เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ความสำเร็จในการดำเนินโครงการพาน้องกลับมาเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นั้น โครงการนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา เพื่อแก้ปัญหาเชิงรุกเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา คืนโอกาส สร้างอนาคตให้เด็กได้กลับสู่ระบบ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า มีเด็กบางกลุ่มหลุดออกนอกระบบการศึกษาด้วยหลายสาเหตุหลายปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่ทำให้มีเด็กต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นจำนวนมาก โดยในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีหน้าที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ต้องดูแลอย่างทั่วถึงเท่าเทียมทุกกลุ่มทุกช่วงวัย ก็ได้ติดตามนักเรียนกลับมา โดยใช้ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ต้องทำเป็นปกติของครูและสถานศึกษา ที่จะติดตามเยี่ยมบ้านถ้าเด็กขาดเรียน หรือไม่มาโรงเรียนเกิน 3-7 วัน

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ในปีงบประมาณ 2565-2566 สพฐ. ได้ทำการวิจัยเรื่องเด็กหลุดจากระบบการศึกษาด้วยรูปแบบ Design Research in Education โดยพบ 11 สาเหตุที่ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา ได้แก่ ความจำเป็นของครอบครัว การย้ายถิ่นที่อยู่ รายได้ไม่เพียงพอ ปัญหาสุขภาพหรือความพิการ ปัญหาความประพฤติหรือการปรับตัว ผลกระทบจากโควิด-19 การเสี่ยงต่อการกระทำผิด การคมนาคมไม่สะดวก การสมรส ผลการเรียน และผู้ปกครองไม่ใส่ใจ ซึ่งตัวเลขเด็กหลุดออกจากระบบที่พบในปีการศึกษา 2564 หรือปีงบประมาณ 2565 มีจำนวน 28,134 คน สามารถติดตามพบตัว 28,038 คน โดยได้นำกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและให้ความช่วยเหลือตามความต้องการจำเป็นรายบุคคล โดยมีทั้งที่กลับเข้าเรียนในสถานศึกษาของ สพฐ. ทั้งโรงเรียนเดิม โรงเรียนใหม่ สถานศึกษาอาชีวศึกษา รวมถึงการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ กศน. และโรงเรียนพระปริยัติธรรม ขณะเดียวกันมีเด็กที่ติดตามไม่พบตัว 22 คน และเสียชีวิต 74 คน ส่วนปีการศึกษา 2565 หรือ ปีงบประมาณ 2566 มีจำนวน 2,835 คน ซึ่งเป็นตัวเลขการออกกลางคันที่ลดลง และได้ติดตามกลับเข้ามาเรียนแล้ว และบางส่วนก็เป็นเด็กที่ข้ามมาเรียนจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่กลับเข้ามาเรียนต่อ

“จากการดำเนินการดังกล่าวต้องถือว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ เพราะสามารถนำเด็กกลับเข้าระบบและให้ความช่วยเหลือตามความต้องการของเด็กถึง 99.66% แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวล คือ จะทำอย่างไรจึงจะรักษาเด็กกลุ่มนี้ไว้ไม่ให้หลุดออกจากระบบซ้ำอีก ขณะเดียวกันก็มีปัญหาใหม่อีกว่า เด็กที่เรียนอยู่ก็มีแนวโน้ม หรือมีความเสี่ยงจะหลุดออกจากระบบเป็นกลุ่มใหม่อีก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากสำหรับ สพฐ. ทำให้ สพฐ. ต้องหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ สพฐ. จึงได้มีนโยบายต่อเนื่อง โดยทำโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนแห่งความสุข ประกาศนโยบายโรงเรียนปลอดภัย และประกาศให้เดือนมิถุนายน เป็นเดือนแห่งการเยี่ยมบ้านนักเรียน โดยให้โรงเรียนทุกโรง ร่วมกับ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ลงเยี่ยมบ้านนักเรียนเป็นรายบุคคล เพื่อให้ทราบถึงความเป็นอยู่และความต้องการจำเป็นที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งจะเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาได้อย่างยั่งยืน” ดร.อัมพร กล่าวพร้อมกับย้ำว่า สพฐ. ต้องการเห็นเด็กทุกคนได้รับโอกาส จึงมีนโยบายเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสให้แก่เด็กไทยทุกคน เข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียม.