จากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ การใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็น ฯลฯ ล้วนส่งผลต่อระบบนิเวศ พืชพรรณบางชนิดลดจำนวน เสี่ยงต่อการสูญหาย หมดไป…

การเตรียมความพร้อมมีแหล่งสำรองพันธุกรรมเมล็ด เป็นอีกส่วนสำคัญหนึ่งที่จะช่วยสร้างเสริมความมั่นคง อนุรักษ์ความหลากหลายพืชพรรณของไทยคงอยู่ สืบเนื่องจากการจัดตั้งธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand: NBT) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อเป็นคลังสำรองแก่ประเทศ รวมถึงสนับสนุนการใช้ข้อมูลชีวภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยนักวิจัยจาก ธนาคารพืช ธนาคารจุลินทรีย์ และธนาคารข้อมูลชีวภาพ ร่วมกันดำเนินงานด้านอนุรักษ์ สนับสนุนการจัดเก็บสิ่งมีชีวิตนอกสภาพธรรมชาติแบบระยะยาว

ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เตรียมพร้อมฟื้นคืนทรัพยากรชีวภาพในยามที่เกิดความสูญเสียจากภัยธรรมชาติ หรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มากเกินพอดี และการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การสูญเสียทรัพยากรชีวภาพอย่างถาวรในธรรมชาติ

ทั้งนี้ชวนตามรอยการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืชในระยะยาว โดย อนุตตรา ณ ถลาง หัวหน้าทีม  วิจัยธนาคารพืช และ ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ นักวิจัยธนาคารเมล็ดพรรณพืช ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT) สวทช.ให้ความรู้เล่าการทำงานว่า ธนาคารพืชเราเริ่มจากการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ โดยเรื่องการอนุรักษ์พันธุกรรมมีความสำคัญ โดยศึกษาถึงการจัดเก็บเมล็ดพันธุ์พืชในระยะยาว ไม่ใช่การเก็บเพียงแค่ระยะสั้น ๆ สิบหรือยี่สิบปีจากนั้นขาดหายไป  

นักวิจัยจากธนาคารพืชและธนาคารเมล็ดพรรณพืชอธิบายเพิ่มอีกว่า ในขณะนั้นเรามีตู้จัดเก็บที่มีอุณหภูมิลบ 20 องศาเซลเซียส โดยมีความสามารถคงความมีชีวิตของเมล็ดพันธุ์ และด้วยที่ประเทศไทยเราเป็นประเทศเขตร้อน มีความหลากหลายของพืชพรรณมากมาย แต่การเก็บรักษาในธนาคารก็ไม่ได้หมายความว่า เมล็ดพันธุ์พืชทุกชนิดจะเก็บรักษาไว้ทั้งหมด

“เมล็ดพันธุ์พืชในเขตร้อน เป็นเมล็ดเนื้ออ่อน และมีความชื้นสูง การนำไปจัดเก็บในตู้เย็นทั่วไป จะทำให้เกิดเป็นเกล็ดนํ้าแข็ง และอาจทำให้เมล็ดพันธุ์ตาย ก็ต้องนำมาศึกษา จัดกลุ่มเมล็ดพันธุ์ เป็นเมล็ดแบบไหน สามารถนำไปเก็บในตู้ดังกล่าวได้หรือไม่ ศึกษาวิจัยจัดเก็บอย่างไรที่เหมาะสม”

ธนาคารเมล็ดพรรณพืช ให้ความสำคัญความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพรรณในประเทศไทย เมล็ดพันธุ์จำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเก็บรักษาไว้ในตู้ดังกล่าวได้ จึงศึกษาวิจัยการจัดเก็บเพื่อให้เกิดความยั่งยืน มี การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หรือเมล็ดพืชบางอย่างเช่น พืชสมุนไพร ที่มีอายุสั้นๆ หนึ่งปีหรือสองปีที่อาจหมดอายุไป ทีมวิจัยก็ได้ศึกษาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อเก็บสายพันธุ์ ทั้งศึกษาวิจัยความเหมาะสมในการจัดเก็บ การพักตัวของเมล็ดพันธุ์ในมิติต่าง ๆ ฯลฯ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านความหลากหลายทางพันธุกรรม

“การศึกษาวิจัยจะเป็นฐานข้อมูลส่งต่อการศึกษาต่อเนื่องไปในมิติต่างๆ แม้แต่พืชที่ไม่ได้ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด อย่างเช่น มันสำปะหลัง กล้วย ฯลฯ ก็จัดเก็บรักษาสายพันธุ์ไว้ ขณะเดียวกันยังมีในเรื่องของนิเวศวิทยาป่าไม้ร่วมด้วย โดยศึกษาถึงถิ่นอาศัย การกระจายตัวของพืชตามธรรมชาติมีลักษณะอย่างไร และอะไรที่ส่งผลกระทบต่อพืชพรรณไม้ ฯลฯ ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งในการทำงาน” 

อนุตตรา ณ ถลาง และ ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ

นักวิจัยให้ข้อมูลเพิ่มอีกว่า การเก็บเมล็ดพันธุ์เข้ามาในธนาคาร เบื้องต้นเราเน้นที่ พืชที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ พืชที่จะหมดไปจากประเทศเราก่อน โดยกลุ่มนี้จะจัดเก็บในธนาคารเมล็ดพรรณพืช สำหรับเมล็ดที่ลดความชื้นได้ หรือกลุ่มที่เมล็ดโดนความชื้นไม่ได้ ก็จะนำไปจัดเก็บอีกเทคนิคหนึ่ง 

“การรักษาเมล็ดพันธุ์ด้วยวิธีดังกล่าวมีมานานแล้ว ส่วนใหญ่ใช้กับพืชอาหารเช่น ข้าว มะเขือเทศ พริก ฯลฯ แต่สำหรับพืชป่ายังไม่ค่อยมี และด้วยสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งมีความจำเป็นเพิ่มขึ้น หากไม่เก็บรักษาจะส่งผลต่อพืชมีความเสี่ยงต่อการสูญหาย อย่างเช่น หากเกิดไฟป่า ผืนป่าธรรมชาติถูกทำลาย รบกวน ฯลฯ การเก็บรักษาพันธุ์พืชเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยรักษาไว้ ไม่หมดไปจากธรรมชาติ”

จากที่กล่าวการจัดเก็บของธนาคาร จะเก็บรักษาพันธุ์พืชที่มีโอกาสมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย ทั้งนี้ ตามที่ได้ขึ้นทะเบียนจะมีการตรวจสอบซ้ำ ทั้งศึกษาสำรวจในพื้นที่ โดยจัดเก็บข้อมูลรอบด้านของพืชชนิดนั้น ๆ จากนั้นนำกลับมาที่ห้องแล็บ เก็บข้อมูลอย่างละเอียดอีกครั้ง ฯลฯ

ธนาคารเมล็ดพรรณพืชจัดเก็บทั้ง พืชปลูก และพืชป่า กลุ่มพืชเฉพาะถิ่นหรือพืชถิ่นเดียวในประเทศไทย โดยขณะนี้มีอยู่ประมาณ 2,000 กว่าตัวอย่าง แต่เป้าหมายจะจัดเก็บให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ อย่างเช่น ช้องเจ้าฟ้า เป็นพืชเฉพาะถิ่น สถานะหายาก เป็นหนึ่งในพืชที่มีความเสี่ยงก็นำมาจัดเก็บไว้ หรือ ดอกไม้หิน ดอกไม้ขนาดเล็ก ๆ ที่เกาะอยู่ตามหิน ตามลำธารนํ้าตก เป็นพืชที่มีความจำเพาะมาก ๆ เป็นอีกชนิดหนึ่งที่เก็บรักษาไว้ในธนาคาร โดยหากไม่อนุรักษ์ เก็บสำรองก็มีโอกาสสูญพันธุ์

“การจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ เก็บอนุรักษ์พันธุ์พืช ซึ่งบางครั้งอาจพบเจอพืชชนิดใหม่ จากข้อมูลที่ศึกษาจากที่นี่ จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ส่งต่อการศึกษา การค้นคว้า หรือการวิจัยต่อ เกิดการแชร์ข้อมูล แลกเปลี่ยนความรู้ต่อกัน โดยปัจจุบันธนาคารเราทำงานร่วมกับเครือข่ายหลายหน่วยงาน ร่วมกันอนุรักษ์ เพื่อสร้างความยั่งยืน

นอกจากนี้ที่จัดเก็บยังมีพืชถิ่นเดียวในประเทศไทย พืชกลุ่มถั่วบางชนิดที่มีความเสี่ยงต่อการหมดไป ก็นำมาจัดเก็บรักษาไว้ในธนาคาร หรือ พืชในกลุ่มหายาก อย่างเช่น กลุ่มชาฤาษี รวมถึงพืชที่ถูกคุกคาม อย่างเช่น กลุ่มกล้วยไม้ตามธรรมชาติ ฯลฯ ก็นำมาเก็บรักษาไว้ในธนาคาร อีกทั้งมี พืชปลูก ที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ การจัดเก็บเป็นเหมือนการรักษาองค์ความรู้ของพืชชนิดนั้น ๆ ไว้ร่วมด้วย ทั้งนี้ในการปรับปรุงพันธุ์ จะใช้เวลามีความพิเศษทั้งในด้านต่าง ๆ เช่น การทนโรค ทนแล้ง ฯลฯ

อย่างเช่น ข้าวป่า ซึ่งเป็นฐานพันธุกรรม มีคุณสมบัติดีบางอย่างซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องจัดเก็บ หรือ พืชวงศ์กะเพรา ก็เช่นกัน ที่ผ่านมาจัดเก็บไว้ในธนาคาร โดยมีความน่าสนใจอย่างเช่น บางตัวมีกลิ่นที่ดี ซึ่งอาจจะเป็นแหล่งให้นํ้ามันหอมระเหย หรือการนำมาสร้างเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะนำมาปลูกเลี้ยงเป็นไม้ประดับ หรือไม้กระถางให้ความสวยงามคงต้องศึกษาวิจัยต่อ

นอกจากนี้ยังมี นํ้าเต้าผี โดยพืชชนิดนี้มีสถานการณ์น่าเป็นห่วง จากเอกสารวิชาการ นํ้าเต้าผีที่พบในประเทศไทย พบเพียง 2 จังหวัดคือสุราษฎร์ธานีและกระบี่ พบบริเวณหน้าผาเขาหินปูน จากการศึกษาสำรวจพบได้น้อย ไม่ได้มีอยู่ในทุกภูเขา การนำเมล็ดพันธุ์มาจัดเก็บจากที่กล่าว หากเกิดไฟป่า ต้นไม้ไหม้ไฟหมด ก็จะมีเมล็ดพันธุ์ของพืชชนิดนี้อยู่ 

สะบ้า ก็เช่นกัน ในธรรมชาติในป่าจากที่สะบ้าเคยยืนต้นอยู่ก็เริ่มหายไป หรือ หญ้าหัวหงอก หรือกระดุมเงิน ที่พบเห็นตามท้องทุ่งนาข้าวหรือในผืนป่าขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากสีขาว กลุ่มนี้ก็ลดน้อยลง ฯลฯ เช่นกัน ทั้งนี้ พืชบางชนิดแม้จะผลิตเมล็ดได้มาก แต่หากไม่มีพื้นที่ให้กับเมล็ดได้งอกงาม เติบโต ก็ไม่มีโอกาสขยายพันธุ์ต่อ

นักวิจัยบอกเล่าทิ้งท้ายอีกว่า จากที่กล่าวการเก็บเมล็ดพันธุ์มีทั้งพืชป่าและพืชปลูก กลุ่มพืชปลูก ในส่วนนี้ก็มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพืชในกลุ่มพันธุ์พื้นเมืองเดิม ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตาม การเก็บรักษาที่ดีที่สุดคือการมีอยู่ในธรรมชาติ แต่เมื่อไม่อาจควบคุมการมีอยู่ หรือมีโอกาสจะหมดไป การเก็บสำรองรักษาไว้ในธนาคารพืช ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยรักษาพืชพรรณเหล่านั้นต่อไป

คงความหลากหลายทางชีวภาพ คงอยู่อย่างมั่นคง.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ