สายแอ่วเหนือแม้ช่วงนี้จะไม่หนาวมาก แต่ลำปางก็มีที่เที่ยวให้เช็กอินคลายร้อนหลากหลาย เริ่มด้วยการสัมผัสทะเลหมอกยามเช้า ณ จุดชมวิวลอยฟ้าของ “วัดพระธาตุดอยพระฌาน” ใน ต.ป่าตัน อ.แม่ทะ พร้อมแวะสักการะ 2 องค์พระของความต่างที่ลงตัว ระหว่างพระเจ้าตนหลวงและพระใหญ่ไดบุทสึบนยอดเขาดอยพระฌาน

แล้วลงมานั่ง “รถม้า” ชมบ้านเก่า และวัดพม่าที่มีในตัวเมืองลำปาง ที่สามารถนั่งเที่ยวทั้งกลางวันและกลางคืน ให้ความรู้สึกและบรรยากาศที่ต่างกัน จะไปช่วงไหนตามสะดวกแค่ตรงไปที่สถานีรถม้าหลัก ติดกับวัดป่าดัวะ ใกล้มิวเซียมลำปาง

คนเกิดปีฉลูแนะนำให้ไปที่ “วัดพระธาตุลำปางหลวง” สักการะพระธาตุประจำปีฉลู วัดคู่บ้านคู่เมืองลำปางมาแต่โบราณ ที่เริ่มสร้างในปีฉลูและเสร็จสิ้นในปีฉลู ตั้งแต่สมัย พระนางจามเทวี งดงามด้วยสถาปัตยกรรมเก่าแก่ เป็นที่ประดิษฐานของพระเจ้าแก้วดอนเต้าหรือพระแก้วมรกต อันเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดลำปาง พระพุทธรูปปางสมาธิในศิลปะล้านนาที่สลักด้วยหยกสีเขียว

สายเขียวชอบเที่ยวธรรมชาติแนะนำให้ออกไปที่ “อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน” ใน อ.เมืองปาน แหล่งท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพที่ได้รับความนิยม ณ จุดบรรจบของสายน้ำพุร้อนและน้ำเย็นจากน้ำตกแจ้ซ้อน มีการดำเนินกิจกรรมตามแนวพระราชดำริ ใช้พลังงานน้ำธรรมชาติมาผลิตกระแสไฟฟ้า รวมถึงพลังงานแสงอาทิตย์ มีให้เลือกทั้งห้องอาบน้ำแร่ออนเซ็นส่วนตัว และแบบกลางแจ้ง หรือจะทดสอบความร้อนของน้ำพุร้อนด้วยการลวกไข่น้ำแร่แจ้ซ้อน แล้วออกไปเดินเล่นในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ใครไม่อยากพักบ้านพักของอุทยานเพราะอยากสัมผัสธรรมชาติให้ใกล้ชิดมากกว่าเดิม ที่นี่มีลานกางเต็นท์ให้บริการด้วย

มาลำปางทั้งทีไม่ควรพลาดการเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมระดับประเทศ โดยสมาคมสถาปนิกสยาม ประกอบด้วย “วิหารโคมคำ” เจ้าของรางวัลระดับดี ตั้งอยู่ที่ “วัดพระธาตุเสด็จ” ต.บ้านเสด็จ อ.เมือง หนึ่งในสองวัดที่มีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ ตำนานกล่าวว่าวัดนี้สร้างขึ้นในสมัยพระนางจามเทวี อุโบสถและวิหารต่าง ๆ เช่น วิหารสุวรรณโคมคำ (วิหารพระพุทธ) วิหารจามเทวี ซึ่งเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ ได้รับการบูรณะใหม่ทั้งหมดแต่ยังคงสภาพศิลปะโบราณให้เห็นได้อยู่จนปัจจุบัน

อีกแห่งที่ควรแวะเวียนไปเยี่ยมเยือนคือ “บ้านป่องนัก” ได้รับรางวัลระดับสมควรได้รับการเผยแพร่ ตั้งอยู่ในเขตค่ายสุรศักดิ์มนตรี อ.เมือง เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ที่เปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2468 โดยกรมยุทธการทหารบก และควบคุมการก่อสร้างโดย พันโทพระมหาณรงค์เรืองเดช ผู้บังคับกองทัพที่ 1 กรมทหารราบที่ 17 เพื่อเป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินมณฑลพายัพ และเป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภาคเหนือ ในปี พ.ศ.2501

คำว่า “ป่อง” เป็นภาษาคำเมือง แปลว่า “ช่อง” คำว่า “นัก” หมายถึง จำนวนมาก ชื่อของบ้านจึงหมายถึง บ้านที่มีช่องหน้าต่างจำนวนมาก ตัวบ้านสร้างขึ้นตามสถาปัตยกรรมยุโรปแบบคลาสสิก สมัยกรีกผสมสถาปัตยกรรมไทย เป็นอาคารไม้ 2 ชั้นยกพื้นเตี้ย มีหน้ามุขแบบ 5 เหลี่ยม จำนวน 5 มุข มีช่องลมลายฉลุที่เรียกว่า ขนมปังขิง (gingerbread) หน้าต่างเป็นบานเกล็ดไม้อยู่รายล้อมรอบบ้าน มีจำนวนมากถึง 250 บาน และมีช่องหน้าต่างกว่า 469 ช่อง มีบันไดจำนวน 2 บันได ได้แก่ บันไดด้านหน้าสำหรับเจ้านาย ส่วนบันไดด้านหลังสำหรับข้าราชบริพารภายในจัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของจังหวัดลำปาง และศิลปวัฒนธรรม ตลอดทั้งอาวุธยุทธภัณฑ์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และเครื่องใช้สมัยสงครามและของทหารกล้าในอดีตในแต่ละสมรภูมิ อีกทั้งเครื่องใช้ส่วนพระองค์อีกจำนวนหนึ่ง ภายในบ้านยังคงสภาพห้องทรงงาน ห้องเสวย ห้องบรรทม ซึ่งยังคงเก็บรักษาไว้อย่างดี เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและเกิดความภาคภูมิใจ

จากลำปางไป “ลำพูน” ออกไปแชะแล้วแชร์กับ “สะพานขาวทาชมภู” ที่อยู่ระหว่างสถานีรถไฟขุนตานกับสถานีรถไฟทาชมภู มีความโดดเด่นกว่าสะพานรถไฟแห่งอื่น เพราะเป็นสะพานโครงคอนกรีตเสริมเหล็ก มีลักษณะรูปทรงโค้ง ทาด้วยสีขาว รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ยาว 87.3 เมตร ถูกสร้างขึ้นเพื่อข้ามแม่น้ำแม่ทาที่ไหลผ่านหมู่บ้านทาชมภู จึงได้ชื่อว่าสะพานทาชมภู

ได้ภาพสมใจแล้วมาสนุกกับ Workshop ผ้าพิมพ์ลายธรรมชาติ (Eco Print) ของกลุ่มสตรีอำเภอแม่ทา กิจกรรมทำผ้าในแหล่งท่องเที่ยวสุดกรีนที่โอบล้อมด้วยธรรมชาติ โดยสามารถออกแบบให้เป็นผลงานของตัวเองที่มีชิ้นเดียวในโลกได้ด้วย

แล้วเข้ามาในตัวเมืองไปที่ “วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร” สักการะพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีระกา ภายในบริเวณวัดมีซุ้มประตู ด้านหน้ามีรูปสิงห์ 1 คู่ ยืนบนแท่นสูง 1 เมตร ส่วนวิหารหลวงประดิษฐานพระพุทธปฏิมากรก่ออิฐถือปูน 3 องค์ ลงรักปิดทองบนแท่นแก้ว พระบรมธาตุหริภุญชัย อยู่ด้านหลังวิหารหลวง ประดิษฐานพระเกศธาตุบรรจุในโกศทองคำ และมี พระสุวรรณเจดีย์ หรือปทุมวดีเจดีย์ อยู่ทางขวาของพระบรมธาตุ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ รอบบริเวณวัด

อีกวัดที่ต้องแวะเวียนไปคือ “วัดสันป่ายางหลวง” ที่ติดอันดับ 1 ใน 5 วัดที่สวยที่สุดในประเทศไทย ภายในมีการแกะสลักลวดลายปูนปั้นไว้อย่างวิจิตรบรรจง โดยเฉพาะวิหารพระโขงเขียว มีการแกะสลักลายปูนปั้นที่สร้างไว้ในพระวิหารอย่างละเอียดและสวยงาม

จากนั้นออกไปเรียนรู้วิถีชุมชนปกาเกอะญอมังสวิรัติ “ชุมชนพระบาทห้วยต้ม” ด้วยความเคารพและศรัทธาที่มีต่อ “หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา” พระนักพัฒนาที่เป็นที่เคารพนับถือของชาวล้านนาในสมัยที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสที่นี่ วิถีอันงดงามยังคงแทรกซึมอยู่ในทุกกิจกรรมของชีวิตผู้คนยังคงสวมใส่ชุดปกาเกอะญอที่ทอใช้กันเองในครอบครัว นอกจากนี้ยังคงมีการทำเครื่องเงิน ตีมีด และทำการเกษตรตามแนวทางของบรรพบุรุษอีกด้วย แหล่งท่องเที่ยวในชุมชนที่น่าสนใจ ได้แก่ วัดพระบาทห้วยต้ม ศูนย์หัตถกรรมพระบาทห้วยต้ม เจดีย์ศรีเวียงชัย

วัดในเมืองอีกแห่งที่ห้ามพลาดคือ “วัดจามเทวี” หรือ “วัดกู่กุด” สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 1298 โดยฝีมือช่างละโว้ ลักษณะพระเจดีย์เป็นสี่เหลี่ยมแบบพุทธคยาในประเทศอินเดีย แต่ละด้านมีพระพุทธรูปยืนปางประทานพรอยู่เป็นชั้น ๆ ภายในเจดีย์บรรจุอัฐิของพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย เจดีย์กู่กุดมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “พระเจดีย์สุวรรณจังโกฏ” นอกจากนี้ยังมีรัตนเจดีย์ อยู่ด้านขวาของวิหาร พระยาสรรพสิทธิ์สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 17 องค์เจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยม แต่ละเหลี่ยมเจาะเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปยืนก่ออิฐถือปูนทั้งองค์

สัมผัสความเงียบสงบ วิถีชีวิตอันเรียบง่าย ความสวยงามของธรรมชาติ ผ่อนคลายไปกับบรรยากาศที่งดงาม รวมไปถึงวิถีวัฒนธรรมในแบบ Slow Life Green Chill Chill ตลอดฤดูฝนนี้ที่ลำปางและลำพูน.

…….

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานลำปาง ชวน “Check in อินกรีน @ลำปาง & ลำพูน” ระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2566

กติกาง่าย ๆ

  • เข้าพักในจังหวัดลำปางหรือลำพูน
  • รีวิวแหล่งท่องเที่ยว 1 แหล่ง พร้อมติดแฮชแท็ก #เที่ยวฟินInGreenSeasonลำปางลำพูน
  • รับฟรีกระเป๋าใบไม้ (Leaf Bag) เก๋ ๆ ลดโลกร้อนที่ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ Thai Star Awards 1 ใบ *มีให้เลือกถึง 3 แบบ3 สไตล์*

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานลำปาง โทร.054-222-214 หรือ Page Facebook : ททท.สำนักงานลำปาง