เกาหลีหนือส่งจรวด “ช็อลลิมา-1” ซึ่งเป็นจรวดที่ได้รับการพัฒนารุ่นล่าสุด เป็นพาหนะนำส่งดาวเทียมสอดแนมทางทหาร “มัลลิกย็อง-1” ออกจากฐานปล่อยดาวเทียมโซแฮ ที่เป็นศูนย์ปฏิบัติงานด้านอวกาศแห่งสำคัญของเกาหลีเหนือ ตั้งอยู่ในเขตโชลซาน ของจังหวัดพย็องอันเหนือ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา
แม้ความพยายามดังกล่าวประสบกับความล้มเหลว แต่การที่ น.ส.คิม โย-จอง น้องสาวของนายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือ ประกาศว่า จะพยายามส่งจรวดปล่อยดาวเทียมอีกครั้ง “ภายในอนาคตอันใกล้นี้” ยิ่งบ่งชี้ชัดมากขึ้นไปอีกว่า สำหรับเกาหลีเหนือ “ความอยู่รอดของรัฐ” ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “ความมั่นคงทางทหาร” ไม่ใช่การดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ
โครงการอาหารโลก (ดับเบิลยูเอฟพี) และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) คาดการณ์ว่า “ประชากรจำนวนมหาศาล” ในเกาหลีเหนือ กำลังทุกข์ทรมานกับการแทบไม่มีอาหารเพียงพอแก่การบริโภค และ “การขาดความหลากหลายทางโภชนาการ” อันเนื่องมาจากวิกฤติเศรษฐกิจซึ่งยังคงกัดกร่อนทุกโครงสร้างของประเทศ ทั้งจากมาตรการคว่ำบาตรของประชาคมโลก และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
นอกจากนี้ ภาวะความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการเพาะปลูก ทำให้ไม่สามารถมีผลผลิตทางการเกษตรเพียงพอ ความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหารของเกาหลีเหนือ จึงเป็นสถานการณ์ที่น่าวิตกกังวลมาตลอด
ยิ่งไปกว่านั้น การแจกจ่ายหรือการปันส่วนอาหารเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมากในเกาหลีเหนือ ทั้งที่มาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญเกาหลีเหนือระบุว่า พลเมืองทุกคนจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมจากรัฐ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากรัฐบาลเปียงยางมีบรรทัดฐานทางสังคม ที่เรียกว่า “ซองบุน” (Songbun) และการเน้นเฉพาะ “กลุ่มหลัก” ซึ่งถือเป็นชนชั้นสูง ที่แน่นอนว่า คือ ตระกูลคิม และทหารระดับสูง ซึ่งเกาหลีเหนือถือว่า “เป็นกำลังหลักของประเทศ” แต่ภายในกองทัพก็ยังมีการแบ่งลำดับขั้นกันเองเช่นกัน
ขณะที่ข้อมูลจากสถาบันเกาหลีเพื่อการรวมชาติ (Korea Institute for National Unification) หรือ เคไอเอ็นยู (KINU) องค์กรวิชาการอิสระซึ่งศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับการรวมชาติ และได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาลเกาหลีใต้ ระบุว่า ความต้องการบริโภคธัญพืชในเกาหลีเหนือ ไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวโพด หรือข้าวบาร์เลย์ รวมกันอยู่ที่ประมาณปีละ 5.5 ล้านตัน นับตั้งแต่ปี 2559 แต่เกาหลีเหลือผลิตธัญพืชเหล่านี้ได้เองประมาณปีละ 4.6 ล้านตัน
ส่วนต่างที่ขาดหายไปเกือบ 1 ล้านตันโดยประมาณนั้น เพียงพอเลี้ยงดูชาวเกาหลีเหนือทั้งประเทศราว 26 ล้านคน “ได้นานหลายเดือน” กระนั้น การที่ยังคงมีประชาชนในเกาหลีเหนือล้มตายทุกวัน ด้วยสาเหตุจากการไม่ได้รับประทานอาหารอย่างเพียงพอเป็นเวลานาน สะท้อนว่า รัฐบาลเปียงยางไม่ได้ดูแลสิทธิพื้นฐานของพลเมืองอย่างเพียงพอ ต่อให้มีการบัญญัติชัดเจนอยู่ในรัฐธรรมนูญก็ตาม และแม้ได้รับความช่วยเหลือด้านอาหาร และวัตถุดิบเพื่อทำการเกษตรจากจีน ก็ใช้ว่าจะเพียงพอในระยะยาว
จนถึงปัจจุบัน เคไอเอ็นยูประเมินว่า เกาหลีเหนือลงทุนด้านการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์และอาวุธยุทโธปกรณ์ไปแล้ว 1,000-1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 34,786.50-55,658.40 ล้านบาท) “เป็นอย่างน้อย” หากนำงบประมาณเหล่านี้ไปใช้เพื่อการจัดซื้อจัดหาอาหารให้แก่ประชาชน จะเพียงพอแก่ความต้องการบริโภคของชาวเกาหลีเหนือทั้งประเทศได้นาน 1 ปีครึ่ง ถึง 2 ปี โดยไม่จำเป็นต้องมีการปันส่วนตามชนชั้นทางสังคม
โดยสรุป วิกฤติอาหารของเกาหลีเหนือเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ซึ่งรวมถึงการที่ภาครัฐทำงบประมาณแทบทั้งหมดไปใช้เพื่อการทหารและความมั่นคง และนโยบายภายในที่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งยังขาดประสิทธิภาพและการตรวจสอบ
ตราบใดที่สถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป และไม่มีการดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง ประชาคมโลกคงต้องเฝ้ามองชาวเกาหลีเหนือเสียชีวิตเพิ่มขึ้นแทบทุกวัน เพราะไม่มีอาหารบริโภคอย่างเพียงพอ โดยไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่าการประณามรัฐบาลเปียงยาง ขณะที่มาตรการกดดันทางเศรษฐกิจ ซึ่งยิ่งมากเท่าไหร่ แรงบีบคั้นจะตกอยู่ที่ประชาชนมากขึ้นเท่านั้น.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP