นายแท่น นายอิน นายเมือง นายโชติ นายดอกไม้ นายทองแก้ว ขุนสรรค์สรรพกิจ นายพันเรือง นายทองแดงใหญ่ นายจันเขียว (นายจันหนวดเขี้ยว) และนายทองเหม็น 11 วีรชนค่ายบางระจันส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย เจ้าของตำนานที่เล่าขานถึงความกล้าหาญและเสียสละ เมื่อครั้งรวมพลังพร้อมกับเหล่าชาวบ้านบางระจันเพื่อต่อสู้กับกองทัพข้าศึกจำนวนมหาศาลที่เข้าตีหมู่บ้านแห่งนี้หลายต่อหลายครั้ง

วันนี้นอกจากรูปหล่อประติมากรรมอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจันแล้ว เรื่องราวของพวกเขาเหล่านั้นยังคงถูกเล่าต่อด้วยค่ายบางระจันจำลอง ณ “วัดโพธิ์เก้าต้น” อำเภอค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี อดีตที่ตั้งมั่นในการต่อต้านข้าศึก ชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า “วัดไม้แดง” เพราะภายในบริเวณมีต้นไม้แดงซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งอยู่หลายต้น โดยกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. 2498 บริเวณใกล้เคียงยังมี “ตลาดไทยย้อนยุคบ้านระจัน” ตลาดที่มีนายจันหนวดเขี้ยวและผองเพื่อนเดินผ่านไปมาท่ามกลางบรรยากาศแบบย้อนยุค

พระครูวิชิตวุฒิคุณ เจ้าอาวาสวัดโพธิ์เก้าต้น มีดำริให้ชาวบ้านระจันในเขตพื้นที่สมรภูมิรบประวัติศาสตร์แห่งนี้ทำการค้าขายภายในตลาด ท่ามกลางบรรยากาศไทยย้อนยุคสมัยบ้านระจัน ที่นี่จึงมีแม่ค้านุ่งโจงกระเบน ห่มสไบ หรือตะเบงมาน มีพ่อค้าแต่งกายเป็นนักรบ สะพายดาบ ทั้งหมดก็เพื่อรำลึกนึกถึงวีรกรรมของบรรพชน ทั้งยังรวบรวมและถ่ายทอดวิถีชีวิตวัฒนธรรมแบบโบราณสมัยบ้านระจันให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสพร้อมกับเรียนรู้

กิจกรรมที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาถึงวัดโพธิ์เก้าต้นแห่งนี้ ได้แก่ สักการะพระอาจารย์ธรรมโชติ หาบน้ำเติมบุญ ชิมเมี่ยงกลีบบัว ผัดไทยโบราณ ขนมไทยโบราณหาทานยาก ชมการแสดง และสาธิตการตีดาบของ ลุงตึ๋ง ช่างตีดาบโบราณแห่งบ้านระจัน ตลาดไทยย้อนยุคบ้านระจัน เปิดบริการวันเสาร์-อาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์ที่ต่อเนื่องกับเสาร์-อาทิตย์ เวลา 08.30-17.00 น.

หากอยากทำความรู้จักกับวิถีชีวิตของชาวบางระจันมากขึ้นกว่าเดิม แนะนำให้แวะไปที่ “บ้านดอนตะโหนด” หมู่บ้านที่น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้จนทำให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้น พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ผู้คนส่วนใหญ่ทำการเกษตรแบบผสมผสาน ทั้งการปลูกข้าว ปลูกผลไม้และพืชผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ มีการทำนาข้าวแบบปลอดสารพิษ มีธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ ผสมดินปลูกใช้กันเองในหมู่บ้าน มีการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาพื้นบ้านการทำขนมห่อใบตอง การทำเม็ดขนุนไส้แฟงและกระยาสารทข้าวไรซ์เบอร์รี่ การทำปุ๋ยดินไส้เดือนและการแปรรูปผลไม้ต่าง ๆ

วิถีชีวิตชุมชนเหล่านั้นถูกนำเสนอเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวโดยแบ่งเป็นฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ สามารถเลือกเที่ยวชมได้ตามความชื่นชอบของผู้มาเยือน แบ่งการดูแลภายในหมู่บ้าน 9 คุ้มบ้าน ซึ่งแต่ละคุ้มบ้านได้รวมกลุ่มกันประกอบอาชีพ และเป็นศูนย์เรียนรู้แตกต่างกัน

คุ้มที่ 1 คุ้มขนมไทย ชิมและลองทำขนมไทยกับดอกไม้ประดิษฐ์ คุ้มที่ 2 คุ้มลีลาวดี เรียนรู้เกษตรผสมผสาน คุ้มที่ 3 คุ้มพอกิน พอใช้ ทำความรู้จักกับข้าวปลอดสารพิษ คุ้มที่ 4 คุ้มพอเพียง ชมการเพาะเห็ดฟางในโรงเรียน คุ้มที่ 5 คุ้มสมุนไพรไม้มงคล คุ้มที่ 6 คุ้มพืชผักผลไม้ มีผัก ผลไม้ ปลอดสารพิษ คุ้มที่ 7 คุ้มบ้านสวนชวนฝัน ลองทำไม้กวาดทางมะพร้าว คุ้มที่ 8 คุ้มร่มไทร ไม้ประดับ เรียนรู้กับต้นไม้ขุดล้อมและดินปลูก และคุ้มที่ 9 คุ้มแม่ตะเคียนบางระจัน ชิมและช้อปกล้วยตากกับมะม่วงกวน

จากนั้นไปเรียนรู้เรื่องราวเมืองสิงห์บุรีผ่านประวัติศาสตร์ สังคม ผู้คน ภูมิปัญญา วัฒนธรรม และเมืองตั้งแต่ยุคเริ่มต้นก่อร่างจนถึงปัจจุบันที่ “มิวเซียมสิงห์บุรี” อำเภอเมือง ซึ่งจัดแสดงนิทรรศการถาวรเรื่อง “ทรัพย์เมืองสิงห์” ภายในอาคารศาลากลางหลังเก่า (ร.ศ.130) มีทั้งหมด 8 ห้องกิจกรรมที่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมและศึกษาเกี่ยวกับจังหวัดสิงห์บุรีได้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ถนนด้านหน้าบริเวณแนวเขื่อนกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ยังมี Street Art ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ระยะทางกว่า 3.4 กิโลเมตรด้วย

แล้วอย่าลืมแวะไป “วัดพิกุลทอง” อำเภอท่าช้าง หรือรู้จักกันในชื่อ “วัดหลวงพ่อแพ” พระเทพสิงหบุราจารย์ อดีตเจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี ศูนย์รวมศรัทธาของชาวบ้าน ชมพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อแพ ที่ตั้งอยู่ภายในวัด จัดแสดงเรื่องราวประวัติของหลวงพ่อแพและเครื่องอัฐบริขารของท่านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สักการะพระพุทธสุวรรณมงคลมหามุนี หรือหลวงพ่อใหญ่ พระพุทธรูปปางประทานพรองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และห้ามพลาดกับการถ่ายภาพเช็กอินตรงถนนเฉลิมพระเกียรติ ถนนหน้าวัดพิกุลทองที่ถือได้ว่าเป็นถนนที่สวยที่สุดในจังหวัดสิงห์บุรี

ต่อเนื่องไปที่จังหวัดชัยนาท สัมผัสวิถีชุมชนเกษตรที่ “วิสาหกิจชุมชนริเช่ ฟาร์ม” อำเภอมโนรมย์ วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรสมัยใหม่ที่มีหลากหลายกิจกรรมน่าสนใจ อาทิ เก็บผัก ปลูกผักปลอดสารพิษ เก็บไข่ไก่ในเล้า ขับรถ ATV กินลม ชมฟาร์ม ขับเจ็ตสกี พายเรือคายัค เรือหงส์ท่ามกลางบึงใหญ่ สวนน้ำมหาสนุกสำหรับเด็ก นอกจากนี้ยังมีบริการที่พักหลากหลายสไตล์ทั้งแบบพูลวิลล่า ที่พักโฮมสเตย์ ห้องพักส่วนตัว จุดกางเต็นท์ รวมถึงคาเฟ่ และร้านอาหารที่มีเมนูสุขภาพ อาหารปลอดภัย วัตถุดิบสะอาด สด ใหม่ จากฟาร์ม เมนูเด็ดห้ามพลาด ได้แก่ แม่เนื้ออ่อนหลงรัง เมล่อนคำหวาน สลัดผักริเช่ สลัดอะโวคาโด ปลาเนื้ออ่อนฉู่ฉี่ ผักเคลปั่นสด

มีเวลาออกไปเดินเที่ยว “ตลาดเก่าคุ้งสำเภา” ในอำเภอมโนรมย์ สัมผัสวิถีชีวิตชุมชนริมแม่น้ำ 2 สาย ณ จุดบรรจบระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำสะแกกรัง ที่ยังมีความเป็นเอกลักษณ์มาจนถึงปัจจุบัน อดีตเมืองท่าที่สำคัญแห่งนี้มีบ้านเรือนเป็นอาคารไม้เก่าแก่ที่สะท้อนเรื่องราววิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีของชาวชุมชนได้เป็นอย่างดี พร้อมกับแลนด์มาร์กสำคัญที่ไม่ควรพลาด ทั้งศาลเจ้าพ่อกวนอูอายุกว่า 200 ปี สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2380 เรือสำเภาไม้สักยักษ์สีทองอายุกว่า 70 ปี ที่กู้ขึ้นมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา สตรีทอาร์ตชิค ๆ ที่สร้างสรรค์โดยเหล่าศิลปินกว่า 20 ภาพ จุดชมวิวแม่น้ำ 2 สาย และคาเฟ่สวย ๆ ริมฝั่งแม่น้ำ

ชัยนาทยังมีตลาดชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาอย่าง “ตลาดโรงพักเก่าสรรพยา” อำเภอสรรพยา ลักษณะตลาดเป็นบ้านเรือนอาคารไม้เก่าแก่ระยะทางประมาณ 300 เมตร ภายในตลาดมีจุดชม Street Art ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชนเมื่ออดีต มีทั้งหมด 3 ภาพ ได้แก่ รูปเด็กกระโดดเล่นน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา รูปฝูงควาย และรูปคนถือสุ่มจับปลา เส้นทางจักรยานสัมผัสกับบรรยากาศวิถีชีวิตริมแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารอร่อยต้องห้ามพลาด อาทิ บะหมี่ป้าโหนก…มีดีที่เส้น ข้าวแดงผัดกระเพราคลุก โอเลี้ยงห้องขัง และอุดหนุนของดีของฝาก เช่น ขนมหน้างากุยหลี สมัยรัชกาลที่ 6 ยาสีฟันสมุนไพรสูตรโบราณ สบู่สมุนไพร

ที่นี่ยังมี “สถานีตำรวจภูธรสรรพยา” หรือ “โรงพักเก่าสรรพยา” อาคารไม้เก่าแก่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 (ร.ศ.120) ซึ่งมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า 100 ปี ถือได้ว่าเป็นโรงพักที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงหลงเหลืออยู่จากทั่วประเทศ ตั้งอยู่บนที่ดินราชพัสดุ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ภายในชุมชนตลาดสรรพยา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2444 หรือเมื่อ 117 ปีที่แล้ว ในสมัยของ พันตำรวจเอกพระยาสกลสรศิลป์ ผู้บังคับการมณฑลนครสวรรค์ ซึ่งตรงกับสมัยของ พระยาศรีสิทธิกรรม ดำรงตำแหน่งนายอำเภอสรรพยา ลักษณะเป็นอาคารทรงปั้นหยา ชั้นเดียวยกพื้นสูง มีมุกหน้า เสาเป็นไม้เต็ง ฝาอาคารเป็นไม้กระยาเลย พื้นทำจากไม้ตะแบก มุงด้วยกระเบื้องแบบโบราณ ปัจจุบันใช้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมประวัติ และภาพถ่ายสมัยโบราณของชุมชนตลาดสรรพยาไว้ให้คนรุ่นหลังได้มาศึกษา เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับคนในชุมชนและนักท่องเที่ยว

ตลาดโรงพักเก่าสรรพยาเปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์แรกของต้นเดือน มีการจัดกิจกรรมถนนคนเดิน “ตลาดกรีนดี” ตลาดที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ใช้ภาชนะจากวัสดุธรรมชาติ ปลอดโฟม 100 เปอร์เซ็นต์ด้วย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สำนักงานเทศบาลตำบลสรรพยา โทร. 0 5649 9134

เสาร์-อาทิตย์นี้หาโจงกระเบนมานุ่งแล้วไปเยี่ยมเยือนชาวบางระจัน ไปสัมผัสวิถีเกษตรแบบพอเพียงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช้อป ชิม ชิลแบบรักษ์โลกและใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเองที่จังหวัดสิงห์บุรีและชัยนาท สองจังหวัดแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานลพบุรี (ลพบุรี, สิงห์บุรี, ชัยนาท) โทร. 036-770096-7 หรือ Facebook Fanpage : Tat Lopburi