“รู้สึกดีใจมากที่ได้มีโอกาสต้อนรับคณะครูและนักเรียนจากไทย หวังว่าครูและนักเรียนที่ได้มีโอกาสมาทัศนศึกษาที่เมืองผิงตง นอกจากจะได้รับความสนุกเพลิดเพลินแล้ว จะช่วยให้ได้เปิดมุมมองใหม่ ๆ อีกด้วย” เป็นคำกล่าวต้อนรับจากทาง “โจวชุนหมี่” นายกเทศมนตรีหญิงของ เมืองผิงตง ที่ได้กล่าวกับ “คณะครู-นักเรียนจากประเทศไทย” ภายในงานเลี้ยงต้อนรับที่ทางเมืองผิงตงได้จัดขึ้น โดยเป็นความร่วมมือกันของ “ไทย-ไต้หวัน” ที่จัดทำโครงการนี้ขึ้น เพื่อเป็น “พื้นที่สร้างสรรค์การเรียนรู้” ที่วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” มีเรื่องราวการทัศนศึกษาครั้งนี้มานำเสนอ…

ราว 3 ชั่วโมงครึ่งจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ล้อเครื่องบินก็แตะรันเวย์ท่าอากาศยานเกาสง ซึ่งเป็นหลักสำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางมายัง “เมืองผิงตง” ซึ่งอยู่บริเวณเกือบใต้สุดของเกาะไต้หวัน และถึงแม้เมืองผิงตงนี้จะไม่ค่อยคุ้นหูนักท่องเที่ยวชาวไทยมากนัก แต่ด้วยความที่ที่ตั้งของผิงตงตั้งอยู่สุดเกาะ แถมติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก จึงมีธรรมชาติที่โดดเด่นและสวยงาม ทั้งทะเลและภูเขา จึงได้รับสมญาว่าเป็น “ไข่มุกแห่งเกาะไต้หวัน” ซึ่งจะจริงหรือไม่นั้น คงต้องพิสูจน์กันในระยะเวลา 6 วัน 5 คืน ที่เราจะใช้ชีวิตที่เมืองแห่งนี้ ตามคำเชิญของ บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการมาทัศนศึกษาร่วมกับคณะครูและนักเรียนที่ได้รับรางวัลจากการประกวด “โครงการความร่วมมือไทย-ไต้หวัน ร่วมสร้างสรรค์การเรียนรู้” ที่เป็นความร่วมมือของ สนง.การท่องเที่ยวไต้หวัน ประจำกรุงเทพฯ เทศมณฑลผิงตง ไทยสมายล์ และ สำนักกิจการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซีพีออลล์ เพื่อ ส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้ศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ของชาวไต้หวัน ซึ่งมีผู้ส่งผลงานทั้งสิ้น 469 ทีม และมีผู้ชนะ 6 ทีม โดยผู้ชนะจะได้ไปทัศนศึกษาที่เมืองผิงตง ไต้หวัน

เด็ก ๆ สนุกกับ D.I.Y. ลูกชิ้นปลาเก๋า

สำหรับความสำคัญของโครงการนี้ ทาง “Cindy Chen” ผู้อำนวยการ สนง.การท่องเที่ยวไต้หวัน ประจำกรุงเทพฯ ได้มีวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มาทักทายคณะครูและนักเรียนจากไทย โดยกล่าวว่า โครงการนี้ยังช่วยทำให้คนไต้หวันได้เรียนรู้มุมมองของคนไทยรุ่นใหม่ที่มีต่อไต้หวันด้วย ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลมีเนื้อหาหลากหลาย โดยบางชิ้นได้มีการบรรยายถึงความหลากหลายทางเพศ ขณะที่บางบทความก็กล่าวถึงการที่ได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของไต้หวันผ่านงาน หรือแม้กระทั่งเรื่องของรถขยะร้องเพลงได้ในไต้หวัน ก็ยังมีการพูดถึงในเรียงความที่ส่งเข้าประกวด อย่างไรก็ดี นักเรียนที่ได้รับรางวัลนี้ต้องรอคอยกันมาเกือบ 3 ปี จึงจะมีโอกาสได้เดินทางสู่ไต้หวัน เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่วนตัวคาดหวังว่าครูและนักเรียนไทยจะได้ความรู้และมุมมองใหม่ ๆ นำไปประยุกต์ใช้อย่างแน่นอน …ผอ.สนง.การท่องเที่ยวไต้หวัน ประจำกรุงเทพฯ ระบุ

ขณะที่อีก มุมน่าสนใจ” ที่ยึดโยงกับการท่องเที่ยวด้วย นั่นก็คือ การศึกษา…ที่เมืองผิงตงได้นำมาเชื่อมโยงเข้ากับการท่องเที่ยว โดย “หลิวอวี้จง” ผู้อำนวยการที่ดูแลฝ่ายการศึกษาของเมืองผิงตง เล่าให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังว่า ทั้งไทยและไต้หวันถือว่ามีแรงดึงดูดที่ดีต่อกัน เพราะมีความคล้ายคลึงกันหลาย ๆ เรื่อง ทำให้เวลาที่จะต้องประสานความร่วมมือกัน จึงทำให้ทุกอย่างเชื่อมต่อกันได้ง่ายขึ้น โดยจุดเด่น ๆ ที่มีเหล่านี้ สามารถนำมาสนับสนุนการเชื่อมโยงระหว่างกันได้เป็นอย่างดี หนึ่งในนั้นก็คือ การเชื่อมโยงกันผ่านกิจกรรมด้านการศึกษาที่ผสมผสานกับการท่องเที่ยว ที่น่าจะตอบสนองต่อนักเรียนและนักศึกษาไทยที่อยากมาเรียนรู้หรือแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมกับคนไต้หวันได้เป็นอย่างดี จึงหวังว่าการเดินทางมาในครั้งนี้จะช่วยสร้างมุมมองใหม่ ๆ ที่มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของครูและนัก เรียนจากไทยได้ …ผอ.ฝ่ายการศึกษาเมืองผิงตงย้ำเรื่องนี้

กลิ่นอายญี่ปุ่นที่หมู่บ้าน Shengli

อนึ่ง โปรแกรมทัศนศึกษาเมืองผิงตง ครั้งนี้ เน้นส่งเสริมการเรียนรู้แบบเต็มที่ ทั้งเรียนรู้ระบบการจัดการนิเวศทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวโดยชุมชน ศิลปวัฒนธรรมของชนเผ่าต่าง ๆ ไปจนถึงเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ของไต้หวันในปัจจุบัน ดังนั้นโปรแกรมเราจึงมีตั้งแต่…บุกป่าฝ่าดง ลงทะเล เข้าพิพิธภัณฑ์ จนถึงการเยี่ยมโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ยังไม่นับรวมการเรียนรู้ผ่านเมนูอาหารไต้หวัน โดย วันที่สอง นั้น สถานที่ที่เราได้ไปก็มี อาทิ Pintung 1936 Tobacco Culture Base ซึ่งนำโรงงานยาสูบเก่ามารีโนเวตให้เป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ได้อย่างสวยงาม บอกเล่าเรื่องราวยุครุ่งเรืองของอุตสาหกรรมนี้ของไต้หวัน, Shengli New Village Victory Star หมู่บ้านเก่าแก่ ที่เจือด้วยกลิ่นอายบ้านแบบคนญี่ปุ่น เนื่องจากบริเวณนี้เคยเป็นที่พำนักทหารญี่ปุ่นในช่วงที่เข้ามาปกครอง, Taiwan Indigenous Culture Park ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมชนเผ่า 16 เผ่าของไต้หวัน ซึ่งนักเรียนและครูหลายคนอดชื่นชมไต้หวันที่ให้เกียรติกับกลุ่มชาติพันธุ์ของเขามาก จนถึงขั้นสนับสนุนงบมหาศาลเพื่อจัดสร้างศูนย์นี้ เพราะต้องการให้คนไต้หวันและคนทั่วโลกเกิดความรู้ความเข้าใจใน เจ้าของพื้นที่และถัดจากจุดนี้เราก็เดินทางไปชมสะพานแขวนชื่อ Shan-Chuan Suspension Bridge เป็นการปิดท้าย

เสื้อผ้ายุคอดีตที่หอวัฒนธรรมฮากกา

วันที่สาม คณะเราเดินทางไป หมู่บ้านหลี่เต๊อะ (Li De)” ซึ่งที่นี่ชาวบ้านจัดการท่องเที่ยวแบบ Ecological Travel ดังนั้นกิจกรรมจึงเป็นการเดินสวนท่องป่าและปีนน้ำตก ซึ่งถึงแม้ระยะทางของโปรแกรมจะกว่า 3.5 กม. แต่ด้วยทิวทัศน์สองข้างทาง และอัธยาศัยของคุณลุง-คุณป้า ไกด์ท้องถิ่นประจำหมู่บ้าน ก็ทำให้เราทุกคนลืมเหนื่อยไปได้ และถัดจากจุดท่องเที่ยวนี้ ช่วงบ่ายเราก็มีโอกาสไปเยือนสถานที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อเป็นประภาคารที่สว่างที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย ประภาคาร Eluanbi ซึ่งตั้งอยู่ใต้สุดของเกาะไต้หวัน และเป็นจุดยุทธศาสตร์ยุทธภูมิสำคัญมานานนับหลาย ๆ ศตวรรษแล้ว แม้แต่ในปัจจุบัน

เยี่ยมชมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Maanshan

วันที่สี่ วันนี้โปรแกรมเปลี่ยนแผนกันนิดหน่อย เพราะจุดหมายเดิมคือบ่อน้ำร้อนนั้นวันนี้ปิดให้บริการ พวกเราจึงเปลี่ยนแผนไปเป็นการเยี่ยมชม โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ Maanshan ซึ่งในอนาคตอันใกล้ไม่กี่ปีนี้ ก็จะเลิกการผลิตไฟฟ้า และกลายมาเป็นศูนย์การเรียนรู้แทนตามแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลไต้หวัน ที่ต้องการผลักดันให้ไต้หวันไปสู่การเป็นประเทศที่ใช้พลังงานหมุนเวียนทางธรรมชาติและพลังงานสะอาด 100% และจุดหมายต่อมาในช่วงบ่ายวันนั้น คณะเราก็ได้เยือนวัดสำคัญอย่าง Chechent Fu’an Temple ก่อนจะจบทริปวันนี้ด้วยการไปทัศนศึกษาที่ National Museum of Marine Biology & Aquarium ที่ว่ากันว่ามีส่วนจัดแสดงที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย ซึ่งเมื่อเราไปเห็นก็ต้องยอมรับว่าใหญ่สมคำร่ำลือ

อุโมงค์ชมสัตว์น้ำในอควาเรียม

วันที่ห้า วันนี้เราได้ไปเยี่ยมชม สถานีรถไฟสีน้ำเงินน้ำทะเล หรือ Breezy Blu Station แต่น่าเสียดายที่เวลาที่เราเดินทางไปนั้น ไม่ใช่ช่วงเวลาที่รถไฟสีน้ำเงินน้ำทะเลขบวนนี้จะวิ่งผ่าน จึงทำได้แค่ถ่ายรูปสถานี และคาเฟ่เก๋ ๆ เท่านั้น และจากจุดนี้เราก็ไปต่อกันที่ “หมู่บ้านปลาเก๋า” ที่ชื่อ Fanglio Xinlong Community ซึ่งชาวบ้านเกือบทุกคนมีอาชีพเพาะเลี้ยงปลาเก๋า และต่อมาได้มีการเข้ามาส่งเสริมให้มีการแปรรูปปลาเก๋าที่เลี้ยงเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงส่งเสริมให้หมู่บ้านจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยมีไฮไลต์คือ “การทำลูกชิ้นปลาเก๋า” เป็นกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยว รวมถึง “การชิมเมนูสารพัดปลา” ที่ชาวบ้านเพาะเลี้ยง ซึ่งทั้งสดและถูกปากคณะของเรามาก จนคุณครูในคณะเดินทางของเราถึงกับเอ่ยปากว่า ถ้าจะสดกว่านี้ก็คงต้องลงไปกินในบ่อแล้ว ก็เรียกเสียงหัวเราะจากคณะของเราทุกคน และจากจุดนี้เราก็มาเที่ยวกันที่วัดที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานอีกแห่ง นั่นคือ Donglong Temple และไปจบทริปวันนี้ที่ Huaquiao Fish Market หรือที่คนไทยออกเสียงว่า “ตลาดปลาหัวเฉียว” ซึ่งเป็นแหล่งขายอาหารทะเลที่โด่งดังและใหญ่มาก ๆ เพราะมีสารพัดอาหารทะเลหลากชนิด โดยเฉพาะใครที่ชอบกินซาซิมิก็ต้องห้ามพลาดที่นี่ เพราะมีร้านซาซิมิให้เลือกชิมมากมาย 

ประภาคาร Eluanbi

และมาถึงวันสุดท้าย วันที่หก ที่ช่วงเย็นเราต้องเดินทางไปท่าอากาศยานเกาสงเพื่อกลับไทยแล้ว แต่เราก็มีโปรแกรมส่งท้ายด้วยการไปเยี่ยมชม “หอวัฒนธรรมฮากกา” หรือ Lindui Hakka Cutural Park ที่จัดแสดงเรื่องราวและประวัติศาสตร์ชาวจีนฮากกา ซึ่งออกแบบไว้ดีมาก ๆ แต่น่าเสียดายที่คำบรรยายทั้งหมดไม่มีภาษาอังกฤษ เป็นภาษาจีนล้วน ๆ แต่ถึงแม้จะแปลไม่ได้ ทางน้อง ๆ และคุณครูก็บอกว่าได้ไอเดียหลายอย่างที่สามารถนำกลับมาประยุกต์ใช้งานกับการเรียนการสอนที่ไทยได้ และจากจุดนี้ก็ถือเป็นอันปิดทริปเมืองผิงตง 6 วัน 5 คืน ที่ได้มีโอกาส “สัมผัสไข่มุกแห่งไต้หวัน” เม็ดนี้กันแบบเจาะลึก

ซุ้มประตูวัด Donglong

สำหรับ “มุมความรู้สึก” ของนักเรียนที่ได้รางวัลชนะเลิศของ “โครงการความร่วมมือไทย-ไต้หวัน ร่วมสร้างสรรค์การเรียนรู้” ที่ ซีพีออลล์ จับมือกันกับ สนง.การท่องเที่ยวไต้หวัน และเมืองผิงตง ก็มีความรู้สึกจาก “น้องจีน่า-เนวารี บุญณสะ” จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งปัจจุบันจีน่าเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ แล้ว โดยน้องได้เผยความรู้สึกที่มาทัศนศึกษาครั้งนี้ว่า ดีใจ และไม่คิดว่าจะได้รับโอกาสนี้ ซึ่งทริปนี้ได้ประสบการณ์ที่ดี เพราะผิงตงเป็นเมืองที่ไม่ได้มากันง่าย ๆ ซึ่งสัมผัสถึงความตั้งใจของรัฐบาลไต้หวันที่ใส่ใจประชาชน ด้วยการให้ความเสมอภาค ทั้งการดำรงชีวิตและการศึกษา ทำให้ดีใจที่ได้ใช้ช่วงเวลาดี ๆ กับครูและเพื่อน ที่เป็นการปลดล็อกตัวเองด้วย กับการจากรั้วโรงเรียนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ทริปนี้มีคุณค่าต่อจิตใจมาก และจะอยู่ในความทรงจำอย่างแน่นอน“ เป็นความรู้สึกจาก น้องจีน่า ถึงการ “ทัศนศึกษาเมืองผิงตง…ไต้หวัน ครั้งนี้ ที่ไม่เพียงได้รับความสนุกเพลิดเพลิน

ยังได้มุมมองใหม่ ๆ อีกด้วย.

‘เทรนด์สำคัญของโลกยุคใหม่’

โจวชุนหมี่

“โจวชุนหมี่” นายกเทศมนตรีเมืองผิงตง ได้กล่าวถึง “การศึกษาในโลกยุคไร้พรมแดน” ว่า เมืองผิงตงดีใจกับการมาเยือนครั้งนี้ของคณะครูและนักเรียนจากไทย เพราะเป็นสิ่งที่ผิงตงก็มีโครงการ เชื่อมโยงการศึกษากับการท่องเที่ยว อยู่พอดี โดยเป็นการ ผสมผสานการเรียนรู้เข้ากับการท่องเที่ยว ที่เป็นเทรนด์ใหม่สำคัญของโลกยุคใหม่ ซึ่งการเรียนรู้รูปแบบนี้ ไม่เพียงจะทำให้ผู้มาเยือนได้รับความรู้ใหม่ ๆ ยังเป็นการสร้างเสริมประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้เรียนรู้ได้อย่างดีอีกด้วย.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : รายงาน