ที่ส่งสัญญาณชัด ๆ และทุกคนต้องฟังคือคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย รอไม่ไหวกับหายนะที่กำลังจะเกิดยื่นหนังสือขอให้รัฐบาล เร่งทำแผนรับมือภัยแล้งระยะเร่งด่วน 3 ปี และระยะยาว โดยเฉพาะปริมาณนํ้าในภาคตะวันออกที่ลดลง กระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร หากเตรียมรับมือไม่ทันจะเป็นการซํ้าเติมต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการและราคาสินค้าเกษตรและอาหารขึ้นต่อเนื่อง

ครั้งนี้ลองไปดูการตั้งรับของหน่วยงานสำคัญอย่าง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดูแลนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่ใหญ่ของภาคอุตสาหกรรม หากได้รับผลกระทบในเรื่องนํ้าแล้ง จะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมทั้งรายใหญ่ รายกลาง รายเล็ก รวมถึงความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติทันที โดยเรื่องนี้ วีริศ อัมระปาล” ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุกับ “Green Together” ว่า ประเด็นนี้ กนอ.ไม่ได้นิ่งนอนใจได้ให้ผู้บริหารทุกนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 68 แห่งทั่วประเทศ ติดตามข้อมูลสถานการณ์นํ้าอย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามข้อมูลพยากรณ์อากาศในพื้นที่แบบละเอียด

เบื้องต้น กนอ. ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ปีนี้ปริมานฝนตกรวมน้อยลงจากปีก่อน 39% ซึ่งระดับนํ้าในอ่างเก็บนํ้าหลักของกรมชลประทานยังอยู่ระดับ 60-70% ปริมาณนํ้าในอ่างเก็บนํ้าหลักภาคตะวันออก ยังคงมีนํ้าเพียงพอสำหรับการใช้นํ้าปีนี้ แต่ถ้าในปีนี้ปริมาณฝนที่ตกน้อยอาจจะส่งผลกับปริมาณนํ้าในอ่างเก็บนํ้าภาคตะวันออกในปีหน้า ซึ่งในส่วนของ กนอ. มีการเพิ่มแหล่งนํ้าสำรองสำหรับนิคมอุตสาห กรรมมาบตาพุด ประมาณ 200,000 ลบ.ม.ต่อวัน และนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ประมาณ 15,000 ลบ.ม.ต่อวัน

ภาพรวมสถานการณ์นํ้าในพื้นที่จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ช่วง มี.ค. 66 สถานการณ์นํ้าในพื้นที่จังหวัดระยองปริมาณนํ้าไหลลงอ่างฯ ใกล้เคียงค่าเฉลี่ย 10 ปี ปริมาณนํ้าในอ่างเก็บนํ้าหลัก ดอกกราย หนองปลาไหล คลองใหญ่ ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ สถานการณ์นํ้าในพื้นที่ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ปริมาณนํ้าไหลลงอ่างฯ ใกล้เคียงค่าเฉลี่ย 10 ปี โดยปริมาณนํ้าในอ่างเก็บนํ้าบางพระ และอ่างเก็บนํ้าหนองค้อ มีปริมาณนํ้ารวมทั้ง 2 อ่าง อยู่ในเกณฑ์ปกติ มีปริมาณนํ้ารวม 102.2 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 73.9% ของปริมาณนํ้ารวมทั้ง 2 อ่างเก็บนํ้า

นอกจากนี้ยังได้ผลิตนํ้าจืดจากนํ้าทะเลอีกด้วย โดย กนอ. จัดทำแผนลดความเสี่ยงของการขาดแคลนนํ้า เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านนํ้าในพื้นที่นิคมอุตสาห กรรมมาบตาพุดในช่วง 20 ปี (ถึงปี 80) โดยจัดทำโครงการศึกษาการผลิตนํ้าจืดจากนํ้าทะเล โดยเร่งดำเนินการศึกษาแนวทางการสกัดนํ้าทะเลเป็นนํ้าจืด แต่ด้วยต้นทุนที่ยังสูง จึงต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน โดยนํ้าจืดที่ได้ต้องมีประสิทธิภาพสามารถดื่มกินได้ ขณะที่ผลิตภัณฑ์อื่นที่ได้ระหว่างกลั่น เช่น เกลือ ก็ต้องมีแผนใช้ประโยชน์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการลงทุนทั้งระบบ และยังเดินหน้าพัฒนาแหล่งนํ้าเพิ่มเติม

กนอ. ไม่ได้เกาะติดแค่ปัญหาภัยแล้งเท่านั้น ยังเกาะติดป้องกันสถานการณ์นํ้าท่วมอีกด้วย หลังจากไทยกำลังเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 66 พบว่า ปัจจุบันมีฝนตกหนาแน่นและต่อเนื่องครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งทุกนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 68 แห่งทั่วประเทศได้ติดตามข้อมูลสถานการณ์นํ้าอย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามข้อมูลระดับนํ้าทะเลหนุนในกรณีที่นิคมฯ อยู่ใกล้ทะเลด้วย

และเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ กนอ. จึงมีแนวทางในการดำเนินงาน มาตรการเฝ้าระวัง 1.สำรวจและติดตามข้อมูลอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด 2.ประเมินคาดการณ์ปริมาณฝนในพื้นที่ 3.ตรวจสอบและซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องสูบนํ้าที่มีอยู่ให้ใช้งานได้ 100% 4.สูบระบายพร่องนํ้าภายในพื้นที่นิคมฯ ให้อยู่ในระดับตํ่าสุดให้มีพื้นที่แก้มลิงรองรับนํ้าฝนมากที่สุด

5.ประสานจัดเตรียมเครื่องสูบนํ้าเคลื่อนที่สำรองจากภายนอกเข้าสนับสนุนหากมีการร้องขอ 6.ให้มีการประเมินสถานการณ์พร้อมสื่อสารให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม และผู้เกี่ยวข้องทราบอย่างต่อเนื่อง 7.กำหนดให้ทุกนิคมอุตสาหกรรมซ้อมแผนฉุกเฉินรองรับอุทกภัยเป็นประจำ 8.กรณีมีความเสี่ยงเกิดอุทกภัย เช่น ปริมาณนํ้าฝนในนิคมฯ มากกว่า 120 มม. ให้รีบรายงานกลับมาที่ผู้ว่าการ กนอ. หรือผู้บริหาร กนอ. ทราบอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

มาตรการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ได้มีการเตรียมพร้อมสูบระบายนํ้าออกนอกพื้นที่นิคมฯ เต็มกำลังทุกสถานีสูบนํ้า ประสานหน่วยท้องถิ่นชลประทานจังหวัดเพื่อขอการสนับสนุนในด้านอุปกรณ์และการสูบระบายนํ้าภายนอกนิคมฯ ประเมินสถานการณ์ สรุปข้อมูลปริมาณนํ้าฝน คาดการณ์ปริมาณนํ้าท่วมขังในพื้นที่ และมีการสื่อสารรายงานสถานการณ์ผู้ประกอบการ ผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนกว่าสถานการณ์จะยุติ

มาตรการป้องกันอุทกภัยระยะยาว แต่ละนิคมฯ ที่อยู่ในพื้นที่เฝ้าระวังจะมีการก่อสร้างคันกั้นนํ้า ติดตั้งเครื่องสูบนํ้าที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะนิคมฯ ที่อยู่ในเขตชุมชน เช่น นิคมอุตสาหกรรมบางปู ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการปรับปรุงระบบป้องกันนํ้าท่วม คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ ม.ค. 68 ซึ่งจะประกอบไปด้วยกำแพงกั้นนํ้า 1.90 เมตร เทียบกับระดับนํ้าทะเลปานกลาง ปรับปรุงระบบระบายนํ้า เพิ่มพื้นที่หน่วงนํ้าในนิคมฯ ตลอดจนติดตั้งระบบตรวจวัดปริมาณนํ้าฝนอัตโนมัติภายในพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวัง ประเมินสถานการณ์ และการสื่อสารแจ้งเตือนอย่างทันท่วงที.