วันนี้คอลัมน์นี้จะมาพูดคุยเรื่องนี้ ทั้งนี้ “LGBTQI+” นั้น ประกอบด้วยคำว่า “L=Lesbian” หญิงรักหญิง, “G=Gay” ชายรักชาย, “B=Bisexual” คนที่รักได้ทั้งสองเพศ, “T=Transgender” บุคคลข้ามเพศ, “Q=Queer” บุคคลที่ไม่จำกัดเพศ, “I=Intersex” คนที่มีสรีระและโครโมโซมไม่ตรงเพศสภาพ หรือมีส่วนผสมของทั้งสองเพศ และ “N=Non-Binary” บุคคลที่อยู่นอกเหนือการจัดกลุ่ม ซึ่งความหลากหลายทางเพศนั้นก็มีการพัฒนาชื่อใหม่ไปเรื่อยๆ ซึ่งข้อมูลของสภาพัฒน์นั้น เมืองไทยเรามีคนกลุ่มนี้อยู่เกือบ 5 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 6% แต่ผมคิดว่าที่ยังไม่เปิดเผยตัว และยังไม่เข้าใจตัวเองน่าจะมีมากกว่านั้น

เกี่ยวกับเรื่อง “ความหลากหลายทางเพศ” นั้น ในวันนี้เราก็มีโอกาสได้นั่งจิบกาแฟคุยกับ ดร.ณัฐวุฒิ พิมพา กรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ เพื่อพูดคุยเรื่องนี้ ซึ่งผมเริ่มด้วยการถามว่าทำไมต้องมีการเฉลิมฉลอง Pride Month ในเดือน มิ.ย. โดย อจ.ณัฐวุฒิ เล่าว่า เดือน มิ.ย. เป็นช่วงเวลาที่คนกลุ่มนี้จะเฉลิมฉลองทั่วโลกเพื่อแสดงความสำคัญของความหลากหลายทางเพศเพื่อให้สังคมเปิดใจ รวมถึงมีกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจและส่งเสริมเรื่องของการเคารพในความแตกต่างของผู้คนในศตวรรษที่ 21 ซึ่งผมได้บอกกับ อ.ณัฐวุฒิ ว่าเรื่องนี้สำคัญมาก แต่ผู้คนไม่ค่อยพูดถึง ซึ่งถ้าย้อนไปยุค 60 ที่ New York มีความขัดแย้งระหว่างตำรวจกับคนที่เที่ยวบาร์เกย์ จนคนกลุ่มนี้ได้ออกมาแสดงพลังในสวนสาธารณะที่ Greenwich Village จนวันที่ 28 มิถุนายน 1969 ก็มีการปะทะกันอย่างรุนแรงที่ Stonewall Inn และเป็นจลาจลอยู่นานหลายวัน จนสังคมหันมาสนใจเรื่องนี้ ชุมชน LGBTQI+ จึงเลือกจัดงานเฉลิมฉลองในเดือนนี้ และผมก็ได้ถาม อ.ณัฐวุฒิ อีกว่า การขับเคลื่อนเรื่องนี้ เริ่มมากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว และเป้าหมายความยั่งยืน SDG 5 เรื่องความหลากหลายเท่าเทียมทาง เพศก็มีคนสนใจมาก แล้วปัญหาปัจจุบันคืออะไร? ซึ่ง อ.ณัฐวุฒิ บอกว่าเวลานี้สังคมยอมรับเรื่องนี้มากขึ้น โดยไทยก็ส่งเสริมเรื่องนี้ได้ดีไม่แพ้ใคร และกระทรวง พม. ก็มีกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศที่ทำงานระดับนโยบายร่วมกับ UN และองค์กรระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม แต่ถ้า Monitor และดูรายละเอียดในรายงานความยั่งยืนของบริษัทชั้นนำ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานรัฐ หรือมหาวิทยาลัยต่างๆ แล้ว กลับพบว่าประเด็นนี้ยังได้รับความสนใจน้อยกว่า SDG หัวข้ออื่นๆ ซึ่งผมได้ถามต่อไปว่า แล้วเราควรทำอะไร? ซึ่ง อ.ณัฐวุฒิ บอกว่า เราสามารถส่งเสริมเรื่องนี้ให้เข้าไปในนโยบายของบริษัทหรือหน่วยงานได้ เพราะในองค์กรชั้นนำของโลกก็จะมีแนวนโยบายและเจตนารมณ์ในการดำเนินกิจการว่าด้วยการส่งเสริมความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียมกัน โดยมีคำมั่นสัญญากับผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งบริษัทชั้นนำระดับโลกหลายแห่งตั้งใจใส่เรื่องนี้เข้าไปใน DNA องค์กร เพราะเมื่อมีวิสัยทัศน์กับพันธกิจที่ดีแล้ว ก็จะสร้างสิ่งแวดล้อมการทำงานที่ไม่เลือกปฏิบัติ จนเกิดการเคารพในความหลากหลาย ความเป็นมนุษย์ และไม่เลือกปฏิบัติต่อเพศ วัย เชื้อชาติ สีผิว ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม และความเชื่อ และ อ.ณัฐวุฒิ ยังกล่าวว่า องค์กรหลายแห่งเวลานี้จะมีคู่มือวิธีปฏิบัติเรื่องความหลากหลายเท่าเทียม ตั้งแต่การคัดเลือกพนักงาน ฝึกอบรม การพัฒนาความก้าวหน้าของหน้าที่การงาน สิทธิต่างๆ ที่เหมาะกับเพศสภาพ จนถึงการเกษียณอย่างเป็นธรรมเท่าเทียม โดยมีหน่วยงาน HR เป็นแกนนำสำคัญ และกับความหลากหลายทางเพศนี้ องค์กรต่างๆ ก็สามารถใส่เรื่องนี้ไว้ในรายงานความยั่งยืนได้ ในมุมของ ESG (Environment, Social and Governance) โดยใช้แนวทางกับมาตรฐาน GRI (Global Report Initiative) ภายใต้ GRI 401 ว่าด้วยการจ้างงาน และ GRI 405 ว่าด้วยความหลากหลายและเท่าเทียม โดยใส่ไว้ในรายงานความยั่งยืน เพื่อจัดทำเป็นสาระสำคัญการส่งเสริมความเท่าเทียม ตั้งแต่แนวนโยบาย การปฏิบัติ จนถึงผลงานที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในแต่ละปี

อ.ณัฐวุฒิ ยังย้ำด้วยว่า ในเดือน มิ.ย. ทีม HR องค์กรต่างๆ น่าจะได้ใช้ Pride Month เป็นโอกาสให้ wow ไปด้วยกันร่วมกับผู้คนทั่วโลก ทั้งนี้ หลังได้ “จิบกาแฟคุย” กับ “ดร.ณัฐวุฒิ พิมพา” แล้วผมก็เกิดรอยยิ้มที่มีความหวัง และมีไฟขึ้นอีกครั้ง ซึ่งวินาทีนั้นเองภาพบาร์ยุค 70 แถว Greenwich Village ใน Manhattan ก็แวบขึ้น พร้อมเสียงเพลง YMCA ของ Village People จนผมแทบจะลุกขึ้นไปหาชุดตำรวจมาใส่ และออกมาเต้นฉลอง Pride Month อย่างมีความสุขกับเพื่อนทุกคน.