ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการ สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ได้แสดงความคิดเห็นส่วนตัวว่า กรณีดังกล่าวส่วนตัวนั้นคิดว่าไม่สมควร และหลายครั้งก่อนหน้านี้ก็มีกรณีตัวอย่างเช่นนี้มากมาย แต่ครั้งนี้เป็นการปล่อยปลาถึง 4,000 กิโลกรัม และมีการประชาสัมพันธ์กันอย่างกว้างขวางนำมาซึ่งตัวอย่างที่ไม่ดีแม้การกระทำคิดว่าเป็นเจตนาดี เพื่อความรู้สึกสบายใจ เป็นผู้ให้ชีวิตสัตว์ด้วยความเมตตากรุณาต่อสัตว์ แต่ก็ควรมีการศึกษาในผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมประกอบด้วย เพราะการปล่อยปลา โดยเฉพาะปลาดุกบางชนิด ถือเป็นปลาเอเลียนสปีชีส์ สายพันธุ์ต่างถิ่นที่จะรุกรานการดำรงชีวิตอยู่ของปลาในพื้นถิ่น พูดง่าย ๆ คือ ปลาดุกที่ปล่อยทั้งหมดถ้ารอดชีวิตได้ (ซึ่งส่วนใหญ่ก็ตายบ้าง) ก็จะเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ออกลูกออกหลาน และจะเข้ามาทำลายการใช้ชีวิตของปลาพื้นถิ่น และกินปลาขนาดเล็กจำนวนมากในพื้นที่บริเวณนั้นเป็นอาหารด้วย และที่สำคัญจะเป็นการยับยั้งการสืบพันธุ์ของปลาในพื้นที่ที่ปล่อย ซึ่งจะเป็นการทำลายระบบนิเวศ ทำให้ปลาลดจำนวนลงหรืออาจร้ายแรงถึงขั้นปลาพื้นถิ่นบางชนิดอาจสูญพันธุ์ได้

โดยที่ผ่านมา สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) จัดกิจกรรมรณรงค์เกี่ยวกับการทำบุญไม่ทารุณสัตว์ การยุติการจับสัตว์ในธรรมชาติมาเพื่อปล่อย การปล่อยละทิ้งสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควรอย่างต่อเนื่อง แต่กิจกรรมการปล่อยสัตว์เพื่อทำบุญนั้น มักถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นข้ออ้างของนักกิจกรรมด้านความเมตตากรุณาต่อสัตว์ หรือเพื่อความสบายใจของการเป็นผู้ให้ชีวิตเพื่อสร้างชีวิตใหม่ ผู้นำกิจกรรมและผู้แสวงบุญมักคิดว่าเป็นธรรมเนียมการปฏิบัติที่สืบทอดต่อกันมา และยึดโยงกับความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนาแต่วิธีการดำเนินการนั้นล้วนนำมาสู่การทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์โดยไม่สมควร ไม่ว่าการจับสัตว์เพื่อมาปล่อยด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะการดัก จับ ยิง ต้อน เรียก ล่อ ไล่ ก็ล้วนเป็นการทำให้สภาพชีวิตสัตว์อยู่อย่างไม่อิสระตามธรรมชาติ การขังก่อนนำสัตว์มาปล่อยในพื้นที่จำกัด หรือแม้แต่การปล่อยสัตว์ในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น หากปล่อยเต่าในน้ำเชี่ยวที่ไม่มีตลิ่งให้เกาะหรือปล่อยเต่าในน้ำกร่อยตาเต่าจะค่อย ๆ บอดและก็จะตายไปในที่สุด หอยขมต้องอยู่ในที่ชื้นแฉะ เช่น บึงคลอง ไม่ใช่แม่น้ำ ปลาไหลก็เช่นกัน อยู่ไม่รอดเช่นกันในน้ำเชี่ยวไหลแรง และสำหรับปลาที่จับตามธรรมชาติ หรือซื้อจากท้องตลาดและปล่อยในแม่น้ำก็เช่นกัน ต้องระวัง เพราะปลาอาจจะช็อกในน้ำที่มีอุณหภูมิและสิ่งแวดล้อมแตกต่างจากที่เคยเติบโตมาได้

ที่สำคัญการปล่อยสัตว์เพื่อทำบุญในปัจจุบันก็ล้วนเป็นการสนับสนุนวงจรธุรกิจค้าชีวิต ที่จะแสวงหาผลกำไรที่เกิดจากการทรมานสัตว์ และควรยุติการทำลายสัตว์ตามธรรมชาติ รบกวนวงจรชีวิตและความสงบสุขของพวกเขา หรือแม้แต่การเลี้ยงและค้าชีวิตสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งจะนำมาสู่การทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์โดยไม่สมควรเกือบทั้งสิ้นอีกด้วย

สำหรับการเลี้ยงปลา และการปล่อยปลา ในปัจจุบันต้องดูเจตนาและพฤติกรรมรวมทั้งผลของการกระทำ เพราะปลาอาจถือเป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อเป็นเพื่อน เพื่อใช้เป็นอาหาร หรือเลี้ยงเพื่อการอื่นใด เจ้าของปลาต้องมีหน้าที่ ในการดำเนินการจัดสวัสดิภาพ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด โดยห้ามการกระทำการทารุณกรรมอันไม่มีเหตุอันสมควร และห้ามมิให้เจ้าของปล่อยละทิ้ง หรือการกระทำใด ๆ ให้สัตว์นั้นพ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งถ้าการกระทำอาจเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ได้

ดังนั้น การทำบุญด้วยการปล่อยสัตว์ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็จะเป็นการดี แต่ถ้ามีความจำเป็นหรือตั้งใจจริง ๆ ก็ควรศึกษาข้อมูลประกอบให้ครบถ้วนรอบด้าน อย่าทำบุญแค่เพื่อความสะดวกสบายใจของตนเองเพียงอย่างเดียว เพราะผลกระทบอาจมากกว่าที่เราคิด ซึ่งการทำบุญด้วยวัตถุทานและเจตนาที่ดีก็เป็นสิ่งที่ดีงาม แต่ก็ควรมีสติและปัญญากำกับในการทำบุญจึงจะเป็นบุญทานอันบริสุทธิ์อย่างแท้จริง.