ขณะที่บางคนระบุว่าคือกระทรวงอุตสาหกรรม แต่เมื่อรวบรวมเสียงส่วนใหญ่คะแนน กลับตกไปที่ “กระทรวงศึกษาธิการ” เพราะถือเป็น “รากฐานการพัฒนาทุนมนุษย์” ที่เป็น “หัวใจของการพัฒนาที่ยั่งยืน” ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วงการความยั่งยืนต่างก็รอดูรายชื่อ “รมต.ศึกษาฯ คนใหม่ และทีมงาน” อย่างมีความหวัง ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้ว รายชื่อ รมต.ศึกษาธิการ และทีมงานจะสะท้อน “คุณภาพ-คุณธรรม” และ “ความฉลาดของรัฐบาล” เพราะไม่ได้มาจากโควตา แต่มาจากนายกรัฐมนตรีที่ดี ที่ตั้งใจสรรหาทีมงานที่ดีที่สุดมารับภารกิจนี้ เพื่อสะท้อนแคมเปญเลือกตั้งที่สัญญาไว้กับประชาชน

ทั้งนี้ ผมจำได้ว่า ปี 2009 หลังแคมเปญเปลี่ยนประเทศของ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา Barack Obama ได้ขายคำว่า “Hope & Change” ทำให้ Obama จึงเลือก Arne Duncan ที่เป็นนักปฏิรูปการศึกษาชื่อดัง ซึ่งมีแนวคิดเน้นในเรื่องการเปลี่ยนแปลง ความเท่าทียม และความเป็นเลิศทางการศึกษา ที่ไม่ได้ยึดติดกรอบราชการเดิมเข้ามาทำงานร่วมกัน โดยนักปฏิรูปการศึกษาคนนี้ ได้ทำงานร่วมกับนักการศึกษาสมัยใหม่ ชุมชน ภาคประชาสังคม จนมีผลงานโดดเด่นมากมายหลายชิ้น เช่น ที่เมือง Chicago ซึ่งการเลือก Duncan ที่เป็นคนหน้าใหม่ไฟแรง และชอบทำงานสวนกระแสระบบราชการนั้น มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญต่าง ๆ นอกจากนั้น ทีมงานที่ทำงานทุกคนยังเต็มไปด้วยแรงปรารถนาที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ระบบการศึกษาของอเมริกา ก้าวไปสู่ศตวรรษที่ 21 ให้ได้ ซึ่งนี่เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ Obama อยู่ในใจของคนอเมริกันรุ่นใหม่ ซึ่งผมจำได้ว่า ทีมงานของ Duncan บางท่าน ยังเข้ามาช่วยพัฒนาการศึกษาทางเลือกในไทยช่วงนั้นด้วย

จากตัวอย่างที่เล่าไว้ข้างต้น จึงเกิดคำคามคือ แล้วนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทยได้คิดเรื่องนี้อย่างจริงจังหรือไม่?  เพราะแม้จะได้ รมต. และทีมงานแล้ว แต่การสร้างความเปลี่ยนแปลงก็คงไม่ง่าย อีกทั้งเส้นทางคงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ซึ่งการจะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนได้นั้น ผมจึงอยากเสนอ “ลายแทงบันได 3 ขั้น” ดังต่อไปนี้ 

ประการแรก “HEART” การปรับทัศนคติ หรือ Mindset โดยทีมงานจะต้องตระเวนพูดคุยกับข้าราชการ และเครือข่ายอย่างเข้มข้นและเร่งด่วน เพื่อให้เห็นภาพการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ว่าจะมีหน้าตาอย่างไร และทุกคนเห็นภาพกับเป้าหมายเดียวกันหรือไม่ กับอะไรคือข้อจำกัดและอุปสรรค ที่สำคัญจะต้องสื่อสารกับทุกคนว่า ที่การศึกษาไทยยังคงย่ำอยู่กับที่นั้น ไม่ใช่ความผิดของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เราทุกคนจะต้องร่วมมือกันทำให้ความเปลี่ยนแปลงกลายเป็นเรื่องเร่งด่วน และต้องร่วมมือกันออกแบบใหม่ให้ดีกว่าเดิม โดยผู้ใหญ่ในหน่วยงานต่าง ๆ ต้องจุดประกาย และสั่นกระดิ่งในหัวใจให้มีเสียงดังขึ้นให้ได้

ประการที่สอง “HEAD” ด้วยการที่เราจะไม่เขียนยุทธศาสตร์แบบเดิม ๆ แบบมั่ว ๆ โดยไม่มีข้อมูลพอเพียงจาก Big Data ซึ่งความฝันที่จะมีศูนย์ปฏิบัติการการศึกษาอัจฉริยะ (Intelligence Center) ที่ทำงานตลอด 24 ชม. จะต้องเกิดขึ้นจริงในยุคนี้ อีกทั้งข้อมูลการศึกษาทั้งบทเรียนในอดีตและความเร่งด่วนปัจจุบัน ตลอดจนการทำนายทิศทางในอนาคตจะถูกประมวลผลแบบ Real time เพื่อให้จัดการได้ตรงจุด และเลิกกระจายงบประมาณแบบหารหัวตามโควต้า แต่ใช้ความแตกต่างเท่าเทียมและแม่นยำตามเป้าหมายยุทธศาสตร์การศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21 ด้วยการทำให้เกิดการมีส่วนร่วมที่แท้จริง เพราะประชากรโลกศตวรรษที่ 21 นั้น เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา นอกจากนี้ควรสื่อสารให้สังคมตระหนักว่า การศึกษายุคนี้เป็นความรับผิดชอบของทุกคน โดยมีกระทรวงศึกษาฯ เป็นผู้รับผิดชอบหลัก และควรทำ KPI ใหม่ที่ชัดเจน เพื่อการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

ประการที่สาม “HANDS” พอ Mindset ปรับทิศทางได้ถูกต้องแล้ว และมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนเป็นแผนที่นำทางแล้ว ก็จะต้องมาปรับโครงสร้างการบริหารจัดการ โดยมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์เป็นตัวตั้ง เพื่อให้การทำงานเกิดความรวดเร็ว และจะต้องทำงานข้ามแท่ง ข้ามกระทรวง เพื่อทำให้เกิดความร่วมมือข้ามภาคไปยังภาคธุรกิจ ภาคชุมชน และประชาสังคม ซึ่งถ้าเรามีศูนย์ข้อมูลอัจฉริยะ ก็จะช่วยทำให้ทราบว่า เรามีโครงการมากมายที่มีเป้าหมายเดียวกัน เพียงแต่ต่างคนต่างทำ ซึ่งถ้าบูรณาการร่วมกันได้ จะช่วยประหยัดงบประมาณและได้กำลังคนเพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องทำอะไรใหม่เลย และอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องทำเร่งด่วน ก็คือการ Reskill และ Upskill ของบุคลากรในระบบการศึกษาไทย ให้ตรงกับความสามารถใหม่ในศตวรรษที่ 21อนึ่ง ในสมัยรัฐบาล Obama นั้น เขาได้เคยเล่าความคิดของเขาให้ รมต.ศึกษาฯ ฟังว่า เขาอยากจะพาระบบการศึกษาของอเมริกาเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องสรรหาคุณครูพันธุ์ใหม่ และสนับสนุนให้พวกเขาเติบโต เพื่อสร้างกองทัพคุณครูแห่งศตวรรษที่ 21 แต่ก่อนจะไปถึงเป้าหมายได้ รัฐบาลจะต้องทุ่มเททำงาน ทำอย่างเร่งด่วน และร่วมกันรับผิดชอบอย่างจริงจัง

“การเลือก รมต.ศึกษาฯ และทีมงานจากกรณีศึกษาของสหรัฐอเมริกานั้น ทำให้ประชาชนมีความหวังที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลง แต่ในทางตรงกันข้ามกับหลาย ๆ ประเทศ ประชาชนต่างร้องยี้ เมื่อเห็นรายชื่อของ รมต.ศึกษาฯ และทีมงาน ซึ่งสำหรับไทยแล้ว ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด น่าจะสะท้อนได้ดีว่าคนรุ่นใหม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง ซึ่งพวกเราสายความยั่งยืนเองนั้น ก็เฝ้ารอชมรายชื่อ รมต.ศึกษาฯ ท่านใหม่ และทีมงานอยู่ เพราะพวกเราทุกคนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง”.