นายบุญมา ป๋งมา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) ในฐานะที่ปรึกษาศูนย์พักคอย ขสมก. อู่บางพลี จ.สมุทรปราการ เปิดเผยว่า หลังจากที่ ขสมก. ได้เปิดใช้ศูนย์ดังกล่าว เมื่อวันที่ 3 ส.ค.-ปัจจุบัน ผ่านมาแล้ว 1 เดือนกว่าพบว่า มีผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นพนักงานของ ขสมก. เข้ารับรักษาที่ศูนย์แล้ว 142 คน แบ่งเป็นผู้ป่วยหายแล้ว 119 คน ส่งตัวไปรักษาที่ จ.พิษณุโลก 1 คน และ อยู่ระหว่างการรักษา 22 คน เหลือเตียงว่างอีก 88 เตียง คาดว่าจะรองรับผู้ป่วยที่จะเข้ามารักษาตัวยังสถานที่แห่งนี้เป็นไปตามเป้าที่รองรับได้ 110 เตียงได้เพียงพอ ทำให้ขณะนี้ยังไม่มีการพิจารณาที่จะเปิดศูนย์พักคอยยังสถานที่อื่นๆ ของ ขสมก. เพิ่มแต่อย่างใด  

จากการดำเนินการที่ศูนย์ช่วง 1 เดือนนี้พบว่า ศูนย์นี้มีประโยชน์เป็นอย่างมาก นอกจากจะช่วยรักษาพนักงาน ขสมก. ให้หายแล้ว ยังทำให้ ขสมก. ได้เรียนรู้วิธีการรักษาโควิดจากบุคลากรทางการแพทย์ควบคู่ด้วย โดยเฉพาะการให้ผู้ป่วยรับประทานยาฟ้าทลายโจรวันละ 36 เม็ด 4 มื้อ มื้อละ 9 เม็ด ได้แก่ มื้อเช้า กลางวัน เย็น และ ก่อนนอน รับประทานติดต่อกัน 5 วัน ช่วยบรรเทาอาการได้ ขณะเดียวกันจะให้พนักงานอบสมุนไพร ที่มาจากขิง ข่า กระชาย ตะไคร้ คนละ 15 นาทีต่อวัน ช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของเลือดลม และหายใจได้คล่อง รวมทั้งออกกำลังกายเล็กน้อย 15-20 นาทีต่อวัน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น 

นายบุญมา กล่าวต่อว่า ซึ่งเมื่อก่อนพอพนักงานติดโควิด นอนรอเตียงอยู่บ้านเท่านั้น กว่าจะได้มารักษาทำให้อาการทรุดลง และใช้เวลารักษานาน 20-25 วัน แต่เมื่อพนักงานติดเชื้อและมารักษาตัวที่ศูนย์นี้ทันทีใช้เวลารักษาสั้นลงแค่ 14-15 วันฟื้นตัวได้เร็ว อย่างไรก็ตามขณะนี้ ขสมก. ยอดติดเชื้อสะสมแล้ว 1,000 กว่าคน คิดเป็น 1.7% ของจำนวนพนักงาน ขสมก. ที่มีทั้งหมดกว่า 13,000 คนเท่านั้น

ทั้งนี้พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลง บางวันเหลือแค่ 2 ราย จากเดิมที่มีการติดเชื้อสูงสุด 32 คนต่อวัน แม้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง แต่ สหภาพแรงงาน และ ขสมก. ไม่ประมาท ช่วงกลางเดือนนี้จะลงพื้นที่รุกตามบ้านพักของพนักงานที่เป็นย่านชุมชนขนาดใหญ่ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ เช่น คลองเตย จะไปให้ความรู้พนักงานและครอบครัวถึงบ้านในการป้องกันโควิด-19 เน้นย้ำการ์ดอย่าตก เพื่อไม่ให้พนักงานกลับมาติดเชื้อรายวันจำนวนมากอีก  

นายบุญมา กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันหลังจากที่รัฐบาลคลายล็อกดาวน์ในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้มพบว่า ผู้โดยสารเริ่มกลับมาเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) มากขึ้น ทำให้บางช่วงเวลาบริการไม่เพียงพอ และ ขสมก. ปรับแผนขยายเวลาและเพิ่มเที่ยวในการให้บริการ ซึ่งสหภาพแรงงานเป็นห่วงในตรงนี้ที่มีการใช้บริการมากขึ้น อาจเสี่ยงต่อการเกิดการระบาดได้

จึงขอความร่วมมือพนักงาน ขสมก. ที่ให้บริการบนรถเมล์ และผู้โดยสารใช้บริการดำเนินการตามมาตรการด้านสาธารณสุขป้องกันโควิดอย่างเคร่งครัดต่อเนื่อง อาทิ สวมหน้ากากอนามัย มีเจลแอลกอฮอล์บริการ และ นั่งหรือยืนตามจุดที่กำหนด กรณีผู้ใช้บริการเต็มจะต้องรอใช้บริการรถเมล์คันถัดไป เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดต่อไป