ซึ่งปัจจุบันรายงานจาก World Economic Forum คาดว่า ตำแหน่งนี้จะเป็นตำแหน่งงานที่มาแรงระดับ Top5 ของการจ้างงานในอนาคต ที่ใครไม่รู้ไม่ได้ ซึ่งในตอนนั้นผมกับเพื่อน ๆ ที่ทำงานบริษัทชั้นนำในตลาดหลักทรัพย์ จึงช่วยกันก่อตั้ง SET CSR Club ขึ้นมาเพื่อสร้างความตระหนักรู้  และเพื่อส่งสัญญาณเรื่องความสำคัญของความร่วมมือกันเพื่อสร้างความยั่งยืนให้โลกใบนี้ จนขยายผลไปอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา ทำให้ในตอนนั้นจะมีนักข่าวมาสัมภาษณ์ผมบ่อย ๆ จนเขาให้ฉายาผมว่า CSR Man และคำถามที่ถูกถามเสมอคือ คนที่ทำงานสายความยั่งยืนนั้นจะต้องเรียนจบอะไรมา? ทำให้ทุกครั้งที่ถูกถาม ผมจะมองไปรอบ ๆ ว่า เพื่อน ๆ ในวงการ CSR และความยั่งยืนส่วนใหญ่เรียนจบมาทางไหน เพราะตอนนั้นยังไม่มีที่ใดสอนเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ

เพื่อน ๆ กลุ่มหนึ่งจบสายวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เพราะต้องดูแลเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ของโรงงานขององค์กร อีกกลุ่มหนึ่งจบสายสังคม ซึ่งทำงานสาย NGO เกี่ยวกับการพัฒนาสังคม และอีกกลุ่มหนึ่งเรียนจบสายนิเทศศาสตร์ โดยทำงานด้านสื่อสารองค์กร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สำหรับในส่วนของผมอาจจะประหลาดไม่ค่อยเข้าพวก คือ เรียนจบสถาปัตยกรรม ซึ่งที่จริงก็มีสถาปนิกหลายคนที่ขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืน ข้อดีคือพวกเขาถูกฝึกฝนให้มองภาพองค์รวมเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกัน มีความคิดเชิงวิพากษ์ Critical Thinking มีความคิดเชิงออกแบบ Design Thinking มีจินตนาการฉากทัศน์อนาคต มีตรรกะที่สามารถออกแบบการจัดการความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ ที่สำคัญมีสุนทรีย์และมีสไตล์ ทั้งนี้ การเรียนของสถาปนิกสมัยนั้น ได้เปรียบกว่าสาขาอื่น เพราะส่วนใหญ่เป็นแบบ Project Base ที่ใช้โจทย์จริงจากโครงการเล็ก ๆ แล้วค่อย ๆ ขยายเป็นโครงการใหญ่ และต้องออกไปคุยกับชุมชนกับผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ รวมถึงต้องค้นหาเทคโนโลยี และต้องใช้การคิดเชิงวิเคราะห์ที่ซับซ้อน ต้องออกแบบโดยใช้ขบวนการ Design Thinking ที่ลึกซึ้งกว่าที่เราสอน Startup ในปัจจุบัน ที่สำคัญต้องมีทักษะ Present หรือปัจจุบันเราเรียกว่า Pitching

ทั้งนี้ ก่อนมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน ผมเคยเป็นสถาปนิกมาก่อน และโชคดีที่มีโอกาสทำงานกับบริษัทที่มี DNA ด้านความยั่งยืนที่มาก่อนกาล โดยผมเริ่มงานที่บริษัทไทยยิบซั่ม ตอนนั้นเรามีทีมสถาปนิกหัวก้าวหน้า ที่มีความคิดว่าสถาปัตยกรรมในอนาคต ต้องอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน ต้องเป็นอาคารรักษ์โลก และการก่อสร้างต้องสร้างผลกระทบต่อโลกในมิติต่างให้น้อยที่สุด เราจึงช่วยกันรวบรวมความรู้ และจัดทำเป็น หนังสือคู่มือการออกแบบอาคารยั่งยืนในเขตร้อน ที่มาจากประสบการณ์จริงโดยใช้งานออกแบบของบริษัทเป็นต้นแบบ อีกทั้งเรามีโครงการวิจัยพัฒนางานสถาปัตยกรรมรักษ์โลกร่วมกับสถาปนิกและนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังทั่วโลก อาทิ โครงการบ้านประหยัดพลังงานแบบโมดูล่าที่มีผนังและหลังคาเป็นฉนวนกันความร้อนเทคโนโลยีอวกาศ ทำให้เย็นจนแทบไม่ต้องใช้แอร์ ด้วยหลักการเดียวกับตู้เย็นที่มีแผงโซลาร์เซลล์ และแบตเตอรี่ ปัจจุบันคงเรียกว่าบ้าน Net Zero โดยเราขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้เป็นหลังแรก แม้ตอนนั้นการไฟฟ้ายังสนับสนุนค่า adder ให้ราคาซื้อสูงกว่าราคาขายด้วย จนทำให้เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์บูมขึ้นอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้เราได้ส่งออกนวัตกรรมบ้านโมดูลาร์ไปช่วยชาวญี่ปุ่น เมื่อตอนเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เมืองโกเบปี 2538 อีกด้วย โดยภายในบ้านมีนวัตกรรมใหม่ ๆ มากมาย เช่น การสั่งงานระบบอัจฉริยะจากโทรศัพท์ ซึ่งตอนนั้นยังเป็นมือถือทรงกระติกน้ำ, การนำน้ำ recycle จากห้องน้ำมาใช้ใหม่ ด้วยเทคโนโลยี Water Purity, การออกแบบระบบ Heat Engine ที่นำความแตกต่างจากความร้อนบนหลังคากับความเย็นใต้ดินมาสร้างกระแสไฟฟ้า, การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าต้นแบบ, การขนส่งแบบรางและท่อจรวดความเร็วสูง เป็นต้น อีกทั้งสถาปนิกรักษ์โลกกลุ่มนี้ ยังได้ทดลองออกแบบอาคารสูงประหยัดพลังงานหลังแรกที่อาคาร Gypsum Metropolitan ถนนศรีอยุธยา ซึ่งถือเป็นต้นแบบการก่อสร้างอาคารยั่งยืน และน่าจะเป็นอาคารสูงหลังแรก ๆ ที่ออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์ โดยสามารถลดค่าการใช้พลังงานด้วยนวัตกรรมผนังกันความร้อน กับมีการก่อสร้างแบบ Prefab ที่โรงงาน เพื่อใช้วัสดุอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดเศษวัสดุเหลือทิ้ง รวมถึงมีการคำนวณเรื่องการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ การก่อสร้างก็ใช้คนน้อย จนอาคารประหยัดพลังงาน 24 ชั้นนี้แทบจะสร้างเสร็จได้ภายใน 1 ปี และเมื่อเสร็จแล้ว ยังสามารถประหยัดพลังงานได้มากกว่าอาคารแบบเดิมหลายเท่า ซึ่งความคิดเหล่านี้น่าจะมาก่อนกาลกว่า 20 ปี และมาก่อนที่จะมีมาตรฐานอาคารเขียว LEED เสียอีก

จากเรื่องเล่านี้ ทำให้ผมคิดถึงคำกล่าวของ มหาตมะ คานธี ที่ว่า “Be the Change you wish to see in the World – จงเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตทีเราอยากเห็น ด้วยมือของเราเอง อย่าให้ใครมากำหนด” อย่างไรก็ตามน่าเสียดายที่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้โครงการนวัตกรรมเปลี่ยนโลกเหล่านี้ถูกปิดตัวลง ไม่อย่างนั้นวันนี้เราอาจจะเห็น Elon Musk เมืองไทย ที่เป็นผู้นำนวัตกรรมความยั่งยืนของโลกก็เป็นได้ และที่เล่ามายาวขนาดนี้ เพื่อที่จะบอกว่า สถาปนิกก็ทำงานด้านความยั่งยืนได้ดีไม่แพ้ใคร วันนี้จึงเห็นน้อง ๆ สถาปนิกรุ่นใหม่จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีโอกาสเรียนรู้เรื่องการออกแบบที่ยั่งยืน และมีบทบาทมากขึ้นในการเปลี่ยนแปลงการออกแบบบ้าน อาคารภูมิสถาปัตย์ ผังเมือง การออกแบบความยั่งยืนของอนาคต รวมถึงเห็นผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนรุ่นใหม่มาจากชาวสถาปัตย์มากขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่า อนาคตที่ยั่งยืนต้องเริ่มต้นที่การออกแบบ

ทั้งนี้ เมื่อกลับไปถามว่าปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยใดบ้างสอนเรื่อง CSR และการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ ผมเข้าใจว่า มีอยู่หลายแห่งกับหลายหลักสูตร และที่ผมมีส่วนในการร่วมก่อตั้งก็คือ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ของธรรมศาสตร์ ที่ตั้งใจเป็นแหล่งพัฒนานัก CSR ให้กับองค์กรต่าง ๆ ที่กำลังขาดแคลน และที่ วิทยาลัยโลกคดีศึกษา (School of Global Studies) ก็ยังสอนให้นักศึกษาเป็นประชากรโลกในศตวรรษที่ 21 ที่ต้องรู้เรื่องความยั่งยืน และ SDG ซึ่งเมื่อเรียนจบ สามารถไปทำงานกับองค์กรที่ยั่งยืนได้ทั่วโลก นอกจากนั้น ที่ศศินทร์ก็มีหลักสูตรเข้มข้นเรื่องผู้ประกอบการและการพัฒนาที่ยั่งยืนเพราะมีประสบการณ์ยาวนานระดับนานาชาติ จึงสร้างนักบริหารและผู้ประกอบการที่มีหัวใจแห่งความยั่งยืนอยู่ทั่วโลก กับที่วิทยาลัยการจัดการของมหาวิทยาลัยมหิดล ก็มีหลักสูตรด้านการจัดการและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีความพอเพียงเป็น DNA ส่วนที่มหาวิทยาลัยรังสิต ก็มีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ที่ช่วยสร้างนักเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมรุ่นใหม่ และเร็ว ๆ นี้เองที่นิด้า ก็มีการเปิดหลักสูตรนิเทศศาสตร์และนวัตกรรม ควบการจัดการความยั่งยืนอีกด้วย โดยเชื่อว่าน่าจะมีมากกว่านี้อีกหลายมหาวิทยาลัย ซึ่งใครที่สนใจก็ลองติดต่อสอบถามมหาวิทยาลัยใกล้ ๆ บ้านดูนะครับ เพราะยุคนี้นั้น หากใครที่ไม่รู้เรื่องความยั่งยืน เมื่อไปสมัครงานก็อาจจะไม่มีใครรับเข้าทำงานก็เป็นได้ จึงเป็นที่มาคำถามสำคัญที่ว่า…ตอนนี้เราถึงเวลาที่จะ Reskill และ Upskill ด้านความยั่งยืนกันหรือยัง.