ประเทศไทยมีหน่วยงานอย่าง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญา กรรมทางเทคโนโลยี หรือ “ตำรวจไซเบอร์” แต่ปัญหาโจรคอลเซ็นเตอร์ ปัญหาการหลอกลวงต้มตุ๋นทางออนไลน์ รวมทั้ง “การพนันออนไลน์” สร้างผลกระทบและความเดือดร้อนให้กับสังคมไทยเป็นอย่างมาก

มีตัวอย่างของคดี “แอม ไซยาไนด์” ที่มีการฆาตกรรมคนรู้จักใกล้ชิดอย่างต่อเนื่องมากถึง 15 คดี ในพื้นที่หลายจังหวัด เช่น กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี นครปฐม ก็มีรากเหง้าของปัญหามาจากการตกเป็นเหยื่อของ “พนันออนไลน์” คือต้องการเงินของคนอื่น รวมทั้งการเบี้ยวหนี้ ต้องฆ่าคนอย่างเลือดเย็นเพื่อล้างหนี้ เพราะต้นตอการติดพนันออนไลน์

แม้แต่รายล่าสุด กรณีตำรวจสอบสวนกลางซ้อนแผนบุกจับ “ปลัดอำเภอสาว” อายุ 42 ปี กับพฤติกรรมรีดไถเงินเจ้าของโรงแรมในพื้นที่ จ.กระบี่ จำนวน 1 แสนบาท เพื่อแลกกับเซ็นต่อใบอนุญาต จากการตรวจสอบพบว่าเส้นทางการเงินส่วนใหญ่ของปลัดอำเภอสาวคนนี้ ไหลออกไปเข้าบัญชีเว็บพนันออนไลน์

วันก่อนศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน (CGS) ร่วมกับมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.)โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาวิชาการนำเสนอ 3 ผลงานวิจัย เรื่อง “เปิดพฤติกรรมเยาวชนไทย…รู้เท่าทันภัยพนัน?” โดย รศ.ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ ประธานในงานเสวนาได้ชี้ว่าสังคมต้องตระหนักและรู้เท่าทันการพนันที่แฝงมากับสื่อสมัยใหม่ อย่างสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อดูแลเยาวชนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยง

ทางด้าน รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าช่วงต้นปี 66 ศูนย์ฯได้สำรวจการพนันออนไลน์ในกลุ่มคนอายุ 15-25 ปี พบว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีนักพนันหน้าใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้คนมีเวลาอยู่บ้านและเล่นอินเทอร์เน็ตมากขึ้น และเห็นการโฆษณาพนันออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ประมาณ 44% เห็นแล้วอยากลอง 26% ลองเข้าไปดู 4% ทดลองเล่น และ 1% แชร์ข้อความโฆษณาไปยังสาธารณะ ทำให้การโฆษณาพนันออนไลน์ขยายวงกว้างออกไปอีก

โดยพบว่าคนกลุ่มนี้เล่นการพนันเกือบ 3 ล้านคน เพราะเล่นง่าย เล่นได้ทุกที่ ทุกเวลา หาข้อมูลง่าย และคิดว่าสามารถควบคุมตัวเองได้ อยากเล่นหรืออยากหยุดเมื่อไหร่ก็ได้ ประกอบกับบางคนเคยเห็นพ่อแม่เล่น หรือเห็นเพื่อนเล่น โดยเฉพาะการใช้คนมีชื่อเสียงมาชักชวนทำให้คล้อยตามได้ง่าย

ฉะนั้นการแก้ปัญหาเรื่องนี้ต้องทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งการสร้างความตระหนักให้กับคนที่มีชื่อเสียงอย่าชักชวนคนเข้าไปเล่นพนัน การนำประสบการณ์ของคนที่เคยเล่นพนันและเห็นปัญหาเรื่องนี้มาถ่ายทอดให้เกิดการตระหนัก

ก่อนหน้านั้น รศ.ดร.นวลน้อยเคยให้ข้อมูลไว้ว่า 99% ของผู้เล่นพนันออนไลน์ เล่นผ่านมือถือเป็นส่วนใหญ่ และเล่นผ่านอุปกรณ์พวกแท็บเล็ตพีซีเป็นส่วนน้อย คนหนึ่งอาจจะเล่นหลายอุปกรณ์ ถ้าอยู่บ้านอาจจะเล่นผ่านแล็ปท็อปพีซี แต่พอออกไปข้างนอก เล่นผ่านโทรศัพท์มือถือเพราะสะดวกง่าย ไปไหนก็เล่นได้ คนที่สนุกกับการเล่นพนันออนไลน์มักจะเป็นคนรุ่นใหม่ ที่มีช่วงอายุน่าจะน้อยกว่าคนที่จะเล่นในออฟไลน์ เพราะมีความคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีพวกนี้อยู่แล้ว

พยัคฆ์น้อย” รู้จากเพื่อนฝูงที่มีสมาชิกในครอบครัวติด “พนันออนไลน์” งอมแงม! ว่าเจ้าของโต๊ะพนันออนไลน์จะอ่อยเหยื่อให้ทดลองเข้าไปเล่นฟรี! ก่อน 300-500 บาท แรก ๆ โต๊ะพนันจะแกล้งเล่นเสียครั้งละ 1,000-2,000 บาท

เมื่อรู้ว่าลูกค้า “ติดลมบน” เมื่อไหร่ ทางโต๊ะพนันก็จะเริ่มกินเงินของลูกค้า กินไปกินมาจนถอนตัวไม่ขึ้น

“พนันออนไลน์” มีการจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่บ้านเมือง เหมือนบ่อนการพนันทั่วไปหรือเปล่า? อันนี้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองต้องออกมาตอบให้ชัดว่าเรื่องจ่ายส่วยกันสะพัดเดือนละเป็น 100 ล้านบาท จ่ายเพื่อเคลียร์ไม่ให้จับ! และจ่ายเบิ้ล 2 เท่าพร้อมชี้เป้าให้จับโต๊ะพนันคู่แข่ง จริงเท็จมากน้อยแค่ไหน.

——————————-
พยัคฆ์น้อย