ในเดือน มี.ค. 2564 เจอร์นี ฮอฟฟ์แมน เด็กหญิงลูกครึ่งผิวดำวัย 7 ขวบ จากมิชิแกน โดนเจ้าหน้าที่โรงเรียนประถมศึกษาที่เธอเรียนอยู่ ตัดผมของเธอทิ้ง เด็กหญิงรู้สึกว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง จึงถามหาเหตุผล แต่ไม่ได้รับคำตอบ

เจอร์นี ให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า การที่เธอโดนตัดผม ทำให้เธอรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมือนคนอื่น ๆ และรู้สึกว่าเป็นตัวประหลาด

ก่อนหน้านั้นหลายวัน มีเหตุการณ์ที่น่าจะเป็นต้นเรื่องของการที่เธอโดนตัดผมที่โรงเรียน เจอร์นี เล่าว่า ตอนที่เธออยู่บนรถโรงเรียนกับเพื่อนร่วมชั้น มีนักเรียนคนหนึ่งใช้กรรไกรตัดผมของเธอออกไปจนแหว่ง พ่อของ เจอร์นี เข้าไปร้องเรียนกับครูใหญ่ และพาเธอไปร้านตัดผม ซึ่งช่างผมได้ตัดทรงใหม่ให้เธอเป็นทรงบ๊อบเท 

หลังจากนั้นอีก 2 วัน เจอร์นี ก็กลับจากโรงเรียนพร้อมกับทรงผมที่อยู่ในสภาพโดนตัดออกทั้งสองข้างซ้าย-ขวา ผมหยิกยาวของเธอ กลายเป็นสั้นกุด ติดหนังศีรษะ

เจอร์นี ก่อนโดนครูที่โรงเรียนตัดผม (ซ้าย) และหลังจากที่โดนตัดผมแล้ว (ขวา)

พ่อของ เจอร์นี ย้ายลูกสาวออกจากโรงเรียนทันที และในเดือน ก.ย. 2564 เขาก็ยื่นฟ้องต่อศาล เรียกร้องให้ทางโรงเรียนเก่าของลูกสาว ซึ่งก็คือโรงเรียนรัฐบาลเมาท์เพลเซนท์ จ่ายค่าเสียหาย 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 34.6 ล้านบาท) โดยระบุชื่อบรรณารักษ์ เคลลี มอกก์ และผู้ช่วยครู คริสเทน เจคอบส์ เป็นจำเลย ซึ่งทั้งคู่เป็นคนผิวขาว ขณะที่ เจอร์นี มีพ่อเป็นคนผิวดำและแม่เป็นคนผิวขาว

ในเอกสารฟ้องร้องระบุว่า ครูมอกก์ เป็นคนตัดผมของ เจอร์นี โดยมี เจคอบส์ เป็นคนคอยช่วย ทั้งสองโดนตั้งข้อกล่าวหามากกว่า 10 กระทง ซึ่งมีทั้งข้อหาที่เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติโดยมีสาเหตุจากเชื้อชาติ, ละเมิดสิทธิพลเมืองตามกฎหมายของรัฐมิชิแกน, การคุกคามข่มขู่โดยมีสาเหตุมาจากชาติพันธุ์ของอีกฝ่าย, เจตนาละเมิดจนก่อให้เกิดความเสียหายทางจิตใจ และละเมิดรัฐธรรมนูญมาตราแก้ไขที่ 14 ซึ่งระบุว่า พลเมืองอเมริกันทุกคนจะต้องรับการคุ้มครองโดยเท่าเทียมกันตามกฎหมาย

หนูน้อยเจอร์นีในปัจจุบัน

ส่วนผลการสืบสวนของทางโรงเรียนต่อกรณีการตัดผมของ เจอร์นี สรุปว่า การตัดผมของเด็กหญิงโดยพลการในพื้นที่ของโรงเรียน เป็นการละเมิดนโยบายของทางโรงเรียน แต่ไม่พบว่า มอกก์ ทำลงไปเพราะความรู้สึกเหยียดเชื้อชาติ และเธอก็ยังคงได้ทำงานอยู่กับทางโรงเรียนต่อไป

หลังจากฟ้องร้องกันยาวนานหลายเดือน ในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็ตกลงกันได้และปิดคดี แม้จะไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของข้อตกลง แต่เป็นที่แน่ชัดว่าครอบครัวของ เจอร์นี เป็นฝ่ายชนะ

หลังจากนั้นเพียงวันเดียว เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา ผู้วาการรัฐมิชิแกน เกรทเชน วิทเมอร์ ได้ลงนามกฎหมายใหม่ที่ชื่อว่า ‘Crown Act’ หรือกฎหมายว่าด้วยการสร้างสรรค์โลกที่เปิดกว้างและเคารพกันสำหรับผู้ที่ไว้ผมตามธรรมชาติ (Creating a Respectful and Open World for Natural Hair) ทำให้รัฐมิชิแกนเป็นรัฐที่ 20 ของสหรัฐอเมริกา ที่สั่งห้ามการเลือกปฏิบัติโดยอ้างสาเหตุจากทรงผม หรือลักษณะของเส้นผมตามธรรมชาติในโรงเรียนและสถานที่ทำงาน

วิทเมอร์ กล่าวในระหว่างพิธีลงนามว่าเป็นเวลานานมาแล้วที่ คนผิวดำโดนสั่งให้จัดแต่งหรือทำผมเสียใหม่ เพื่อให้เข้ากับมาตรฐานของคนผิวขาว เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบที่รู้กัน แม้ไม่ได้มีการเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งมีพื้นฐานมาจากความอคติ

กฎหมาย Crown Act นี้ มีจุดประสงค์เพื่อปกป้องทรงผมและลักษณะตามธรรมชาติของเส้นผมตามชาติพันธุ์ ซึ่งรวมทั้งการไว้ผมเปีย ผมทรงเดรดล็อก เกลียวทวิส และอื่น ๆ ที่ “เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ทางชาติพันธุ์”

ตามข้อมูลจากกรณีศึกษาเกี่ยวกับความอคติในกลุ่มเด็ก พบว่าเด็กหญิงผิวดำ 66% ที่เรียนอยู่ในโรงเรียน ซึ่งมีนักเรียนส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว จะพบการเหยียดเชื้อชาติซึ่งมีสาเหตุมาจากผมของพวกเธอ ขณะที่ผลจากการสำรวจเมื่อปี 2562 พบว่าทรงผมหรือลักษณะเส้นผมตามธรรมชาติของหญิงผิวดำ ถูกมองว่าทำให้พวกเธอ “ไม่เป็นมืออาชีพ” มากกว่าผู้หญิงชาติพันธุ์อื่นถึง 2.5 เท่า

หนูน้อย เจอร์นี ซึ่งเคยโพสต์คลิปบนติ๊กต็อกเป็นประจำก่อนหน้าที่จะโดนตัดผม บอกว่าเธอรู้สึกสูญเสียความมั่นใจหลังจากที่ผมโดนตัดทิ้ง พร้อมกับเน้นย้ำถึงความสำคัญของกฎหมาย Crown ACt เพราะเธอไม่อยากให้มีเด็กคนอื่น ๆ ต้องมารู้สึกเหมือนที่เธอเคยเป็น

“เราควรมีสิทธิทำผมของเรายังไงก็ได้ เราควรได้ไว้ผมทรงไหนก็ได้ที่เราอยากไว้ และคนอื่นก็ไม่ควรมีสิทธิมาห้าม เราควรได้เป็นคนแบบที่เราอยากเป็น”

หนูน้อยวัย 7 ขวบ กล่าวทิ้งท้าย

แหล่งข้อมูล : www.mlive.com

เครดิตภาพ : Hoffmeyer family