกิจแบบนี้ต้องคิดหนักว่าจะปรับขึ้นไปได้อย่างไร 450 บาท นายจ้าง-เอสเอ็มอีอาจสู้ไม่ไหว ส่วนลูกจ้างคงไม่เอาด้วย เพราะกลัวตกงาน”

โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองที่แข่งขันกันในเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากตรงนี้มีกลไกปกติอยู่แล้ว คือมี “ไตรภาคี” ประกอบด้วยนายจ้าง ลูกจ้าง ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้ทรงคุณวุฒิ มาประชุมหารือกัน โดยมีสูตรคิดเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำตามสภาพความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-ค่าครองชีพ

ยืดเยื้อไม่ดี-รัฐบาลใหม่เหนื่อย!เศรษฐกิจซึมอีก1-2ปี

ตนมองว่าช่วง 1-2 ปีนี้ ใครมาเป็นรัฐบาลก็เหนื่อย! เพราะยังมองไม่เห็นอนาคตของเศรษฐกิจที่จะสดใส เนื่องจากโอกาสและช่องทางมันตันไปหมด จากปัจจัยของเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว อัตราดอกเบี้ยสูง ขณะที่รัฐบาลไทยมีงบการลงทุนน้อย หนี้สาธารณะทะลุ 60% หนี้ครัวเรือนสูงมาก จึงกระตุ้นการบริโภคไม่ได้ ดังนั้นต้องเร่งรีไฟแนนซ์ เคลียร์หนี้นอกระบบ เอาเข้ามาในระบบ เพื่อช่วยแก้ปัญหาก่อนลุกลามบานปลายไปมากกว่านี้ ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆเข้ามา ดังนั้นภาพรวม “จีดีพี” ของไทยปี 66-67 น่าจะป้วนเปี้ยนอยู่ที่ 3-4% ส่วนกรณีพรรคเพื่อไทยมีเป้าหมายให้จีดีพีโตถึง 5% ตนมองว่าเป็นเรื่องยากมาก!

วันนี้คนไทยเฝ้ารอการจัดตั้งรัฐบาลว่าจะสำเร็จลุล่วงโดยเร็วหรือไม่ ทั้งโดยส่วนตัวและจากการพูดคุยกับนักวิชาการหลายคน มองว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะยืดเยื้อ! การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภาครั้งเดียวคงไม่ผ่าน! ถ้ายืดเยื้อเนิ่นนานไป ยิ่งไม่เป็นผลดีกับบรรยากาศการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การจับจ่ายใช้สอย จะลังเลกันหมด เพื่อรอดูหน้าตานายกฯ หน้าตาของพรรคร่วมรัฐบาล ว่าจะเป็นแบบไหน 1.พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ+พรรคเพื่อไทย 2.พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ+พรรคก้าวไกล(ขั้วเดิม) 3.พรรคเพื่อไทย+กลุ่มลุงป้อม ส่วนพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน หรืออาจจะมีขั้วการเมืองที่ 4 เพิ่มเข้ามาอีก

“ถ้าต้องโหวตหานายกฯกัน 3-4 ครั้งคงไม่ไหว! ถ้าแบบนี้กระทบความเชื่อมั่น การลงทุนชะลอหมด เพราะนักลงทุนกำลังรอความนิ่งทางการเมือง รอความชัดเจนเรื่องนโยบายของรัฐบาลใหม่ มีหลายคนพูดไปแล้วว่าถ้าอะไรๆยังไม่ชัดเจน ก็ต้องกำเงินสดเอาไว้ก่อน” รศ.ดร.กิริยา กล่าว.