ที่แน่ ๆ ก็คือบนเส้นทางการจะพลิกโฉมการเมืองยุคเก่าไปสู่การเมืองยุคใหม่ บนเส้นทางไปสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยนั้น นับวัน “แรงเสียดทาน” ดูจะรุมเร้าหลายด้านและรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งกับอนาคตการเมืองไทยก็คงต้องจับตากันต่อไป… อย่างไรก็ตาม หากจะโฟกัสในภาพรวมกับคำว่า “แรงเสียดทาน” แล้วล่ะก็…วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีแง่มุมมาให้พิจารณากัน…

คำว่า “แรงเสียดทาน” นี่ “มีนิยามน่ารู้”

มีทั้ง “มุมฟิสิกส์” และ “มุมสังคมวิทยา”

มาพิจารณากันระหว่างรอดูการเมือง…

ทั้งนี้ คำว่า “แรงเสียดทาน (friction)” นั้น หากดูคำอธิบายทาง“ศาสตร์ฟิสิกส์” ก็มีข้อมูลใน เว็บไซต์ครูฟิสิกส์ไทย www.thaiphysicsteacher.com ที่ได้แจกแจง “นิยาม” คำนี้ไว้ว่า… ในทางฟิสิกส์ แรงเสียดทานในธรรมชาติ (Friction Force) จะมีอยู่หลายชนิด เช่น แรงเสียดทานอากาศ แรงเสียดทานระหว่างผิววัตถุ ซึ่งแรงเสียดทานระหว่างผิววัตถุก็จะสามารถแบ่งพิจารณาออกได้เป็น 2 ช่วง คือ หากเป็นช่วงที่วัตถุยังไม่เคลื่อนที่ กรณีนี้จะเรียกว่า “แรงเสียดทานสถิต” หรือ Static Friction ส่วนอีกกรณี ถ้าหากเป็นช่วงที่วัตถุเคลื่อนที่แล้ว ก็จะเรียกว่า “แรงเสียดทานจลน์” หรือ Kinetic Friction

สำหรับคำอธิบาย “แรงเสียดทาน” ทั้ง 2 ชนิด 2 ช่วงนี้นั้นในแหล่งข้อมูลเดิมได้อธิบายไว้สรุปได้ว่า… “แรงเสียดทานสถิต” นั้น เป็นแรงที่ต้านทานการเคลื่อนที่ ของวัตถุ โดยที่จะอยู่ตรงกันข้ามกับแรงพยายาม เมื่อ แรงพยายามมีไม่มากพอที่จะเอาชนะแรงต้านได้ หรือไม่สามารถทำให้เคลื่อนที่ไปได้ ก็จะเรียกกรณีนี้ว่าแรงเสียดทาน “สถิต” นั่นเอง ในขณะที่อีกหนึ่งชนิดแรงเสียดทาน คือ “แรงเสียดทานจลน์” นั้น เป็นแรงที่ต้านการเคลื่อนที่ของวัตถุที่เริ่มเคลื่อนที่ โดยมีแรงตรงกันข้ามกับแรงพยายามเมื่อ แรงต้านมีค่าน้อยกว่า หรือเท่ากับแรงพยายาม ก็จะเรียกว่าแรงเสียดทาน “จลน์”

ถ้าเปรียบกับ “การเมืองยามนี้” ก็น่าคิด

“เสียดทาน…จะแค่จลน์? หรือถึงสถิต?”

จากฟิสิกส์…มาดู “แรงเสียดทาน” ใน “มุมสังคมวิทยา” ที่ก็มีข้อมูลน่าสนใจในบทความโดย วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์ นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร บทความชื่อ “แรงเสียดทานในโลกทางสังคม” ที่เผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์ www.sac.or.th โดยมีการระบุไว้ว่า… ในโลกวิทยาศาสตร์ “แรงเสียดทาน” หมายถึง “แรงต้านการเคลื่อนที่” ของวัตถุระหว่างพื้นผิว ที่วัตถุ 2 ชิ้นสัมผัสกันในทิศทางตรงกันข้ามกับแรงเคลื่อนที่ ซึ่งขนาดแรงเสียดทานจะขึ้นกับลักษณะและพื้นผิววัตถุที่ต้านทานกัน โดยการเกิดขึ้นของแรงนี้ก็จะนำไปสู่การที่วัตถุ “ชะลอการเคลื่อนที่ช้าลง” หรืออาจถึงขั้นส่งผลต่อวัตถุ “ทำให้หยุดนิ่งไป”

ขณะที่การศึกษา “แรงเสียดทาน” ในเชิง มิติการเคลื่อนย้ายศึกษา (mobility studies) ในทางสังคมวิทยา โดยเฉพาะ การเคลื่อนย้ายที่เป็นผลรวมของการเคลื่อนที่ด้วยประเด็นของอำนาจ นั้น กรณีนี้…การพิจารณาแรงเสียดทานการเคลื่อนย้ายทางสังคมนั้น “ความหมายของแรงเสียดทาน” ในที่นี้ไม่ได้จำกัดแค่การเคลื่อนที่ แต่ ยังรวมถึงการให้ความหมายที่เป็นผลมาจากการใช้อำนาจในลักษณะต่าง ๆ กัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ แรงเสียดทานถือเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งดำรงอยู่และรู้สึกได้ในชีวิตประจำวัน …นี่เป็นคำอธิบาย “แรงเสียดทานในทางสังคม”

นอกจากนี้ ทางผู้จัดทำบทความเรื่องนี้ยังได้มีการระบุถึง “แรงเสียดทานในทางสังคม” นี้ไว้อีกว่า… นัยสำคัญของแรงเสียนทานแบบนี้ได้ทำให้เกิดความสนใจในการศึกษาเกี่ยวกับวิถีทางการเคลื่อนที่ของผู้คน สิ่งของ และความคิด ตลอดจนแรงเสียดทานนั้น ยังฉายภาพให้เห็นถึง “สังคมเครือข่าย (network society)” ที่เคลื่อนย้ายไหลเวียน เข้าแทนที่พื้นที่ หรือเครือข่ายเดิม หรือ สะท้อนให้เห็น “กระบวนการโลกาภิวัตน์” ที่เป็น “ตัวการนำสังคมหนึ่งไปสู่อีกสังคมหนึ่ง” อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาในเชิง “การเคลื่อนย้ายศึกษา” จะไม่เพียงให้ความสนใจการเคลื่อนย้ายโดยราบรื่นเท่านั้น แต่ยังสนใจศึกษา การทำงานของ “แรงเสียดทาน” ที่ดำรงอยู่ในการเคลื่อนย้าย ด้วย เนื่องจากวัตถุไม่อาจเคลื่อนย้ายได้หากขาดแรงที่เข้ามากระทำ ซึ่งแรงที่เข้ามากระทำก็คือ “แรงต้าน” หรือ “แรงเสียดทานทิศทางตรงข้าม” นั่นเอง ดังนั้น “แรงเสียดทาน” ในที่นี้จึงหมายถึง “ภาวะกำกวมของการหยุดนิ่ง” ที่ “มีทั้งแรงขัดขวางและแรงส่งเสริม” ในเวลาเดียวกัน

“แรงเสียดทานเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีมิติการเมืองในตัวเอง ซึ่งภาวะกำกวมจะยิ่งนำไปสู่วิถีทางการเคลื่อนที่ของผู้คนและความคิด และถ้าโลกแห่งความเป็นจริงไม่เป็นไปดั่งใจคิด กรณีนี้จะยิ่งทำให้เกิดแรงเสียดทานขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นแรงเสียดทานทางสังคม แรงเสียดทานของระยะเวลา แรงเสียดทานของอำนาจ รวมถึงแรงเสียดทานของการปะทะ!!” …นี่เป็นคำอธิบายผ่าน “มุมสังคมวิทยา” ว่าด้วย “แรงเสียดทาน”…

“แรงเสียดทาน” ดูลึก ๆ “มีหลายแง่มุม”

มี “มุมฟิสิกส์” และมี “มุมสังคมวิทยา”

รวมถึงมี “มุมที่ยึดโยงมิติการเมือง” …โดยที่ “มีทั้งแรงขวาง!!-แรงหนุน!!”.