สูตรการจัดตั้งรัฐบาล 14+1 ระหว่าง 2 พรรคใหญ่ “ก้าวไกล-เพื่อไทย” แม้ยังไม่มีจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จลุล่วง ยังไม่ได้แบ่งกระทรวงกันรับผิดชอบอย่างเป็นทางการ แต่มีกระแสว่าพรรคเพื่อไทยอาจได้กำกับดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ดังนั้นช่วงนี้จึงเห็นนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ​​รองประธานกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย นายชัย วัชรงค์ นักวิชาการเกษตรสมัยใหม่ ในฐานะคณะกรรมการทางด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย หรือแม้แต่นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลงพื้นที่หลายจังหวัดในภาคกลาง ภาคอีสาน เพื่อปฏิบัติภารกิจน้ำไม่ท่วม-ไม่แล้ง แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักวิชาการด้านการบริหารจัดการน้ำ พร้อมสร้างศูนย์เรียนรู้ธนาคารน้ำใต้ดินในระบบเปิด

หลังสุดคือการไปดูศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตร (ศพก.) อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ พร้อมกับเยี่ยมชมกิจการของเกษตรกรหลายครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ ภายหลังการจับมือกับบริษัทเอกชนชื่อดังที่มีความก้าวหน้าในภาคการเกษตร “คอนแทรค ฟาร์มมิ่ง” ทั้งการปลูกข้าวอาหารคน-ข้าวอาหารสัตว์ และข้าวโพดอาหารสัตว์ ในพื้นที่ ต.บึงสามัคคี อ.บึงสามัคคี จ.กำแพงเพชร

ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนกับเกษตรกรตัวจริง

นายกิตติรัตน์กล่าวกับทีมงาน “Special Report” ว่าพรรคเพื่อไทยมีทีมงานที่มีความรู้ มีประสบการณ์ทางด้านการเกษตรหลายคน ดังนั้นช่วงนี้จึงพยายามลงพื้นที่หลายจังหวัด เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักวิชาการ ข้าราชการ และประชาชน เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากปีนี้น่าห่วงว่าประเทศไทยจะประสบภัยแล้งจากปัญหาเอลนีโญ

นอกจากนี้ยังไปดูรูปแบบในการรวมกลุ่มของเกษตกรที่ประสบความสำเร็จในการปลูกพืชชนิดต่างๆ มาดูพื้นที่เพื่อให้เห็นของจริง และพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเกษตรกรตัวจริง เพื่อทราบปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ต้นทุนการผลิต แหล่งทุน แหล่งน้ำ ตลาด และสิ่งที่ตนให้ความสนใจและพยายามถ่ายทอดไปยังเกษตรกรคือเรื่องการใช้ “จุลินทรีย์” ในการย่อยสลายตอซังข้าว-ข้าวโพด เพื่อลดการเผา ลดปัญหา PM2.5 และลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลงด้วย

เกษตรกรดั่งเดิมต้องจับมือกับเกษตรก้าวหน้า

ทางด้านนายชัยกล่าวว่าตนให้ความสนใจเกี่ยวกับการทำเกษตรแบบ “แปลงใหญ่” การรวมกลุ่มกันเพื่อความเข็มแข็งของเกษตรกร โดยเฉพาะการจับมือกันระหว่างเกษตรก้าวหน้ากับเกษตรกรดั่งเดิม คือเอาภาคเอกชนที่ประสบความสำเร็จเข้ามาช่วย ส่วนภาครัฐมีหน้าที่จัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอ

“เราอย่ารังเกียจทุนนิยมกันจนเกินไป เพราะทุนนิยมที่มีหัวใจก็มี ไม่ใช่มาจ้องเอาเปรียบเกษตรกรก็มี ที่เขาต้องการแบ่งปันแบบวินๆ มีเยอะแยะไป วันนี้เกษตรกรดั่งเดิมต้องจับมือกับเกษตรก้าวหน้า เพื่อใช้วิทยาศาสตร์ ใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น เพื่อจะมีความแม่นยำมากขึ้นในเรื่องของเมล็ดพันธุ์ การให้น้ำ ให้ปุ๋ย ที่สำคัญคือเหนื่อยน้อยลง แต่มีผลกำไรมากขึ้น”

นายชัยกล่าวต่อไปว่าวันนี้เกษตรกรดั่งเดิมต้องจับมือเพื่อเดินไปด้วยกันกับเกษตรก้าวหน้า ต้องเป็น “คอนแทรค ฟาร์มมิ่ง” มีคนช่วยวิจัย ช่วยหาเมล็ดพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งเรื่องดิน น้ำ ปุ๋ย ดินในแต่ละพื้นที่ต้องการแร่ธาตุอาหารตัวไหน ไม่ใช่ใส่ปุ๋ยสูตรซ้ำๆกันไปตลอด ที่สำคัญคือรู้ราคาก่อนลงมือปลูก มีตลาดรองรับอย่างแน่นอน เกษตรกรไม่เสี่ยง เมื่อรู้ราคาล่วงหน้าและมีตลาดแน่นอน เกษตรกรจึงเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่าย

ปลูกแล้วไม่มีตลาดรองรับอยู่ลำบาก!

ขณะที่ นายสมชาย อึ้งศรีประเสริฐ กำนันตำบลบึงสามัคคี อ.บึงสามัคคี กล่าวว่าตนมีพื้นที่กว่า 120 ไร่ ทำสวนส้ม สวนองุ่น และไร่อ้อย เมื่อก่อนทำไร่อ้อยกว่า 100 ไร่ แต่ตัดอ้อยแล้วเหลือกำไร 2,000 บาท จึงเปลี่ยนมาทำไร่ข้าวโพดอาหารสัตว์ประมาณ 110 ไร่ ในรูปแบบของ “คอนแทรค ฟาร์มมิ่ง” มีบริษัทเอกชนเข้ามาช่วยดูแลเรื่องเมล็ดพันธุ์ มาช่วยดูเรื่องคุณภาพดิน-ปุ๋ย และมีตลาดรองรับแน่นอน ส่วนราคาจะขึ้น-ลงตามตลาด ตอนนี้ข้าวโพดอาหารสัตว์มีราคาแพง กก.ละ 8.50-8.60 บาท จึงได้กำไรงามมากกว่าการปลูกอ้อย

“ที่นี่ปลูกข้าวโพดปีละ 2 ครั้ง ได้ผลผลิตไร่ละ 2 ตัน แต่ละครั้งเหลือกำไรประมาณ 7-8 แสนบาท พอถึงช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. ก็ตัดองุ่นขาย โดยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาซื้อถึงสวน ส่วนไร่ข้าวโพดแบบคอนแทรค ฟาร์มมิ่ง ในพื้นที่ในอ.บึงสามัคคีมีหลายพันไร่ ถ้าเกษตรกรทำเองจะมีปัญหามากตั้งแต่เรื่องทุน การหาเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในเรื่องน้ำ-ดิน-ปุ๋ย หรือแม้แต่การพ่นยาก็ต้องใช้โดรน เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ ที่สำคัญคือเรื่องของตลาดมีรองรับแน่นอน ไม่เหนื่อยเหมือนเมื่อก่อน ใครทำมากได้มาก” กำนันตำบลบึงสามัคคี กล่าว