นี่เป็นการระบุไว้โดย คยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทยเกี่ยวกับ “สถานการณ์เด็กที่ไม่ได้เติบโตในครอบครัว” หรือ “เด็กที่โตนอกบ้าน” ซึ่งพบตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นจนน่าเป็นห่วง เนื่องจากยังไม่มีระบบข้อมูลที่จะทำให้รู้ได้ว่า…เด็ก ๆ กลุ่มนี้ เด็ก ๆ ที่ไม่ได้เติบโตในครอบครัว มีความเป็นอยู่แบบใด?-ได้รับการดูแลเช่นไร? และไม่รู้ว่า…

จะเสี่ยงเป็นเหยื่อความรุนแรงแค่ไหน?

“จำเป็นต้องมีแนวทางรับมือปัญหานี้!!”

สถานการณ์น่ากังวลเรื่องนี้ ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะนำเสนอในวันนี้ ถูกเผยไว้ผ่านรายงานฉบับล่าสุดของ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เมื่อเร็ว ๆ นี้ หลังพบว่า…ขณะนี้มีเด็กที่ไม่ได้เติบโตในสภาพแวดล้อมแบบครอบครัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับสวัสดิภาพของเด็กมากกว่า 120,000 คน ที่อยู่ในสถานรองรับทั่วประเทศไทย ซึ่งนอกจากในเชิงจำนวนแล้ว ก็ยังมีการเปิดเผยผลการศึกษาจากงานวิจัยชิ้นใหม่ ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่าย และยูนิเซฟ ที่พบว่าปัจจุบันเด็กไทยที่โตนอกบ้าน-อาศัยอยู่ในสถานรองรับทั่วประเทศกว่า 120,000 คนนั้น ส่วนใหญ่ยัง ไม่มีระบบติดตามผล…

ทำให้ไม่ทราบสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น

อาจส่งผลต่อการวางแนวทางแก้ปัญหา

ทั้งนี้ สำหรับผลการศึกษาเรื่องนี้ มีชื่องานวิจัยว่า… “เด็กโตนอกบ้าน…ในสถานที่ไม่มีใครมองเห็น” โดยผู้วิจัยได้ระบุถึงที่มาในการติดตามศึกษาว่า… การเลี้ยงดูในสถานรองรับขนาดใหญ่เป็นเวลานาน อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อพัฒนาการและการเติบโตของเด็ก เช่น ความเสี่ยงในการเกิดภาวะผูกพันไม่มั่นคง, ขาดทักษะชีวิตบางประการ, ขาดโอกาสในการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนโดยตรง รวมถึงการขาดทักษะในการอยู่ร่วมกับสังคมเหมือนกับเด็กคนอื่น ๆ ที่อยู่ในครอบครัวและชุมชน โดยผลกระทบเชิงลบเหล่านี้จะเห็นชัดหากเด็กต้องเข้าไปอยู่ในสถานรองรับขนาดใหญ่ตั้งแต่เล็ก ๆ

จะทำให้เด็กขาดการกระตุ้นพัฒนาการ

และจะทำให้พัฒนาการทางสมองลดลง

สำหรับ “ปัจจัยเชิงลบ” ที่ทำให้ “เด็กที่โตนอกบ้าน” หรือ “เด็กที่ต้องอาศัยในสถานรองรับ” มีความเสี่ยงที่จะ “เกิดผลกระทบด้านพัฒนาการ” นั้น เนื่องจากต้องยอมรับว่า…สถานรองรับไม่ใช่สภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเติบโตของเด็กเหมือนกับสภาพแวดล้อมแบบครอบครัว หรือ “บ้าน” เนื่องจากสถานรองรับเด็ก ๆ มีวิธีการเลี้ยงดูที่ต่างจากการเลี้ยงดูในรูปแบบครอบครัว โดยเฉพาะการมีผู้ดูแลจํานวนน้อยเมื่อเทียบกับจํานวนเด็กที่ต้องรองรับ อีกทั้งการเปลี่ยนผู้ดูแลบ่อย การมีกิจวัตรประจําวันที่เคร่งครัด และการที่ส่วนใหญ่เน้นดูแลด้านกายภาพเป็นหลัก อาจไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นพัฒนาการเด็ก

“จากการศึกษาพบข้อมูลว่า…ในไทยน่าจะมีเด็กไม่น้อยกว่า 120,000 คน ที่เติบโตนอกบ้าน โดยต้องเติบโตในสถานรองรับรูปแบบต่าง ๆ และที่ยิ่งสำคัญก็คือการศึกษาพบแนวโน้มว่า…ยังมีเด็กอีกจำนวนไม่น้อย ที่ต้องเติบโตนอกบ้าน และไม่ได้เติบโตอยู่ในสถานรองรับอีกด้วย โดยเป็นเด็กกลุ่มที่ไม่ค่อยมีใครมองเห็น” …งานวิจัยสะท้อนไว้

ระบุถึงระเบิดเวลาอีกหนึ่งลูกที่ซ่อนอยู่

รอเวลาเป็น “ระเบิดลูกใหญ่ในสังคม!!”

อย่างไรก็ดี นอกจากประเด็น “สถานการณ์น่าเป็นห่วง” กรณี “เด็กที่โตนอกบ้าน” กลุ่มนี้แล้ว ในงานวิจัยดังกล่าวทางคณะวิจัยยังได้จัดทำ “ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายถึงรัฐบาลไทย” เพื่อจะให้เด็กที่เติบโตในสถานรองรับในประเทศไทยได้รับการคุ้มครอง โดยสังเขปมีดังนี้คือ…1.แสดงความมุ่งมั่นและเจตจำนงทางการเมือง ในการลดการพึ่งพิงสถานรองรับ 2.กําหนดนิยามสถานรองรับให้ครอบคลุมทุกประเภท เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล 3.รวบรวมจํานวนสถานรองรับ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการติดตาม 4.กําหนดให้มีมาตรฐานการเลี้ยงดูเด็กในสถานรองรับทุกประเภท

5.จัดให้มีกลไกดำเนินการที่รวดเร็ว โดยเฉพาะกรณีที่มีข้อร้องเรียน 6.ปรับปรุงเกณฑ์ขอใบอนุญาตสถานรองรับ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานหรือแนวปฏิบัติของสหประชาชาติ 7.เพิ่มผู้ปฏิบัติงานด้านสวัสดิการสังคม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกลไกคัดกรอง ป้องกันการเลี้ยงดูทดแทนที่ไม่จำเป็น 8.จัดให้มีแผนปฏิบัติการเพื่อการเปลี่ยนผ่านและลดจำนวนสถานรองรับ รวมถึงการ คืนเด็กสู่ครอบครัว ก็ต้องมีแผนปฏิบัติ 9.ปรับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกรณีที่ทำผิดกฎหมาย 10.สื่อสารกับสาธารณะและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้เกิดความเข้าใจ …เหล่านี้เป็น “ข้อเสนอแนะ”…

“แก้ปัญหา” กรณี “เด็กไทยโตนอกบ้าน”

“มี 2 ส่วน” คือ “ใน-นอกสถานรองรับ”

“กรณีปัญหา” ที่เป็น “การบ้านอีกข้อ”

ที่…“รัฐบาลใหม่ก็ต้องทำ-ต้องแก้!!”.