อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าปฏิทินการเมืองจะเป็นเช่นไรต่อไป??-การเมืองพลิกผันหรือไม่พลิกผันอย่างไร?? กับประเด็น “ความขัดแย้งเพราะการเมือง” ก็เป็นเรื่องที่ หลายฝ่ายยัง “เป็นกังวล” ไม่น้อย!! ทั้งในเชิงสังคม…เกี่ยวกับความไม่สงบ และในเชิงเศรษฐกิจ…เกี่ยวกับความเป็นอุปสรรคในการฟื้นฟูเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ-ภาคธุรกิจ-ความเป็นอยู่ประชาชน โดยเฉพาะหาก “ขัดแย้งแรงระส่ำบนท้องถนน!!” เช่นในอดีต…

“ขัดแย้งเพราะการเมือง” นี่ “ไทยย่ำแย่”

ในช่วง 10 กว่าปี “ฉุดรั้งเรื่องดีมากมาย”

การ “ห่วงกังวลขัดแย้ง” จึง “ฝังใจไทย”

ทั้งนี้ วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ขอสะท้อนย้ำข้อมูลที่ “น่าพิจารณา” เพิ่มเติมจากที่ได้เคยสะท้อนไว้แล้วบางส่วน จากชุดข้อมูลบทความวิชาการ“ความขัดแย้งแตกแยกในสังคมไทยจากมุมมองทางสังคมวิทยา” ที่จัดทำไว้โดย อ.คมลักษณ์ ไชยยะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเนื้อหาบางช่วงบางตอนนั้นมีว่า…

เมื่อสังคมการเมืองไทยเกิดวิกฤติอีกครั้งจากเหตุการณ์การรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 กฎหมายรัฐธรรมนูญที่ถือเป็นกติกาหลักของสังคมถูกละเมิด เกิดการยกเลิกกระบวนการทางกฎหมายและรัฐสภา สภาวะสั่นคลอนของระบอบประชาธิปไตย ดังกล่าวจึง เป็นจุดแตกร้าวที่ขยายวงนำไปสู่ความขัดแย้งเหนือขอบเขตที่ระบบกลไกสังคมจะควบคุมได้ ผลสะท้อนของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้ส่งผลสะท้อนกลับไปยังระบบสังคมอื่น ๆ ด้วยทุกระดับในโครงสร้างสังคมไทย และกระจัดกระจายมากกว่าความขัดแย้งในรูปแบบอื่น ๆ ทั้งในครอบครัว ชุมชน ที่ทำงาน หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ เกิดความขัดแย้งเพราะความคิดเห็นไม่ตรงกันภายใต้อุดมการณ์ทางการเมืองของแต่ละกลุ่ม…

เมื่อกติกาของสังคมที่เคยยึดถือเป็นหนึ่งเดียวกันถูกทำลายความชอบธรรมลงไป รวมไปถึงการควบคุมที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ก็ย่อมทำให้การกระทบกระทั่งใช้ความรุนแรงทางตรงระหว่างกันเกิดขึ้นได้ง่าย…

ในชุดข้อมูลบทความวิชาการดังกล่าวมีการระบุไว้อีกว่า… ในโลกสมัยใหม่ที่มนุษย์อาศัยหลักเสรีประชาธิปไตยเป็นบรรทัดฐานในการดำรงอยู่ร่วมกัน การออกมาแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะในประเด็นต่าง ๆ ที่คนจำนวนมากมีความเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยมีสิทธิ์มีเสียงสามารถพูดแสดงออกได้มากขึ้น ก็ย่อมมีประเด็นเพิ่มขึ้นเป็นปกติ อาจเรียกได้ว่าเป็นลักษณะของ การเมืองอัตลักษณ์ หรือเป็น ขบวนการทางการเมืองรูปแบบใหม่ (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร : 2545)

ในสังคมโลกาภิวัตน์ การที่ผู้คนตั้งแต่ระดับชุมชนท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติเข้าไปเกี่ยวข้องส่งผลกระทบระหว่างกัน ก็ยิ่งมีมากตามไปด้วย ความขัดแย้งในการเมืองอัตลักษณ์นี้จึงมีลักษณะกระจัดกระจายวงกว้าง หากแต่มันก็ยังคงเป็นความขัดแย้งที่ดำเนินไปภายใต้กรอบกติกาประชาธิปไตยที่รองรับด้วยหลักสิทธิเสรีภาพเป็นพื้นฐานทั้งสิ้น แต่… ความขัดแย้งที่จะสามารถ ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมากของสังคม ได้ ย่อมเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับคนจำนวนมหาศาล หรือเป็นความขัดแย้งที่เกี่ยวพันกับโครงสร้างทางสังคมที่เชื่อมโยงสมาชิกทั้งสังคมเอาไว้ ซึ่ง ส่วนใหญ่ก็มักจะเกี่ยวพันกับการเมืองแบบเก่าที่แย่งชิงอำนาจรัฐ นั่นเองเนื่องจากรัฐเป็นองค์กรทางการเมืองที่ควบคุมอำนาจและทรัพยากรส่วนรวมของสังคมไว้ และยังควบคุมกลไกการใช้อำนาจความรุนแรงเอาไว้ในมือด้วย เช่น กองทัพ, ตำรวจ, คุก และหน่วยงานความมั่นคงต่าง ๆ…

ความขัดแย้งที่นำสู่ความแตกแยกทางสังคมที่สร้างรอยร้าวลึกในวงกว้างของผู้คนทั้งประเทศ จึงมักปรากฏในความขัดแย้งที่เกี่ยวพันกับมิติทางการเมืองแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะดูจากตัวอย่างสังคมในอดีต หรือในปัจจุบัน…

อย่างไรก็ตาม ในชุดข้อมูลวิชาการ“ความขัดแย้งแตกแยกในสังคมไทยจากมุมมองทางสังคมวิทยา” ที่จัดทำโดย อ.คมลักษณ์ ไชยยะ เพื่อเสนอทางออกจากปัญหาความขัดแย้งแตกแยกในสังคมไทย ผ่านแนวคิดพื้นฐานทางสังคมวิทยา ยังมีส่วนที่ระบุไว้ว่า… ความขัดแย้งจะก่อผลกระทบต่อผู้คนได้มากมายแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณการขยายวงที่เกี่ยวพันกับระดับของกลุ่มทางสังคมต่าง ๆ… และนอกจากนี้ในบทความก็มีส่วนที่ระบุถึง “ความขัดแย้ง” กรณี การชุมนุมประท้วง เรียกร้องต่าง ๆ ไว้ว่า… เป็นสภาพปกติของสังคมประชาธิปไตย ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายน่าวิตกแต่อย่างใด…ตราบใดที่ความขัดแย้งหรือการเคลื่อนไหวดังกล่าวอยู่ภายใต้ขอบเขตบรรทัดฐานที่สังคมกำหนด (ในที่นี้ก็คือกฎหมาย) ความขัดแย้งที่ดำเนินไปตามกรอบกติกาตามกฎหมาย สังคมยังทำงานได้ปกติ ไม่ถือว่าเป็นปัญหาความแตกแยกทางสังคม…

ทั้งนี้ “ประเด็นที่ยิ่งน่าพิจารณา” ที่งานวิชาการชิ้นดังกล่าวนี้ได้สะท้อนไว้ก็คือ… ภายในโครงสร้างสังคม ที่กลุ่มสังคมระดับต่าง ๆ ถูกยึดโยงเข้าไว้ด้วยกัน ก็ล้วนแต่มีความขัดแย้งดำรงอยู่ทั้งสิ้น ในบางครั้ง การมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในกลุ่มสังคมบางระดับ ก็อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์เป็นคุณประโยชน์แก่สังคมโดยรวมได้เช่นกัน ตราบที่ความขัดแย้งถูกจำกัดขอบเขตให้อยู่ภายใต้กฎระเบียบที่สังคมกำหนด ความขัดแย้งจึงไม่ใช่ปัญหาในตัวของมันเอง เพียงแต่…

“ความขัดแย้ง” อาจจะ “นำไปสู่ปัญหา”

พลังทำลาย “ต้องแปรเป็นสร้างสรรค์”

ก็ “มีวิธีทำได้”…ตอนหน้ามาดูกัน…