มีโอกาสไปดูโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี (เขื่อนไซยะบุรี) ในลาว เมื่อวันที่ 1-3 ก.ค. 66 เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำขนาดใหญ่สุดในอาเซียน และเป็นของคนไทยในกลุ่ม “ช.การช่าง” ภายใต้การบริหารงานของบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ใช้เงินลงทุน 135,000 ล้านบาท รัฐบาลลาวถือหุ้น 20% พร้อมค่าสัมปทานให้ลาวเป็นรายปีด้วยตัวเลขไม่สูงนัก

เขื่อนไซยะบุรีสร้างขวางแม่น้ำโขง แขวงไซยะบุรี ห่างจากเมืองหลวงพระบางไปทางทิศใต้ 80 กิโลเมตร และห่างจากด่านห้วยโก๋น จ.น่าน ทางรถยนต์ประมาณ 3 ชั่วโมง เขื่อนแห่งนี้เป็นพื้นที่เฉพาะ ไม่เปิดให้คนภายนอกเข้ามาท่องเที่ยว

ตัวเขื่อนสร้างอยู่ในตำแหน่งที่แม่น้ำโขงกว้าง 820 เมตร ระดับน้ำลึก 40-60 เมตร ถูกออกแบบก่อสร้างอย่างแข็งแรงเพื่อการใช้งานนับ 100 ปี เมื่อสร้างเสร็จเปิดเดินเครื่องเดือนต.. 62 ผ่านไป 1 เดือนก็เจอแผ่นดินไหวขนาด 6.4 มีศูนย์กลางที่เมืองหงสา ประเทศลาว ห่างจากเขื่อนไซยะบุรี 50 กิโลเมตร แต่แรงสั่นสะเทือนไม่ทำให้ต้องหยุดผลิตไฟฟ้า

ลักษณะของเขื่อนผลิตไฟฟ้าด้วยการให้น้ำไหลผ่าน (Run of River) ไม่ได้กักเก็บน้ำเอาไว้ น้ำไหลเข้าเขื่อนปริมาณไหน ก็ไหลออกไปเท่านั้นทันที จึงไม่มีผลต่อปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้ง บริเวณเหนือเขื่อน และพื้นที่ท้ายเขื่อนทั้งในลาว-ไทย

เขื่อนไซยะบุรีมีระยะเวลาสัมปทานกับรัฐบาลลาว 31 ปี ด้วยกําลังการผลิตไฟฟ้า 1,285 เมกะวัตต์ (ประมาณ 30% ของการใช้ไฟในภาคอีสาน) สร้างเสร็จและเริ่มส่งไฟฟ้าโดยระบบเสาสายส่ง มายังสถานีรับไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ อ.ท่าลี่ จ.เลย ด้วยระยะทาง 196 กิโลเมตร

เป็นสัญญาขายไฟฟ้าให้ กฟผ.ถึง 95% ของกำลังการผลิตเป็นเวลา 31 ปี ในราคาคงที่ตลอดอายุสัญญาไม่เกิน 2.16 บาท/หน่วย นี่ไม่ใช่ราคาหน้าเขื่อน แต่เป็นราคาที่ อ.ท่าลี่ เป็นไฟฟ้าที่ กฟผ.รับจากเขื่อนโดยไม่มีค่า “เอฟที” ไม่มีค่าความพร้อมจ่าย! ในวันที่ “พยัคฆ์น้อย” ไปถึงหลวงพระบาง ทราบว่าวันนั้น (24 ชั่วโมง) เขื่อนส่งไฟให้ กฟผ. 21 ล้านหน่วย หน่วยละ 2 บาท เป็นเงิน 42 ล้านบาท แต่ละวันจะขายไฟให้กฟผ. 40-50 ล้านบาท เคยสูงสุด 58 ล้านบาท

ค่าไฟในสัญญา 2.16 บาท/หน่วย คือเพดานที่ต้องไม่สูงไปกว่านี้ 31 ปี แต่จริง ๆ ค่าไฟที่ขายให้ กฟผ. เฉลี่ย 2.00-2.06 บาท/หน่วยเท่านั้น เพราะขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนในแต่ละฤดู บางช่วงฝนตก ปริมาณน้ำมาก ผลิตไฟได้มาก กฟผ.รับซื้อไม่อั้นในราคาไม่ถึง 2 บาท/หน่วย ด้วยซ้ำไป

หลายคนทราบดีว่าสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของไทยมาจากหลายแหล่ง ทั้งจากก๊าซธรรมชาติ (ข้อมูลปี 65 มากกว่า 53%)-ถ่านหิน(16.5%)-น้ำมัน-พลังงานหมุนเวียน-พลังน้ำ โดยหลายแหล่งมีต้นทุนเกิน 3 บาท ไปถึงเกือบ 7 บาท ถัวเฉลี่ยไฟฟ้าต้นทุนของ กฟผ. จึงอยู่ที่ 3.77 บาท/หน่วย ไปรวมกับค่าเอฟที ทำให้ค่าไฟภาคครัวเรือน 4.77 บาท/หน่วย (พ.ค. 66)

วกกลับมาที่เขื่อนไซยะบุรี มีการลงทุนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมไปเป็นหมื่นล้านบาท เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อคนพื้นที่-สัตว์น้ำ สร้างแล้วต้องไม่มีการสะสมของตะกอนในแม่น้ำโขงบริเวณเหนือเขื่อน-ท้ายเขื่อน รวมทั้งปลา 121 สายพันธุ์ว่ายผ่านได้ปกติ เช่นเดียวกับเรือของชาวบ้าน เรือขนสินค้า เรือท่องเที่ยวขนาดไม่เกิน 500 ตัน สามารถผ่านเขื่อนได้

ไฟฟ้าจากพลังน้ำนอกจากราคาถูก! แถมยังเป็นพลังงานสะอาด โดยข้อมูลจากผู้รู้บอกว่าโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติมีการปล่อย CO2 อยู่ที่ 0.4 tCO2/MWh โรงไฟฟ้าจากน้ำมัน 0.6 โรงไฟฟ้าถ่านหิน 0.8-1 ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีแต่ละโรง แต่การผลิตไฟฟ้าที่เขื่อนไซยะบุรีมีอยู่แค่ 0.00008 สงสัยจะมาจากรถยนต์ที่วิ่งทำงานอยู่ในเขื่อน!!

——————–
พยัคฆ์น้อย