ส่วนหนึ่งเกิดจากสังคมเมืองที่มีประชากรอาศัยกันอย่างหนาแน่น มีการผลิต การค้าที่ต้องตอบสนองกับจำนวนของผู้บริโภคที่มีเพิ่มขึ้นตามยุคสมัย และผลที่ตามมาคือเกิดโรงงานอุตสาหกรรมมากมาย ที่เป็นบ่อเกิดของการทำลายสิ่งแวดล้อมทางอ้อม ซึ่งในการผลิตแต่ละครั้งจะมีวัตถุดิบมากมาย อาทิ หิน, ดิน, ทราย ซึ่งจะต้องทำลายธรรมชาติเพื่อมาผลิต และผลที่ตามมาก็คือทำให้มีการใช้ทรัพยากรของธรรมชาติอย่างไม่บันยะบันยังเป็นสาเหตุให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ มากมาย

ล่าสุด มาร์เก็ตบัซซ ร่วมกับ วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำการสำรวจหัวข้อ “10 อันดับแรกที่คนไทยวิตกกังวลมากที่สุด” อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 โดยผลการสำรวจล่าสุดในปี 2566 มีผู้ตอบแบบสอบถามรวม 1,000 คน ในเดือนเมษายน 2566 พบว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่คนไทยมีความกังวลใจสูงที่สุดถึง 42% หากเทียบกับผลสำรวจในปี 2565 คนไทยส่วนใหญ่มีความกังวลในเรื่องของค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากการปรับราคาของสินค้าอุปโภคบริโภค

ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงกลายมาเป็นสิ่งที่คนไทยมีความกังวลมากที่สุด มีตัวเลขเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ผ่านมา นอกเหนือจากหัวข้ออื่นๆ ที่เป็นคำถามหลักของการสำรวจในเรื่องความกังวลในระดับประเทศ เช่น เรื่องของการทุจริตคอร์รัปชั่น การดูแลสุขภาพ การจราจร อาชญากรรม และสภาพเศรษฐกิจโดยรวม

ทั้งนี้ ความกังวลต่อสิ่งแวดล้อมที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้นส่วนใหญ่ความกังวลอันดับต้นๆ จะเป็นเรื่องระดับมลพิษในประเทศไทยที่มักจะมีค่าสูงสุดในช่วงเดือนพฤศจิกายน และเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี โดยปัญหามลพิษทางอากาศได้กลายเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและส่งผลต่อสุขภาพที่ร้ายแรงในประเทศไทย รวมทั้งคนไทยยังคงมีความกังวลกับปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังได้ทำแบบสำรวจปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่คนไทยพูดถึงและกังวลตลอด 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า 71% ของคนไทยเชื่อว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของพวกเขา ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีตัวเลขของการสำรวจอยู่ที่ 62% และสิ่งที่น่ากังวลคือ กว่า 51% ของคนไทยเชื่อว่าสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะมีความเลวร้ายลงอีกใน 5 ปีข้างหน้า…ขณะที่ผลการสำรวจในด้านของสิ่งแวดล้อม 3 อันดับต้นๆ ที่ผู้บริโภคชาวไทยมีความกังวลมากที่สุด 44% เป็นเรื่องของสภาวะโลกร้อน, 44% มลพิษทางอากาศ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ อีก 25%

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการพูดถึงความรับผิดชอบ คนส่วนใหญ่มองหาความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งจากภาครัฐบาลและภาคธุรกิจ เพื่อส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตและสุขอนามัยที่ดีขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้ทำการศึกษาและเห็นได้ชัดว่า ความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมสามารถนำไปใช้เพื่อกำหนดแผนของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ดีได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย เพราะคนไทยคาดหวังว่ารัฐบาลจะมีบทบาทสำคัญและมีอิทธิพลต่อข้อกำหนดและการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ และต้องการให้คนไทยมีความรับผิดชอบเท่าเทียมกันและสร้างความคาดหวังให้ทุกคนปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตของตนเองและร่วมมือกันในเรื่องนี้ ซึ่งจากผลการศึกษาครั้งนี้ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าคนไทยต้องการความเปลี่ยนแปลงและเต็มใจที่จะมีส่วนร่วมในเรื่องของสิ่งแวดล้อม

“สิ่งสำคัญที่สุดคือทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบในการปกป้องสิ่งแวดล้อมของเรา นอกเหนือไปจากการริเริ่มของภาครัฐแล้ว จึงไม่มีคำว่าสายเกินไปที่เราจะมาร่วมมือกันสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ด้วยการทำหน้าที่ในส่วนของแต่ละคนเพื่อช่วยลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม”.