โดยมีสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย TMA เป็นผู้เปิดเผยข้อมูลนี้ ณ โต๊ะอาหาร ซึ่งทุกคนต่างดีใจ โดยเพื่อนผมเล่าให้ฟังว่า ในเอเชียนั้นเราอยู่อันดับ 3 ส่วนที่ 1 สิงคโปร์ ได้อันดับ 4 ของโลก หรือลดลงมา 1 อันดับ และที่ 2 มาเลเซีย อยู่ในอันดับ 27 ของโลก ซึ่งเพิ่มขึ้น 5 อันดับ ส่วนที่ 3 ไทย อยู่ในอันดับ 30 ของโลก ซึ่งเพิ่มขึ้น 3 อันดับ สำหรับที่ 4 อินโดนuเซีย ได้อันดับ 34 ของโลก ซึ่งเพิ่มขึ้น 10 อันดับ และที่ 5 ฟิลิปปินส์ ได้อันดับ 52 ของโลก ซึ่งลดลง 4 อันดับ โดยแชมป์โลก 5 อันดับ ได้แก่ เดนมาร์ก, ไอร์แลนด์, สวิตเซอร์แลนด์, สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์

ทั้งนี้ เพื่อนนักวิชาการบอกว่า พอพ้น Covid-19 ปรากฏมาเลเซียออกตัวแรงกว่าไทย โดยมีอินโดนีเซียตามมาแบบก้าวกระโดด จนหายใจรดต้นคอแล้ว ทำให้ปีหน้าต้องรอดูให้ดี เพราะหลายประเทศเริ่มฟื้นตัว และด้วยแรงส่งที่มีพลัง พวกเขาเหล่านั้นก็อาจแซงหน้าไทยได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อนจากภาครัฐก็บอกว่า ไม่ต้องห่วง เพราะภาครัฐเราแข็งแกร่ง โดยจากอันดับ 31 ก็เพิ่มขึ้น 7 อันดับมาอยู่ที่ 24 คะแนน ซึ่งเรียกว่าดีมาก ขณะที่เพื่อนภาคธุรกิจก็เกทับว่า สมรรถนะภาคธุรกิจก็แข็งแกร่ง และแซงรัฐแล้ว ทำให้จากเคยอยู่อันดับที่ 30 ก็เพิ่มขึ้น 7 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 23 และจะเร่งเครื่องต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อดึงดูดพันธมิตรนักลงทุน ทั้งนี้เพื่อขยายฐานธุรกิจไปทั่วโลก ทางด้านเพื่อนนักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่เคยชมรัฐบาลเลย ก็บอกว่าภาพรวมเราดีมาก สมรรถนะทางเศรษฐกิจของเราก็อยู่อันดับที่ 16 จากเดิมที่อยู่อันดับ 34 ในปีที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นมามากที่สุดถึง 18 อันดับ ที่เป็นเพราะด้วยคะแนนเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว การจ้างงาน การท่องเที่ยว การลงทุน การค้าระหว่างประเทศ ความมั่นคง อย่างไรก็ดี แต่เพื่อนนักธุรกิจก็เถียงว่า เป็นผลงานของเค้าต่างหาก ส่วนเพื่อนภาครัฐก็บอกว่า เป็นเพราะนโยบายอัดฉีด และประชานิยมมากมายที่ทำให้ไทยทำผลงานได้ดีขนาดนี้ แม้จะเป็นการกู้เพื่อชาติกันแบบเต็มคาราเบลก็ตาม

อนึ่ง ระหว่างชื่นชมกัน เกทับผลงานกัน ผมก็มองจากสายความยั่งยืน และบอกเพื่อนว่า อย่าเพิ่งรีบดีใจกันเร็วนัก ให้ดูคะแนนหมวดที่ 4 คือ “ปัจจัยพื้นฐาน” ด้วย ที่ในภาพรวมไทยอยู่อันดับ 43 หรือขึ้นมาแค่เพียง 1 อันดับจากอันดับ 44 ในปีที่แล้ว ที่ถือว่าต่ำมากและต่ำมาตลอด อีกทั้งบางปัจจัยพื้นฐานในกลุ่มนี้ก็ยังลดลงด้วย เช่น คุณภาพการศึกษา, สุขภาพ, สิ่งแวดล้อม และวิทยาศาสตร์ ดังนั้นเราแน่ใจหรือเปล่าว่า เราจะมีอันดับที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน เพราะปัจจัยพื้นฐานที่กล่าวมานี้ ส่วนใหญ่มีผลจากการจัดการที่ล้าหลัง ไม่มีคุณภาพ ขาดข้อมูล ขาดการลงทุน มีการทุจริตคอร์รัปชั่น และขาดความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้ง ๆ ที่สิ่งเหล่านี้ คือพื้นฐานของการพัฒนาทุนมนุษย์ชองชาติ ที่ทำให้สมรรถนะการแข่งขันมีความยั่งยืน ซึ่งสิงคโปร์เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะมียุทธศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์ และรัฐบาลสิงคโปร์ก็ลงทุนในปัจจัยเหล่านั้นอย่างต่อเนื่อง จริงจัง แบบวัดผลได้ จนเป็นประเทศเดียวในเอเชีย ที่ติดอันดับ Top 5 ของโลก ซึ่งพอผมพูดเรื่องนี้ เพื่อนทุกคนก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า…ทำไมสิงคโปร์ทำได้ แต่เราทำไม่ได้? แล้วจากนั้น เสียงเฮฮาของการเฉลิมฉลองก็ค่อย ๆ เงียบลง.