และถึงแม้ตอนนี้เริ่มเข้าฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว แต่กลับเป็นหน้าฝนใน El Nino ที่ทำให้ระดับฝนแปรปรวนจนคาดเดาไม่ได้ จนอาจเกิดพายุรุนแรงกับน้ำท่วมขนาดใหญ่ในบางเขต สวนทางกับพื้นที่ใกล้เคียงกันที่อาจกำลังเจอกับฝนทิ้งช่วงจนเกิดภาวะแล้งจัด ซึ่งทำให้การวางแผนจัดการการเกษตรยากขึ้นมาก และส่งผลทำให้เกิดความเสียหายหนักกับเกษตรกรและห่วงโซ่อาหารของเรา ดังนั้นเรื่องของการจัดการน้ำในภาวะวิกฤติจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งประเทศไทยเรามีหน่วยงานที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำมากมาย และมี สทนช. หรือสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่มีหน้าที่บูรณาการเรื่องนี้ แต่คำถามคือ เรามีความสามารถในการตั้งรับวิกฤติที่ไม่เคยเจอเช่นนี้แค่ไหน เราเห็นความเร่งด่วนเพียงไร เราสื่อสารกับประชาชนล่วงหน้าไหม และถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประชาชนจะรับรู้สถานการณ์จริง และร่วมกันรับผิดชอบและเตรียมพร้อมกับวิกฤตินี้

ทั้งนี้ คำว่า Water Footprint เป็นคำใหม่ที่ไม่รู้ไม่ได้ ซึ่งเราใช้เวลากว่า 20 ปี ในการสร้างความตระหนักรู้เรื่อง Carbon Footprint กับภาวะโลกร้อน จนทำให้ในทุกวันนี้ทุกคนต่างพูดถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ช่วยลดคาร์บอน หรือมีกองทุนสนับสนุนนวัตกรรมพลังงานสีเขียวหรืออุตสาหกรรมสีเขียวเป็นทางเลือกใหม่ ตลอดจนมีกองทุนสนับสนุนการปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อดูดซับคาร์บอนในอากาศและขายเป็น Carbon Credit ตลอดจนพบเห็นการสัมมนาเรื่องนี้แทบทุกวัน ผ่านทางสื่อต่าง ๆ แทบทุกแพลตฟอร์ม และใครหรือองค์กรใดไม่ทำเรื่องนี้จะถือว่าล้าสมัย ตกยุค และไม่สามารถค้าขายกับองค์กรสมัยใหม่ในโลกได้ อย่างไรก็ตามแต่ Carbon Footprint ไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่เราต้องควบคุม เพราะเรายังมีมาตรฐานและค่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า LCA Life Cycle Assessment ที่คำนวณผลกระทบตลอดห่วงโซ่การผลิต ซึ่งสินค้าที่มีมาตรฐานขายทั่วโลกจะมีฉลากค่าผลกระทบสิ่งแวดล้อมนี้ติดอยู่บนสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคทราบว่าสินค้าที่บริโภคสร้างผลกระทบต่อโลกมากน้อยแค่ไหน โดย LCA นี้ นอกจากมี Carbon Footprint แล้ว ยังมี Water Footprint ด้วย ซึ่งเป็นอีกตัวเลขหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน แต่ก็ยังมีคนสนใจน้อย เพราะเรารู้สึกว่าน้ำเป็นทรัพยากรที่มีอยู่มากมาย ไม่จำกัด ราคาถูก แต่ที่จริงกลับตรงกันข้าม เพราะในช่วงที่เผชิญปรากฏการณ์ El Nino นั้น เราก็ได้เห็นการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ ที่เป็นวิกฤติที่เรามิได้มีแผนตั้งรับไว้

แต่อะไรคือ Water Footprint หรือ ร่องรอยวารี ซึ่งคำอธิบายก็คือ เรื่องของการวัดจำนวนน้ำสะอาดที่ใช้ในขบวนการ ผลิตตลอดห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ เช่น นม 1 กล่องจะต้องคำนวณไปถึงการบริโภคน้ำสะอาดของวัว การล้างทำความสะอาดคอกวัว น้ำที่ใช้ปลูกหญ้าเพื่อเป็นอาหารวัว จนถึงคำนวณจำนวนน้ำทั้งหมดที่ใช้ในโรงงานผลิต รวมทั้งการจัดส่งไปถึงจุดขาย ซึ่งทุกคนเคยทราบหรือไม่ว่า การดื่มนม 1 กล่องนั้นจะต้องใช้ทรัพยากรน้ำสะอาดเท่าไร ซึ่งอนาคตข้างหน้า ถ้าน้ำสะอาดมีจำกัดและมีราคาแพง นม 1 กล่องก็ควรจะมีราคาอยู่ที่เท่าไร ซึ่งถ้าติดตามงาน CSR ของบริษัทน้ำอัดลมชั้นนำ ก็มักพบโครงการหนึ่ง นั่นคือการอนุรักษ์แหล่งน้ำใกล้โรงงาน และการปรับขบวนผลิตให้ใช้ปริมาณน้ำสะอาดน้อยลงด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น เดิมการผลิตน้ำอัดลม 1 ขวดอาจใช้น้ำสะอาดตลอดขบวนการ 5-3 ขวด ผู้ผลิตก็จะตั้งเป้าหมายเพื่อลด Water Footprint ลงให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ซึ่งเราเรียกว่าการพัฒนาความยั่งยืนในขบวนการการผลิต ส่วนการพัฒนาแหล่งน้ำในชุมชนนั้นจะเรียกว่าการพัฒนาความยั่งยืนนอกขบวนการ ซึ่งความยั่งยืนทั้งขบวนการนี้ มี Water Footprint เป็นตัวชี้วัดสำคัญ

สำหรับการทำความเข้าใจกับ Water Footprint นั้นก็ต้องรู้จัก “น้ำ 3 สี” เสียก่อน ได้แก่ 1.Blue Water Footprint-น้ำสีฟ้า คือน้ำทั่วไปในแม่น้ำ ลำคลอง และน้ำใต้ดินตามธรรมชาติ 2.Green Water Footprint-น้ำสีเขียว คือน้ำฝนและน้ำที่เก็บในพืชตามธรรมชาติ 3.Grey Water Footprint-น้ำสีเทา คือน้ำสะอาดที่นำไปบำบัดน้ำเสียในโรงงาน ก่อนปล่อยสู่แหล่งน้ำสาธารณะ นี่เป็นน้ำ 3 สี ที่ภายนอกดูเหมือนกัน แต่มีร่องรอยต่างกัน ซึ่งเราจะใช้น้ำทั้ง 3 นี้ให้เหมาะสม และคุ้มค่าได้อย่างไร ซึ่งการที่เราคุ้นเคยกับน้ำประปาราคาถูกและมีให้เราใช้ไม่เคยขาด ทำให้เราจึงไม่ค่อยเห็นคุณค่าของน้ำสะอาดมากนัก อนึ่ง เมื่อเอ่ยถึงเรื่องของน้ำนั้น ประเทศไทยเริ่มผลิตน้ำประปาในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยชาวยุโรปที่ออกมาล่าอาณานิคมนั้นมักจะใช้เรื่องน้ำและสุขาภิบาลเป็นข้ออ้างในการยึดครองประเทศในเอเชีย ซึ่งสมัยนั้นในหลวงรัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริให้ราชการไทยก่อตั้งโรงผลิตน้ำประปา ขุดคลองประปา และเดินท่อส่งน้ำไปยังชุมชนต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ จนระบบสุขาภิบาลของไทยได้มาตรฐานสากล ซึ่งโรงผลิตน้ำประปาแห่งแรกที่สามเสน เสร็จสมบูรณ์และดำเนินการได้ในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่จนถึงปัจจุบันนี้ก็เป็นเวลา 109 ปีแล้ว แต่ในปัจจุบันการประปานครหลวง (กปน.) ก็ยังใส่ใจพัฒนาความยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยมีการดูแลแหล่งน้ำและคุณภาพชีวิตชุมชนต้นน้ำ อย่างเช่นในบริเวณสถานีสูบน้ำจะมีการจัดการระบบนิเวศให้สมบูรณ์เพื่อให้น้ำดิบมีคุณภาพคงที่ ก่อนลำเลียงผ่านคลองประปาไปโรงผลิตน้ำที่เป็นช่วงกลางน้ำ โดยโรงผลิตน้ำนั้น ทาง กปน. ก็มีมาตรฐานโรงงานที่ดีระดับสากล ที่มีทั้งการคำนวณ Carbon Footprint และ Water Footprint ตลอดจนมีแผนพัฒนาการผลิตน้ำสะอาดที่ก่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ส่วน ช่วงปลายน้ำ กปน. ก็จะเน้นการจัดส่งน้ำคุณภาพดีดื่มได้ไปสู่บ้านเรือนประชาชน พร้อมกับมีบริการอื่นเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค เช่น การให้คำแนะนำ บริการล้างถังเก็บน้ำ ซ่อมแซมท่อประปา ฝึกอบรมช่างฝีมือดีเพื่อให้บริการประชาชน นอกจากนี้ยังร่วมมือกับผู้ผลิตก๊อกน้ำและสุขภัณฑ์ทำการพัฒนาอุปกรณ์ประหยัดน้ำ โดยมีฉลากประหยัดน้ำเป็นสัญลักษณ์ รวมถึงรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนเพื่อให้ตระหนักถึงคุณค่าของน้ำ และเกิดการใช้น้ำอย่างประหยัด

นอกจากการประปานครหลวง (กปน.) แล้ว องค์กรเกี่ยวกับน้ำอื่น ๆ ก็ได้ช่วยกันพัฒนาความยั่งยืนในด้านนี้ไปพร้อมกัน แต่ก็ยังไม่ค่อยมีการสานพลังเครือข่ายมากเท่าเหมือนการขับเคลื่อนเรื่อง Carbon Footprint ที่เดินหน้าไปไกลแล้ว แต่ก็เชื่อว่าในอีกไม่นาน เรื่องของ Water Footprint นี้ จะกำลังตาม Carbon Footprint มาติด ๆ โดยมีวิกฤติ El Nino เป็นตัวเร่ง และปลุกกระแสให้ผู้คนหันมาสนใจคุณค่าของน้ำ เนื่องจากในอนาคต น้ำจะเป็นทรัพยากรที่เรามีอย่างจำกัด อีกทั้งมีความเสี่ยงต่อความยั่งยืน และความเสี่ยงต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเราทุกคน และเป็นคำตอบว่าเหตุใด Water Footprint จึงสำคัญ นั่นก็เพราะ…

คุณภาพน้ำ คือคุณภาพชีวิต”.