ยุคก่อนหน้านี้ที่ผลวิจัยบอกว่ามีการโกงบ้างก็ไม่เป็นไร ถ้าพวกเราได้ประโยชน์ด้วย ก็แย่พอแล้ว จนมาถึงยุคปัจจุบัน ที่โกงกันแบบแนบเนียนทุกวงการ แต่ทุกหน่วยงานไม่รู้ ผู้นำก็ไม่รู้ ไม่รู้ แล้วยังเชิญชวนกันแสดงสัญลักษณ์ยกมือไขว้กันต่อต้านคอร์รัปชั่นไปแบบเนียนๆกันอย่างสนุกสนาน

ขณะที่ผมกำลังดีใจกับระดับคะแนน CPI (Corruption Perception Index) ที่ใช้วัดระดับความทุจริตประพฤติมิชอบ ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ที่ประเทศไทยได้ 36 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 1 คะแนน ไต่อันดับจากอันดับที่ 110 มาเป็น 101 จาก 180 ประเทศ ที่จริงแล้วประเทศเรามีคะแนนนขึ้นลงอยู่แถว 35-38 คะแนนมาตลอด 10 ปี ไม่ไปไหนเลย ในขณะที่เพื่อนๆ ในภูมิภาคเช่นประเทศนิวซีแลนด์อยู่อันดับ 2 ด้วยคะแนน 88 และประเทศสิงคโปร์อยู่อันดับ 5 ด้วยคะแนน 85 โดยประเทศไทยได้คะแนนเป็นอันดับที่ 6 ของเอเชีย รองจากประเทศสิงคโปร์ (85) มาเลเซีย (48) ติมอร์ เลสเต (41) เวียดนาม (39) และอินโดนิเซีย (38)

การต่อต้านคอร์รัปชั่นที่ยั่งยืน ต้องเริ่มจากการพัฒนาธรรมาภิบาล (CG … Corporate Governance) ให้สังคมไทย และนี่คือ 6 แนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานโลก 1. ดำเนินงานด้วยความโปร่งใส และมีมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ 2. ส่งเสริมการมีสิทธิ มีเสียง มีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกระดับ 3. ต้องดำเนินการทุกเรื่องด้วยความรับผิดชอบ และมีผู้รับผิดชอบชัดเจน 4. สร้างวัฒนธรรมองค์กรความดี มีมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรม ที่มีข้อกำหนด ระเบียบแบบแผนที่มีมาตรฐานสูง 5. ต้องออกแบบโครงสร้างการจัดการให้มีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ส่งเสริมความสมดุลเพื่อก่อให้เกิดการถ่วงดุลย์อำนาจ และการตรวจสอบซึ่งกันและกันอย่างเป็นธรรม และก่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย 6. ต้องมีระบบติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ ทั้งจากผู้ตรวจสอบภายใน และภายนอก มีการบังคับใช้กฏระเบียบต่างๆ อย่างเคร่งครัด และมีบทลงโทษที่รุนแรง

นอกจากการพัฒนา ธรรมาภิบาล ในองค์กรแล้ว ประเทศที่ได้คะแนนสูงที่สุดในโลก ที่มีคะแนนสูงกว่า 80 คะแนน ได้แก่ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ สิงคโปร์ สวีเดน สวิสเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก และเยอรมนี นั้นมีอะไรที่เหมือนกัน ผมคิดว่าไม่ใช่เพียงกฎหมายที่เข้มงวด มีบทลงโทษรุนแรง มีการบังคับใช้ที่จริงจัง แต่สิ่งสำคัญคือ Mindset ของผู้คนในประเทศนั้นๆ ที่ไม่ยอมรับการทุจริต และไม่นิ่งเฉย แม้เค้าจะได้ประโยชน์ด้วย เค้ามีวัฒนธรรมที่เข้มแข็งที่ถูกอบรมสั่งสอนว่าอะไรผิด อะไรถูก ตั้งแต่เด็ก ลดความเทาๆ ในสังคม ต่างจากสังคมของประเทศที่ได้คะแนนน้อยแบบเราที่ทุกเรื่องมันดูเทาๆ เทาอ่อน ไปจนเทาเข้ม แล้วเราจะสอนลูกหลานของเราให้ไม่ทุจริตคดโกงได้อย่างไร

ณ โรงเรียนแห่งหนึ่ง น้องๆ ยืนเข้าแถวท่องอาขยานเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต แล้วเดินเรียงแถวไปยังห้องสอบ คุณครูประจำชั้น กล่าวว่า ความซื่อสัตย์สุจริต เป็นสมบัติของผู้ดี ทุกคนห้ามลอกข้อสอบกันนะคะ วันนี้คุณครูจะไม่คุมสอบให้พวกเราควบคุมกันเอง หัวหน้าชั้นลุกขึ้นยืน ก้มคำนับคุณครูแล้วพูดว่า คุณครูที่เคารพ เมื่อเช้าหนูท่องอาขยานแล้ว และคุณครูสอนพวกหนูมาดี คุณครูเป็นแบบไหน พวกหนูก็เป็นแบบนั้น คุณครูเริ่มแสดงสีหน้าไม่มั่นใจ ขณะที่หัวหน้านักเรียนพูดต่อว่า พวกหนูคิดว่าคุณครูเป็นคนดี แต่คงมีหลายเรื่องที่คุณครูต้องเก็บความลับไว้เพื่อไม่ให้โรงเรียนของเราเสียหาย ไม่แน่ใจว่าสิ่งเหล่านั้นคือการทุจริตหรือเปล่า หรือแค่นิ่งเฉยตามน้ำ เช่นทำไมแทบเบลตกองอยู่เต็มห้องโสต ใช้ไปไม่กี่ครั้งก็พังหมดแล้ว แล้วห้องโสตก็เช่นกัน พวกเราใช้เรียนภาษาอังกฤษไม่กี่ครั้งก็เสีย ไม่มีใครมาซ่อม รื้ออออกก็ไม่ได้เพราะเป็นครุภัณฑ์ราคาแพง หนังสือเรียนก็ล้าสมัยแถมแพงมาก พวกหนูจะเลือกให้เหมาะกับที่หนูอยากอ่านก็ไม่ได้ พอถามไปเค้าก็บอกว่ากระทรวงให้ซื้อเจ้านี้ เค้าขายทั่วประเทศ นี่ยังไม่นับห้องน้ำที่ช่างกำลังสร้างให้พวกหนู พ่อหนูบอกว่าแพงเท่าบ้านทั้งหลังเลย วันก่อนพ่อหนูคุยกับผู้รับเหมา เค้าเล่าว่าได้งานแบบนี้สองร้อยแห่งทั่วประเทศ วันก่อนพ่อพาหนูไปดูศูนย์การเรียนรู้ ที่มีอาคารหลายหลัง ส่วนใหญ่ดูไม่ได้ เขียนว่าปิดปรับปรุงเกือบหมด แต่ก็มีงบสร้างศูนย์เรียนรู้ใหม่ไปเรื่อยๆ สร้างแล้วทิ้ง แล้วสร้างสิ่งใหม่ที่พวกหนูไม่ต้องการ นี่ยังไม่นับเสาไฟกินนรีในป่าด้านหลังโรงเรียนอีกนะคะ คุณครูฟังนักเรียนพูด ดังนั้น ก็มีน้ำตาคลอเบ้า คิดในใจว่าครูที่ดีควรจะทำอย่างไรดี ควรนอบน้อมตามน้ำต่อระบบที่ไม่สุจริตต่อไปเพื่อความเจริญก้าวหน้า หรือควรจะลุกขึ้นมาสอนน้องๆ ด้วยบทเรียนจากเหตุการณ์จริงที่ซับซ้อน อย่างโปร่งใสเปิดเผย หรือแอบทำคลิปหลุดเพื่อไปออกรายการโหนกระแส เพราะถ้าเลือกทำแบบไหนไป ลูกศิษย์ก็จะเติบโตขึ้นเป็นแบบนั้น คุณครูจึงมาขอคำแนะนำผม

ผมเรียนคุณครูว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องยากและซับซ้อน โดยหลักการคุณครูคือแม่พิมพ์ของชาติ คุณครูเป็นแบบไหน ลูกศิษย์ส่วนใหญ่จะเติบโตเป็นแบบนั้น และความคดโกงปัจจุบันเป็นความโกงสีเทา ทีไม่ได้เป็นสีดำและขาวอีกต่อไป ผมคิดว่าแทนที่คุณครูจะโลกสวยสอนความซื่อสัตย์ ด้วยการให้น้องๆ ท่องอาขยาน ลองออกแบบการเรียนรู้จากการแก้ปัญหาที่เกิดในชีวิตจริงไปเลย โดยให้พวกเขาสร้างวัฒนธรรมของความโปร่งใสของเขาเอง เปิดวงคุยกันถึงความจริง ดูว่าน้องๆ จะเข้าใจมิติซับซ้อนของปัญหาคอร์รัปชั่นไหม มีนวัตกรรมอะไรมาปราบโกงได้บ้าง การทำเวทีสาธารณะบ่อยๆ อย่างเปิดเผย และเชิญต้นสังกัด เช่น สพฐ. กศน. ครุสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันฟังน้องๆ แก้ปัญหาไปพร้อมกัน สรุปรายงานและข้อเสนอแนะไปยังผู้บริหาร ซึ่งวัฒนธรรมความซื่อสัตย์สุจริตจะมีมาตรฐานสูงแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง ในแต่ละเดือนถ้าผู้บริหารของกระทรวงเปิดเวทีสาธารณะพูดคุยกับนักเรียนอย่างโปร่งใส สม่ำเสมอ เพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นจะยอดเยี่ยมมาก สมัยนี้ผ่าน Discord ก็ได้ มีน้องๆ คุยกันเรื่องนี้อยู่แล้วเป็นประจำ ถ้าผู้บริหารระดับสูงเข้าใจหลักปฏิบัติของระบบธรรมาภิบาล ที่กล่าวไว้ข้างต้น ต้องรีบทำทันที เพื่อปราบคอร์รัปชั่น และสร้างมาตรฐานของคน และวัฒนธรรมที่ซื่อสัตย์สุจริตให้สังคมไทยอย่างยั่งยืน วัฒนธรรมความซื่อสัตย์สุจริตต้องเริ่มที่ บ้านและโรงเรียน ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญที่สุด ที่จะต้องสร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นคนราคาแพง ที่ส่งต่อของขวัญชิ้นสำคัญนี้ให้กับสังคม ดังคำของคุณ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่กล่าวไว้ว่า “ความซื่อสัตย์สุจริต เป็นของขวัญราคาแพง อย่าไปคาดหวังที่จะได้มาจากคนราคาถูก”.