เมื่อเวลา 17.29 น.วันที่ 10 ก.ค.2566 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดนิทรรศการ “ศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 12” และพระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดผลงานศิลปกรรม ในหัวข้อ “รักโลก” ณ ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร, นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), นายนิติกร กรัยวิเชียร ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), คณะกรรมการโครงการ และผู้แทนมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เฝ้าฯ รับเสด็จ
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กราบบังคมทูลถวายรายงานความว่า ด้วยความตั้งใจที่จะส่งเสริมและสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ที่มีความสามารถทางศิลปะ ในแนวทางเหมือนจริง (Realistic) และศิลปะรูปลักษณ์ (Figurative Art) เป็นอีกเวทีได้แสดงทักษะฝีมือการสร้างสรรค์อันโดดเด่นสู่สายตาสาธารณชน ทางบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จึงได้ริเริ่มศิลปกรรมช้างเผือกเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2554 เพื่อสร้างโอกาสและกำลังใจให้ศิลปินที่ทำงานในแนวทางนี้ก้าวไปข้างหน้าอย่างสง่างาม
ในปี 2566 นับเป็นการจัดครั้งที่ 12 แล้ว กำหนดหัวข้อในการประกวดว่า “รักโลก” เพื่อให้ศิลปินนำแรงบันดาลใจจากแนวคิดการตระหนักให้ความสำคัญที่ประชากรทุกคนมีความรับผิดชอบร่วมกัน ต่อการเอาใจใส่ต่อสังคม และสภาพแวดล้อมให้เป็นสังคมที่ดีงาม อันส่งผลรวมถึงภาพรวมของโลกอย่างยั่งยืน นำไปสร้างสรรค์ผลงานตามความถนัดของตน ปรากฏว่า มีศิลปินที่ทำงานศิลปะและจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และสื่อผสม เข้ารวมประกวดมาถึง 270 คน จำนวนผลงานรวม 327 ชิ้น ผลงานแต่ละชิ้น แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ สมดังใจเจตนาของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ทุกประการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เผย
ภาพวาดฝีพระหัตถ์
“โอกาสนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ซึ่งชื่นชอบศิลปะแนวเสมือนจริงเป็นชีวิตจิตใจ และเป็นแรงบันดาลใจให้การสนับสนุนกับโครงการศิลปกรรมช้างเผือกอย่างแข็งขันตั้งแต่แรกเริ่ม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จึงได้จัดตั้งรางวัล “คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี” เป็นรางวัลพิเศษขึ้น โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารางวัลนี้เป็นเครื่องเติมเต็มพลังใจให้ศิลปินรุ่นใหม่ที่รักและตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานในแนวทางนี้เพิ่มขึ้นอีกรางวัลหนึ่ง การจัดแสดงนิทรรศการครั้งนี้ ประกอบด้วย ผลงานที่ได้รับรางวัล จำนวน 21 ชิ้น และผลงานที่ได้รับรางวัลและร่วมแสดง จำนวน 36 ชิ้น รวมทั้งหมด 57 ชิ้น” นายฐาปนกล่าว
สำหรับงานศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 12 ผลงานที่ได้รับรางวัลช้างเผือก ได้แก่ “หนึ่งเดียวกัน” ของ จรัญ พานอ่อนตา รับเงินรางวัล 1 ล้านบาท รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ “ลูกรักโลก” ของ บุญมี แสงขำ รับเงินรางวัล 5 แสนบาท, รางวัลคุณหญิงวรรณา ได้แก่ “โลกคือความหลากหลาย” ของ สุรพันธ์ ขวัญแสนสุข รับเงินรางวัล 4 แสนบาท รางวัลซีอีโอ อวอร์ด ได้แก่ “ด้วยมือเรา” ของ นารา วิบูลย์สันติพงศ์ รับเงินรางวัล 2.5 แสนบาท นอกจากนี้ยังมีรางวัลรองชนะเลิศ 5 รางวัล รางวัลละ 2 แสนบาท ประกอบด้วย พิพัฒน์ จันทร์ทิพย์, เพชราพร โสภาพ, ลดากร พวงบุบผา, วีระพงศ์ แสนสมพร, อนันต์ยศ จันทร์นวล และรางวัลชมเชยอีก 12 รางวัล รางวัลละ 1 แสนบาท
จรัญ พานอ่อนตา ผู้ชนะรางวัลช้างเผือก
ผลงานชื่อ “หนึ่งเดียวกัน”
จรัญ พานอ่อนตา ผู้ชนะรางวัลช้างเผือก ครั้งที่ 12 ภายใต้ผลงานชื่อ “หนึ่งเดียวกัน” เผยว่า “รู้สึกดีใจและเป็นเกียรติมากๆ ครับ ที่ได้รับรางวัลนี้ถือว่าเป็นเวทีใหญ่ที่สุดในประเทศ สำหรับแนวความคิดของผลงานหนึ่งเดียวกัน ที่สื่อออกมาคือโลกเกิดจากสิ่งว่างเปล่า เกิดจากสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่าอนุภาคมารวมกันและเป็นจักรวาล เมื่อถึงเวลาก็จะแตกสลายไป กลายเป็นที่ว่างอีกครั้ง ภาพตรงกลางจะมีลิงที่มีตัวเป็นคนบอกเล่าถึงจิตที่เป็นวานร ไม่อยู่นิ่ง ซัดส่ายไปมา ซึ่งก็หมายถึงคน ภายในภาพจะมีพวกภาพสัตว์ต่าง ๆ เช่น วาฬ ลิง ช้าง นก แมวซึ่งอยู่ร่วมกันและเป็นหนึ่งเดียว ใช้เทคนิคแนวร่วมสมัย งานใช้สีอะครีลิคบนผ้าใบ”
บุญมี แสงขำ
ผลงานชื่อ “ลูกรักโลก”
ด้าน บุญมี แสงขำ ผู้ชนะรางวัลชนะเลิศ ครั้งที่ 12 ภายใต้ผลงานชื่อ “ลูกรักโลก” เผยว่า “ ผลงานลูกรักโลก ในส่วนของการตีความ เราพยายามดูแลธรรมชาติให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เราจึงเกิดไอเดียว่าเราควรจะสอนลูก ให้ลูกรู้จักคำว่ารักโลกให้เขาได้เห็นคุณค่าของธรรมชาติและพยายามฟูมฟักให้รักธรรมชาติครับ รูปแบบชิ้นงานนี้เป็นเทคนิคภาพพิมพ์ เมซโซทินท์ซึ่งงานมีความละเอียดค่อนข้างสูง แต่ผลงานที่ผมทำค่อนข้างใหญ่ เป็นผลงานชิ้นแรกในชีวิตที่ผลิตใหญ่ขนาดนี้ โดยผมใช้เวลาทำเป็นระยะเวลา 1 ปี
สุรพันธ์ ขวัญแสนสุข
ผลงานชื่อ “โลกคือความหลากหลาย”
ขณะเดียวกัน สุรพันธ์ ขวัญแสนสุข ผู้ชนะรางวัลคุณหญิงวรรณา ครั้งที่ 12 ภายใต้ผลงานชื่อ “โลกคือความหลากหลาย” เผยความรู้สึกว่า รู้สึกดีใจมากจะนำเงินรางวัลนี้ไปต่อยอดในการทำงานศิลปะต่อไป สำหรับหัวข้อรักโลกในปีนี้ ตีความว่าโลกคือความหลากหลาย มีสิ่งมีชีวิตจำนวนมากและทุกสิ่งทุกอย่างมันเชื่อมโยงกัน รูปทรงฟิกเกอร์มันจะไม่ได้เขียนแบบ realistic เพียงแต่อาศัยโครงสร้างความเป็นจริงเข้ามาทำงาน สังเกตว่าในรายละเอียดงานของผม ในรูปทรงต่างๆ จะเป็นรูปทรงของพืช ดอกไม้ ใบไม้กระจายอยู่ทั่ว ทุกรูปทรงมีที่มาความสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันโดยธรรมชาติเป็นหลักครับ ใช้เทคนิคการระบายสีอะครีลิคลงบนกระดานพลาสวูดที่มันไหลซึมเข้าหากัน หน่วยเล็ก ๆ อย่างเม็ดสี มันจะเชื่อมโยงกระจายไปทั่วทั้งภาพ ทำให้เกิดเอกภาพภายในงาน
นารา วิบูลย์สันติพงศ์
“ด้วยมือเรา”
ปิดท้ายด้วยงานสื่อผสมของ นารา วิบูลย์สันติพงศ์ ผู้ชนะรางวัลซีอีโอ อวอร์ด ครั้งที่ 12 ภายใต้ผลงานชื่อ “ด้วยมือเรา” เผยความรู้สึกว่า “รู้สึกดีใจมากๆ ที่ได้รับรางวัลนี้ค่ะ เพราะคือการเปิดโอกาสให้ชิ้นงานนี้ได้แสดงในหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ทำให้คนได้เห็นผลงานมากขึ้น สำหรับชิ้นงาน ด้วยมือเราความหมายคือพวกเราทุกคนมีความสำคัญเพราะมือของเราสามารถทั้งสร้างและทำลายโลกของเราได้ เป็นชิ้นงานศิลปะสื่อผสม โดยใช้วัสดุหลากหลายชนิดผสมใน 1 ชิ้นงาน ทั้งพวกดินชนิดต่าง ๆ เรซิ่น เหล็ก และสีหลายอย่าง เลยเรียกว่าสื่อผสมเป็นรูปแบบชิ้นงานประติมากรรม ที่สื่อให้เห็นถึงโลกของเราที่มีความสวยงาม อยากให้คนตระหนักว่าโลกของเราสำคัญต่อมนุษย์มากและช่วยกันรักษาโลกใบนี้ไว้
ทั้งนี้ นิทรรศการ “ศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 12” ภายใต้หัวข้อ “รักโลก”จะเปิดให้ประชาชนเข้าชม ตั้งแต่วันนี้ – 20 ก.ค. 2566 (หยุดทุกวันจันทร์) เวลา 10.00-19.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ณ ห้องนิทรรศการ ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร.