เพื่อนจึงแนะนำว่า เจอกันที่ร้าน Amazon ในปั๊มน้ำมันแถวบ้านก็ได้ ซึ่งหลังจากยืดเส้นยืดสายให้คุณปู่ Supercar ยุคบุกเบิกจนเลือดลมสูบฉีดดีแล้ว ผมก็รีบไปเจอเพื่อน ๆ ที่ร้าน Amazon ตามที่นัดกันไว้…

สำหรับบทสนทนาวันนั้น เราเริ่มด้วย…กาแฟหอมดีนะ ซึ่งเพื่อนคนหนึ่งได้บอกว่ากาแฟที่ไหน ๆ ก็หอมเหมือนกัน จนเพื่อนอีกคนบอกว่าไม่นะ ให้ลองจิบดูดี ๆ เพราะแก้วนี้มีรสชาติละมุนเหมือนมาจากยอดดอย ซึ่งเมื่อลองอมไว้ในกระพุ้งแก้มสักพักก็จะรู้ว่าใครปลูก ขณะที่เพื่อนอีกคนบอกว่า พอหลับตารู้เลยว่าน่าจะมาจากเกษตรกรใน จ.เชียงราย ที่ ปตท. สนับสนุนให้พัฒนาวิธีปลูกอย่างยั่งยืน แล้วช่วยซื้อในราคาที่เป็นธรรม ที่เรียกว่า Fair Trade เพื่อให้เกษตรกรได้รายได้ที่เหมาะสม ไม่ถูกกดราคา ส่วนผู้ดื่มอย่างเราก็ได้ดื่มกาแฟดี ๆ ราคาไม่แพง แถมได้ช่วยชาวบ้านด้วย

อย่างไรก็ตาม ผมบอกเพื่อน ๆ ว่า พวกท่านนี่ขี้โม้จริง ที่รู้ลึกแบบนี้ คงไม่ใช่อมกาแฟในกระพุ้งแก้มหรอก แต่คงจะอ่านรายงานความยั่งยืน Sustainable Report ของ ปตท. บ่อย ๆ เพราะทุกคนเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่กันทั้งนั้น ทำให้เพื่อนผมต่างหัวเราะเหมือนได้อำกันเล่น ๆ เพราะเพื่อน ๆ เหล่านี้ชอบลงทุนในบริษัทที่ยั่งยืน เช่น ต้องอยู่ใน ESG 100, Down Jones Sustainability Index และอื่น ๆ เพราะเชื่อว่าการลงทุนของเขาจะช่วยทำให้โลกนี้ดีขึ้นได้ พวกเขาจึงต้องลงทุนในบริษัทดี ๆ บริษัทที่มีชื่อเสียงด้านความยั่งยืน ทั้งนี้ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน ผมเลยพาเพื่อน ๆ เดินดูรอบร้าน พร้อมกับชี้ให้ดูว่า โต๊ะบางตัวก็เป็นนวัตกรรมที่ Recycle จากกากกาแฟ หรือผนังสวย ๆ ที่มีลายแปลก ๆ ก็เป็นวัสดุจากถุงกาแฟเหลือทิ้ง และหลอดกาแฟก็เป็นนวัตกรรมจากกระดาษ ที่ช่วยเรื่องลดการใช้พลาสติก ซึ่งสิ่งต่าง ๆ พวกนี้ นับเป็นตัวอย่าง Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อลดการใช้ทรัพยากรใหม่ ลดคาร์บอนในขบวนการผลิต ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการไปสู่ Net Zero ที่สำคัญ พี่ ๆ ที่ชงกาแฟให้เรานั้น ยังมาจาก โครงการ Barista วัยเก๋า อีกด้วย

อนึ่ง พอดื่มกาแฟปลุกต่อมความยั่งยืนไปสักพัก เราก็พากันไปที่รถ เพื่อเปิดกระโปรงอวดของดีกัน แล้วก็โม้กันเรื่องม้าของใครแรงกว่า เทคโนโลยีอะไรที่ช่วยให้ม้าแก่ของเรากลายเป็นม้าหนุ่มทะยานไปได้เต็มสูบ ซึ่งผมเห็นบริเวณข้าง ๆ ที่เราจอดรถนั้น กำลังถูกปรับปรุงเตรียมให้เป็นพื้นที่ชาร์จรถ EV ซึ่งผมยอมรับว่า มันดูทันสมัยมาก จนคิดว่าเราน่าจะลองนำ EV มาลองชาร์จที่นี่ในระหว่างจิบกาแฟคุยกัน จากนั้นผมมองไปรอบ ๆ ปั๊มน้ำมัน ก็พบว่าพื้นที่ถูกจัดระเบียบไว้อย่างดี มีความปลอดภัยสูง มีความสะอาด และมีการออกแบบพื้นที่สีเขียวได้ร่มรื่น นอกจากนี้ยังมีพื้นที่แยกขยะ มีทางลาด Universal Design สำหรับรถเข็น

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อน “DNA ของ ปตท. เรื่องความยั่งยืน” และก่อนลากันกลับบ้าน ผมบอกเพื่อนว่า ลองไปดูการออกแบบอารยะสถาปัตย์ของห้องน้ำกันหน่อย เพราะพวกเราคงต้องใช้งานกันในไม่ช้านี้ ซึ่งคราวหน้าถ้ามารถเข็นก็สะดวกนะ ว่าแต่จะเอารถเข็นใส่ Supercar มายังไง จนเพื่อนขำกันยกใหญ่ ทั้งนี้ระหว่างขับรถกลับ ภาพจำของปั๊มน้ำมันสามทหารที่เคยอยู่ข้างศาลหลักเมืองก็ผุดขึ้นมา ซึ่งเด็กยุคนี้คงจะไม่เข้าใจ มีเพื่อนของผมบอกว่ายังมีปั๊มน้ำมันสามทหารที่ถูกอนุรักษ์ไว้เพียงแห่งเดียว อยู่ที่ จ.ลำพูน ทำให้ผมคิดขึ้นว่า…จากปั๊มน้ำมันสู่นวัตกรรมพลังงานบนเส้นทางของพลังงานไทยสู่ความยั่งยืน.