ธนาคารกลางศรีลังกาคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของประเทศจะกลับมาอยู่บนเส้นทางของการเติบโตอีกครั้งในปีนี้ หลังถดถอยติดต่อกัน 6 ไตรมาส ด้วยอานิสงส์จากการส่งเงินกลับภูมิลำเนาของแรงงานศรีลังกาในต่างแดน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเยือนศรีลังกาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลังผ่านพ้นการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 และซ้ำเติมด้วยผลกระทบจากการสู้รบยืดเยื้อระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งทำให้ศรีลังกาเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร เมื่อปี 2491
แม้ธนาคารกลางศรีลังกาประกาศเมื่อช่วงต้นเดือนนี้ ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 2% มาอยู่ที่ 12% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากลดลง 2% เช่นกัน ลงมาอยู่ที่ 11% หลังอัตราเงินเฟ้อลดลงจาก 25.2% เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา และที่เคยสูงเป็นสถิติ 69.8% เมื่อเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว เหลือเพียง 12% เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน รัฐบาลศรีลังกาดำเนินการตามเงื่อนไขเพิ่มเติมกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( ไอเอ็มเอฟ ) เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้มูลค่า 42,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 1.47 ล้านล้านบาท ) ซึ่งรวมถึงการปิดธนาคารทุกแห่งทั่วประเทศ เป็นเวลา 5 วันทำการ
ทั้งนี้ ศรีลังการับสินเชื่อมูลค่า 330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 11,566.50 ล้านบาท ) จากไอเอ็มเอฟ เมื่อเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา เงินกู้ดังกล่าวเป็นงวดแรกจากวงเงินเกือบ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 105,150 ล้านบาท ) ที่ไอเอ็มเอฟอนุมัติให้แก่ศรีลังกา ในเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา และเป็นครั้งที่ 19 แล้ว ซึ่งศรีลังกาขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากไอเอ็มเอฟ นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามกลางเมือง เมื่อปี 2552
อย่างไรก็ตาม ไอเอ็มเอฟมีเงื่อนไขว่า การขอเบิกจ่ายเพื่อรับเงินช่วยเหลืองวดต่อไปนับจากนี้ จะขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของศรีลังกาทุก 6 เดือน
ขณะเดียวกัน ไอเอ็มเอฟ คาดหวังว่า การอนุมัติสินเชื่อให้แก่ศรีลังกาในครั้งนี้ จะเป็นตัวเร่งและสร้างความเชื่อมั่นให้กับองค์กรแห่งอื่น ในการมอบความสนับสนุนทางเศรษฐกิจให้กับศรีลังกา ไม่ว่าจะเป็นธนาคารโลก ( เวิลด์แบงก์ ) และธนาคารพัฒนาเอเชีย ( เอดีบี ) ตลอดจนรัฐบาลของอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ซึ่งถือเป็น “เจ้าหนี้รายใหญ่ระดับรัฐต่อรัฐ” กับศรีลังกา
อนึ่ง การอนุมัติสินเชื่อของไอเอ็มเอฟให้แก่ศรีลังกา เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขหลายประการ ซึ่งรวมถึงการต้องแก้ปัญหาหนี้ในระยะยาว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ให้มีต่อ “ความยั่งยืนของหนี้” ของศรีลังกา หมายความถึงความสามารถในการชำระคืนภายในกำหนด และการลดช่องว่างทางการเงิน เพื่อให้การบริหารความเสี่ยงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ในภาพรวมยังถือว่า สถานการณ์ของศรีลังกานับตั้งแต่ผ่านพ้นยุคของประธานาธิบดีโกตาพญา ราชปักษา มาถึงประธานาธิบดีรานิล วิกรมสิงเห ผู้นำคนปัจจุบัน ยังไม่สู้ดีนัก แม้ความสงบมีมากขึ้น แต่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่จำเป็นยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบอย่างหนัก ต่อประชาชนกลุ่มรากหญ้า ซึ่งมีสัดส่วน 25% ของประชากรทั้งประเทศ เมื่อปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเมื่อเทียบกับปี 2564 และอาจเพิ่มขึ้นอีกเป็น 27.4% ในปีนี้ ตามรายงานของเวิลด์แบงก์
รัฐบาลศรีลังกาชุดปัจจุบันของวิกรมสิงเหกำหนดเป้าหมาย เจรจาเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้กับบรรดาเจ้าหนี้ให้เสร็จสิ้น ภายในเดือนก.ย. ที่จะถึง ซึ่งหากประสบความสำเร็จ จะเป็นการช่วยฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศขึ้นอีกระดับหนึ่ง เพื่อการรับความช่วยเหลือทางการเงินงวดต่อไปจากไอเอ็มเอฟ
ทว่าจีนซึ่งเป็นประเทศเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของศรีลังกา ยังคงปฏิเสธเข้าร่วมกรอบการเจรจาระดับนานาชาติ เพื่อการฟื้นฟูหนี้สินของศรีลังกา ซึ่งการส่งออกสินค้าหลายประเภทยังไม่กระเตื้องเท่าที่ควร ทำให้ภาคอุตสาหกรรมประเมินทิศทางเศรษฐกิจปีนี้ สวนทางกับคาดการณ์ของธนาคารกลาง
หอการค้าซีลอน ซึ่งเป็นล็อบบี้ยิสต์ทางธุรกิจขนาดใหญ่ที่สุดของศรีลังกา ให้ความเห็นว่า ความช่วยเหลือทางการเงินของไอเอ็มเอฟ เป็นเพียงการ “ต่อลมหายใจระยะสั้น” หรือ “ไม่เกิน 1-2 ปี” หลังจากนั้น ทุกภาคส่วนในศรีลังกาต้องร่วมกันยกระดับการปฏิรูปที่ดิน แรงงาน และรัฐวิสาหกิจทุกแห่งของรัฐที่ประสบกับภาวะขาดทุนมาตลอด.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES, AFP