และปัจจุบันก็มีธุรกิจแบบใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยม ที่ก่อตั้งด้วยแรงบันดาลใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการกอบกู้โลกและแก้ปัญหาความไม่ยั่งยืน ที่เรามักเรียกธุรกิจนี้ว่า “Social Enterprise (SE)” หรือ “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ที่วันนี้จะมาพบกับ “คุณหนาว-พิเชษฐ โตนิติวงศ์” CEO หรือผู้จัดการไปทั่ว “ธรรมธุรกิจ” วิสาหกิจเพื่อสังคมหมายเลข 101

ทั้งนี้ หลายคนคงจะรู้จัก คุณหนาว ในฉายา “เจ้าพ่อข้าวเหนียว” เพราะเขาเริ่มทำธุรกิจด้วยการรับบริหารโรงสีของครอบครัว โดยเขาเห็นโอกาสของการที่มีโรงสีใกล้กับผู้บริโภค ซึ่งสามารถเชื่อมโยงผู้ผลิตกับผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการเชื่อมโยงเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวทางภาคเหนือและอีสาน กับผู้บริโภคในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการส่งออกอีกด้วย โดยการมีตำแหน่งที่ตั้งโรงสีใกล้ศูนย์กลางทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ต่ำกว่า ทำให้สู้กับคู่แข่งได้ แถมยังขายข้าวได้ในราคาที่สูงขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคได้ราคาสินค้าที่ต่ำลง

อนึ่ง ช่วงที่คุณหนาวได้คลุกคลีกับเกษตรกร เขาได้มองเห็นปัญหาคลาสสิกมากมาย อาทิ ความไม่รู้ข้อมูลของเกษตรกร, การที่เกษตรกรไม่สามารถควบคุมราคาขายได้, การถูกนายทุนครอบงำส่งเสริมให้เพิ่มผลผลิตด้วยสารเคมี, การเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง และการถูกนโยบายภาครัฐที่มาจากนักการเมืองทำร้ายโดยไม่รู้ตัวและไม่มีทางเลือก จนนักวิชาการเคยจำกัดความสิ่งนี้ไว้ ว่า “ทฤษฎีโง่-จน-เจ็บอย่างยั่งยืน”

ซึ่งช่วงที่โลกเกิดวิกฤติ El Nino ปี 2551 ผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลกชะลอการส่งออกเพื่อใช้บริโภคในประเทศของเขา แต่ชาวนาของเราได้หลงดีใจกับราคาข้าวส่งออกที่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด และรัฐบาลก็เคลมว่าเป็นผลงานระดับเทพแต่ไม่นานเมื่อโลกปรับตัวสู่สมดุล ราคาข้าวก็ตกต่ำลงตามราคาตลาด โดยชาวนาไม่ได้ตั้งตัว ส่งผลให้เกิดการประท้วงบนถนน จนต่อมามีนโยบายประกันราคาข้าว และจำนำข้าว และอื่น ๆ อีกมากมายที่ล้วนแล้วเป็นนโยบายประชานิยมที่ไม่ยั่งยืน และเป็นโอกาสในการคอร์รัปชั่นในระดับนโยบาย ในช่วงนั้นเอง ที่คุณหนาวได้อาสาไปช่วยรัฐบาลแก้ปัญหาชาวนา และก็ได้บทเรียนสำคัญว่า การตั้งใจดีที่ช่วยแก้ปัญหาให้ภาครัฐ สนองนโยบายนักการเมือง นอกจากแก้ปัญหาสังคมไม่ได้อย่างยั่งยืนแล้ว ยังเกิดผลกระทบต่อธุรกิจของตัวเองอีกด้วย

จากบาดแผลครั้งนั้น คุณหนาวได้มีเวลาทบทวนว่าจะฟื้นฟูธุรกิจของตัวเองขึ้นใหม่อย่างไร และจะช่วยแก้ปัญหาสังคม แก้ปัญหาความยากจนของชาวนาอย่างยั่งยืนไปด้วยกันได้อย่างไร จนปี 2556 คุณหนาวได้พบกับ อ.ยักษ์-ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และ โจน จันได ผู้ก่อตั้งสวนพันพรรณ ศูนย์เรียนรู้การเก็บเมล็ดพันธุ์และการพึ่งพาตนเอง ซึ่งอาจารย์ทั้งสองเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพึ่งพาตนเอง ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งทั้งสองท่านสอนผู้สนใจให้เรียนรู้วิถีชีวิตเกษตรกรพอเพียง และปรับพื้นดินที่แห้งแล้งให้คืนชีพมาเป็นแหล่งเพาะปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี เพื่อสร้างอาหารปลอดภัย สร้างรายได้ สร้างความสุขให้กับตัวเองและสังคม ด้วยแนวทางบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง

ซึ่งตอนแรกคุณหนาวก็ไม่ได้ศรัทธากับเรื่องพอเพียงนี้นัก และมีข้อสงสัย ข้อถกเถียง แถมยังท้าทายกับท่านอาจารย์ทั้งสองมากมาย แต่การลองเปิดใจ การลองเปลี่ยนความคิด เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ กับการทดลองลงมือทำ และหมั่นแลกเปลี่ยนประสบการณ์ได้ก่อให้เกิดปัญญา จนวันนี้คุณหนาวเข้าใจหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น และเรียนรู้พัฒนาต่อยอดไปเรื่อย ๆ และด้วยการที่มีพื้นฐานการทำธุรกิจ คุณหนาว จึงสามารถช่วยสนับสนุน อ.ยักษ์ และ อ.โจน ให้ความพอเพียงต้นน้ำที่ส่งเสริมให้เกษตรกรพึ่งพาตนเอง ปลูกพืชเกษตรผสมผสาน ปลูกสิ่งที่จะกิน กินสิ่งที่ปลูก โดยเมื่อไหร่เหลือก็ส่งออกตลาดอย่างมีระบบ

อีกทั้งยังมีการขยายผลให้ครบวงจร ตั้งแต่ การทำเกษตรปลอดสาร การทำโรงสี การทำบรรจุภัณฑ์ การทำคลังสินค้า การดูแลเรื่องการจัดส่งไปสู่โต๊ะอาหารของภัตตาคาร และห้องครัวในบ้านของผู้บริโภค นอกจากนี้ เพื่อนำผลผลิตส่วนเกินของเกษตรกรเข้าสู่ตลาด คุณหนาวจึงคิด “นวัตกรรมร้านอาหารแบบพอเพียงต้นแบบ” ชื่อ “ยักษ์กะโจน” ขึ้นมา ที่ท้าทาย Chef ให้ปรับเมนูให้เข้ากับวัตถุดิบที่มีรายวัน และทำให้ลูกค้ารู้สึกตื่นเต้นสนุกสนานกับเมนูหลากหลายไม่ซ้ำกัน โดยตอนนี้ร้านยักษ์กะโจนมี 2 สาขา คือบรรทัดทอง และหมู่บ้านสัมมากร โดยคุณหนาวตั้งใจจะหาพันธมิตรมาร่วมเพื่อขยายกิจการให้ได้จำนวน 69 สาขาในอนาคต โดยคุณหนาวได้ย้ำว่า ร้านอาหาร โรงสี และกิจการของธรรมธุรกิจจะใช้หลักทุกคนเท่าเทียม ไม่ว่ามีหุ้นมากหรือน้อย จะมีสิทธิ 1 เสียงเท่ากัน เพื่อให้ทุกคนเป็นเจ้าของเท่า ๆ กัน โดยไม่มีใครใหญ่กว่าใคร เพื่อให้เราเติบโต มั่งคั่ง ยั่งยืน และพอเพียงไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ด้านหลัง

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ได้มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อปี 2562 โดยมีการส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ประกอบการต่างๆ เช่น การพัฒนาองค์กร การสนับสนุนแหล่งทุนใหม่ ๆ การลดหย่อนภาษีขององค์กร การลดหย่อนภาษีของผู้ลงทุน และอื่น ๆ ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ ใช้เวลาเดินทางราว 20 ปี แม้จะผ่านการแก้ไขมาหลายรัฐบาล แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งคงจะต้องพัฒนาให้ทันสมัยต่อไป และสำหรับกระแสโลกเรื่อง Social Enterprise นี้ ได้เกิดขึ้นตอนต้นศตวรรษที่ 21 ที่ทั่วโลกประสบวิกฤติเศรษฐกิจ และรัฐบาลต้องการลดขนาดหน่วยงานรัฐให้เล็กลง การ outsource งานบริการประชาชนของรัฐให้เป็นภาระของวิสาหกิจเพื่อสังคม และส่งเสริมธุรกิจของคนตัวเล็กจึงเฟื่องฟูในช่วงนั้น โดยมีตัวอย่างความสำเร็จที่ประเทศอังกฤษใน สมัยนายกรัฐมนตรี โทนี่ แบลร์ ที่สามารถปรับเศรษฐกิจกระแสหลักที่ตกต่ำด้วยการเพิ่ม GDP  จากการขยายวิสาหกิจเพื่อสังคม

ที่สำคัญอังกฤษสามารถลดขนาดและงบประมาณของรัฐที่มีจำกัด แถมเพิ่มประสิทธิภาพการบริการประชาชน และช่วยลดการทุจริตคอรัปชั่นของภาครัฐลงได้มาก หรือนี่คือหนึ่งในแนวทางของรัฐบาลใหม่ ในการลดขนาดองค์กรรัฐ เพิ่มประสิทธิภาพการบริการประชาชน ด้วยการเร่งการขยายตัวของวิสาหกิจเพื่อสังคมของไทยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด.