โดยสถิติคนใช้สมาร์ตโฟนในปัจจุบันมีกว่า 5,000 ล้านเครื่อง จนทำให้มือถือรุ่นเก่า ๆ ถูกทิ้งเป็นจำนวนมาก หลายคนก็ทิ้งอย่างถูกวิธี หลายคนก็ทิ้งอย่างไม่ถูกวิธี ส่งผลให้เกิดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) ทั่วโลก กว่า 53.6-54 ล้านตัน มีการคาดการณ์กันว่า ตัวเลขจะสูงขึ้นไปถึง 75 ล้านตัน ในปี 73

จากตัวเลขที่พุ่งขึ้นอย่างมหาศาล ทำให้ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ผู้ให้บริการมือถือนึกถึงปัญหาขยะอิเล็ก
ทรอนิกส์ที่เพิ่มมากขึ้นในทุกปี จึงได้ร่วมมือเดินหน้ารณรงค์การกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ ให้ถูกวิธี เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดย 2 ค่ายมือถือใหญ่ของประเทศไทย ทั้งค่ายเอไอเอส และค่ายทรู ที่มีทั้งแบรนด์ทรู และดีแทค ร่วมผลักดันเต็มที่ ทาง บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ระบุว่า สถานการณ์E-Waste ในประเทศไทยนั้นมีการสำรวจพบว่า ปีที่ผ่านมามีการจำหน่ายโทรศัพท์มือถือกว่า 16.7 ล้านเครื่อง ทำให้ปริมาณโทรศัพท์มือถือที่ถูกทิ้งเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์มีจำนวนกว่า 25,050 ตัน แต่มีเพียง 17 ตัน หรือ 1% เท่านั้น ที่ถูกกำจัดอย่างถูกวิธี

หากโทรศัพท์มือถือ 1 ล้านเครื่องถูกนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี จะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ จากรถจำนวน 1,368 คัน ที่วิ่งบนถนนเป็นเวลา 1 ปี

“มนัสส์ มานะวุฒิเวช” ประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า เมื่อทรูและดีแทคได้ควบรวมกัน จึงได้ให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยทรู และ ดีแทค ได้จำหน่ายโทรศัพท์มือถือ และดีไวซ์รวมมากกว่าล้านเครื่องต่อปี จึงจำเป็นต้องตระหนักในความรับผิดชอบต่อการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์

จึงได้ร่วมมือกับพันธมิตร คือ ออลล์ นาว โลจิสติกส์ และ โทเทิล เอนไวโรเมนทอล โซลูชั่นส์ ขนส่ง และรีไซเคิลขยะดังกล่าว และ PAUL, เต่าบิน, Sukishi Korean Charcoal Grill, NARS, Ultima II และ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เพื่อให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ กับผู้ทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการ “อี-เวสท์ ทิ้งถูกที่ ดีต่อใจ” ได้เปิดกล่องจุดรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ทรูช็อป ทรูสเฟียร์ และศูนย์บริการดีแทค 154 สาขาทั่วประเทศ เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ด้วยการรียูส และ รีไซเคิล 100% ไม่มีการฝังกลบ ตั้งเป้าหมาย 1 ล้านเครื่องในหนึ่งปี

ขณะที่อีกหนึ่งผู้ให้บริการมือถือ อย่าง “เอไอเอส” ก็ไม่น้อยหน้าเปิด โครงการ “คนไทยไร้ e-waste” ร่วมกับ เจมาร์ท ในการทำแคมเปญทิ้ง e-waste รับ J Point ผ่านแพลตฟอร์ม E-Waste+ พร้อมร่วมมือกับ แอลจี และศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ขยายจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ ชวนคนไทยร่วมกันทิ้งอย่างถูกวิธี เพื่อยกระดับ แก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน “สายชล ทรัพย์มากอุดม” รักษาการหัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ เอไอเอส บอกว่าเอไอเอสวางนโยบายในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันของคน เศรษฐกิจ และด้านสิ่งแวดล้อม ก็มุ่งมั่นตั้งใจในการแก้ไขปัญหานี้ร่วมกันอย่างยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการคนไทยไร้ e-waste ตั้งเป้าสู่การเป็น HUB of E-waste หรือศูนย์กลางด้านองค์ความรู้
และจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืนตั้งแต่การสร้างองค์ความรู้ให้คนไทยตระหนักถึงปัญหา สร้างกระบวนการจัดเก็บเพื่อให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแบบ Zero Landfill ตามมาตรฐานสากล ผ่านการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่หลากหลายทั้งภาครัฐและเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง

เชื่อว่าถ้าทุกคนร่วมมือร่วมใจกันทิ้งขยะทุกประเภทให้ถูกวิธี ดีต่อโลกที่พวกเราอยู่อย่างแน่นอน…