รวมถึงคำถามที่ว่า ระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านไป เราเดินทางไปใกล้เป้าหมายความยั่งยืนได้แค่ไหนแล้ว ซึ่งทำให้ผมนั่งครุ่นคิดมาตลอดทาง จนมาถึงที่จอดรถใต้ดินของอาคาร ก็ได้คำตอบโดยไม่ต้องถาม และยิ่งผมได้เดินขึ้นไปถึงห้องโถงของศาลาว่าการกรุงเทพฯ ผมก็คงได้แต่เพียงเก็บคำถามนี้ไว้ในใจ

ทั้งนี้ เมื่อไปดูชื่อของ “มหานครแห่งความยั่งยืนระดับโลก” ส่วนใหญ่ระดับ Top 5 นั้นจะเป็นเมืองในยุโรปแทบทั้งสิ้น และจะมีเพียงบาง Ranking ที่มี “สิงคโปร์” เข้าไปร่วมในรายชื่อเมืองแห่งความยั่งยืนเหล่านั้น และเมื่อดูหลายๆ Ranking ก็พบชื่อ “เมือง Gothenburg ประเทศ Sweden” ซึ่งเป็นที่โดดเด่น และมีลักษณะคล้ายกับบ้านเรา โดย Gothenburg เป็นเมืองท่า ที่มีท่าเรือขนส่งสินค้า มีเขตอุตสาหกรรม และที่พักอาศัยอายุเก่าแก่หลายร้อยปี ตลอดจนมีย่านธุรกิจสมัยใหม่ รวมถึงมีมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ซึ่งช่วงที่ความยั่งยืนกำลังเป็นปัญหาใหญ่ในยุโรป เมืองนี้ก็เป็นหนึ่งในเมืองเจ้าปัญหาที่ประชาชนคุยกันว่าเมืองของเขาจะเป็นเมืองอุตสาหกรรมแบบมีมลพิษมากขึ้นทุกวัน จนคุณภาพชีวิตลูกหลานลดต่ำลงเรื่อยๆ ที่ถึงกับใช้คำแรงๆ ว่าเรากำลังถึงทางแยก ระหว่างไปนรกหรือสวรรค์ และ ณ จุดนั้นเองที่ผู้ว่าการเมือง Gothenburg ตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนแปลงเมือง และนำอนาคตที่ยั่งยืนส่งต่อให้ลูกหลาน โดยเริ่มจากพูดคุยกับผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะนักธุรกิจกับนักอุตสาหกรรมให้ร่วมกันรับผิดชอบ และลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว นอกจากนั้น ผู้ว่าฯ ของเมืองนี้ ยังทำงานใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัย 2-3 แห่ง เพื่อให้สร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลกที่เมืองจะนำมาใช้ได้จริง โดยหนึ่งในนั้นคือ ระบบขนส่งแบบ Net Zero โดยความร่วมมือกับบริษัท Volvo ที่มีฐานธุรกิจที่นั่น เพื่อพัฒนายานยนต์ไฟฟ้ารูปแบบต่างๆ ทั้งรถไฟฟ้าส่วนบุคคล รถและเรือขนส่งสาธารณะ และรถไฟฟ้าขนส่งสินค้า ตลอดจนระบบชาร์จไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ กับระบบเชื่อมโยงการขนส่งอัจฉริยะ รวมถึงแหล่งผลิตไฟฟ้าใหม่ๆ จากขยะและไฟฟ้าทางเลือกต่างๆ นอกจากนี้ยังได้คิดค้นนวัตกรรมทางการเงินและกองทุนสีเขียว เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างเป็นระบบ

ในขณะที่มหาวิทยาลัยก็ใช้เมืองนี้เป็นห้องทดลองที่มีชีวิต เพื่อให้นักศึกษา อาจารย์ ชุมชน และภาคธุรกิจคิดค้นทดลองนวัตกรรมไปด้วยกัน โดยมีชื่อเรียกว่า “Community Living Lab” ทำให้งานวิจัยมิได้อยู่บนหิ้งอีกต่อไป แต่กลายเป็นธุรกิจ Startup ใหม่ๆ ที่นำไป Scaleup ได้ทั่วโลก นอกจากนี้ ยังออกแบบผังเมืองและระบบเดินทางใหม่ที่ยังคงรักษาย่านเก่าแก่ไปพร้อมกับการเชื่อมโยงย่านพักอาศัยใหม่ๆ ที่ออกแบบโดยเน้นความยั่งยืน ด้วยวัสดุและวิธีก่อสร้างรักษ์โลก ตลอดจนมีการเพิ่มพื้นที่สีเขียว พื้นที่สาธารณะ พื้นที่รับน้ำฝนให้สมบูรณ์ เพื่อให้เป็นปอดขนาดใหญ่ของเมือง ส่วนเขตอุตสาหกรรมและย่านที่พักอาศัย ก็มีการเชื่อมโยงระบบนิเวศทั้งบนบกและในน้ำ ให้มีความหลากหลายและกลมกลืนอย่างพอดี อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เป้าหมายนี้สำเร็จ เมืองจึงมอบให้ “สำนักสิ่งแวดล้อมยั่งยืน” ทำหน้าที่เป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายและผลักดันกฎระเบียบทางราชการ ตลอดจนแต่งตั้ง “ผู้จัดการความยั่งยืนของเมือง” ที่มีกรรมการความยั่งยืนซึ่งคัดเลือกจากตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนมาร่วมทำงานซึ่งทำให้ Gothenburg เริ่มเปลี่ยนเมืองไปสู่ความยั่งยืน และแผนงานนี้ก็ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ก่อนศตวรรษที่ 21 จะมาถึง

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ไม่นานหลังจากที่ Gothenburg เริ่มดำเนินการแผนเปลี่ยนแปลงเมือง ในช่วงหลังจากนั้นไม่นานประเทศไทยในปี 2551 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในยุคนั้น ก็ได้มีความคิดเรื่องความยั่งยืนคล้ายกัน และก็มีการแต่งตั้งคณะทำงาน CSR และความยั่งยืนของ กทม. ซึ่งผมและนักธุรกิจสายความยั่งยืนหลายท่านถูกทาบทามให้มาช่วย กทม. ในช่วงนั้นแต่น่าเสียดายที่เราประชุมวางแผนความยั่งยืนกันได้เพียงแค่ไม่กี่ครั้ง ก็มีเหตุที่ต้องเปลี่ยนผู้ว่าฯ อย่างกะทันหัน แล้วต่อจากนั้นมา คณะกรรมการความยั่งยืนของ กทม. ก็ไม่มีโอกาสประชุมกันอีกเลยจวบจนถึงในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการความยั่งยืนในครั้งนั้น ทุกคนก็ยังคงทำงานแบบจิตอาสา เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงร่วมกับข้าราชการเขตต่างๆ ของ กทม. อย่างต่อเนื่อง อาทิ “กลุ่มพลเมืองเปลี่ยนกรุงเทพ” ที่มี อ.พงศ์พร สุดบรรทัด แห่ง Urban Action และ “เครือข่ายเจ้าพระยา คลอง เมือง” ที่ได้มาร่วมพัฒนาที่อยู่อาศัยและระบบนิเวศใหม่ของคลองลาดพร้าว จนเชื่อมโยงไปสู่เครือข่ายคลองโอ่งอ่าง คลองแสนแสบ และเครือข่ายคลองฝั่งธน จนถึงออกทะเลในเขตบางขุนเทียน รวมถึงมีความร่วมมือจากเครือข่ายอาจารย์และนักวิชาการในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในเขตฝั่งธน ซึ่งใช้พื้นที่รอบๆ มหาวิทยาลัยเป็น “Community Living Lab” อาทิ มหาวิทยาลัยสยาม, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, อาศรมศิลป์ ที่ช่วยกันพัฒนาชุมชนริมคลองภาษีเจริญ คลองบางขุนเทียน และชุมชนอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ก็ยังมีน้องๆ รุ่นใหม่ อาทิ กลุ่มยังธน, ทีม Urban Assajan, ทีม Beyond ที่ช่วยนำนวัตกรรมดิจิทัลมาช่วยสื่อสาร และทำแผนผังภูมินิเวศ เพื่อพัฒนาเมืองแห่งความยั่งยืนอีกด้วย โดยยังไม่รวมกลุ่มจิตอาสารุ่นใหม่ๆ ที่สร้างความร่วมมือกัน เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเรื่องนี้ได้สะท้อนถึง “SDGs Collaboration” ที่คนตัวเล็กตัวน้อยพยายามเชื่อมต่อการทำงานระหว่างกัน เกี่ยวกับ SDG 17 ข้อ โดยได้มีการนำมาพูดคุยกันเพื่อขับเคลื่อนงานกัน ผ่านแพลตฟอร์มใหม่ที่เรียกว่า “Discord” และนอกจากกลุ่มจิตอาสาและเครื่องข่ายเหล่านี้แล้ว นี้ก็ยังมีกลุ่มจิตอาสาอื่นๆ อีกมากมายที่มิได้กล่าวถึงในที่นี้ เช่น กลุ่มกรุงเทพเมืองจักรยาน ที่ยังคงมีฝันแห่งความยั่งยืนนี้แบบเดียวกัน

อย่างไรก็ดี ระยะเวลา 1 ปีผ่านไป ผู้มีส่วนได้เสียต่างอาสากันขับเคลื่อนมหานครแห่งความยั่งยืนนี้กันไปตามแรงของแต่ละคน แต่ละเครือข่าย จึงทำให้เกิดคำถามว่า ถึงเวลาหรือยัง? ที่ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร และทีมงาน จะเหลือบมอง “Gothenburg  Model” แล้ว แต่งตั้งผู้จัดการความยั่งยืนคนแรกของ กทม. กับปลุกคณะกรรมการความยั่งยืนของมหานครแห่งนี้ ให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งเพื่อทำแผนยุทธศาสตร์แห่งอนาคตที่ยั่งยืน เพื่อที่เราจะได้มี Road Map เดียวกัน เพื่อเดินทางสู่ความยั่งยืนไปด้วยกันอย่างมีความหวัง ซึ่งในระหว่างที่ขับรถวนอยู่ในที่จอดรถหลายรอบแล้วก็คิดเรื่องนี้ไปเรื่อยเปื่อย ผมก็โชคดีเพราะเห็นมีที่จอดรถพอดี เลยคิดได้ว่าน่าจะเสนอให้ทดลองตั้งผู้จัดการความยั่งยืนของศาลาว่าการก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อทดลองจัดการความยั่งยืนเล็กๆ ในบ้านให้สำเร็จเสียก่อน แล้วค่อยไปทำเรื่องความยั่งยืนใหญ่ๆ ของมหานครของแห่งนี้ ว่าแล้วผมก็กระโดดลอยตัวโชว์ความยั่งยืนที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีอย่างมีความหวัง.