น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยแนวโน้มการก่อหนี้ของครัวเรือนในปี 64 ว่า สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีพีพี ยังคงอยู่ในระดับสูง จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับไปในระดับก่อนเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดย สศช. ประเมินว่าในปี 64 จีดีพีจะขยายตัวระหว่าง 1.5-2.5% ประกอบกับตลาดแรงงานอาจได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น ทำให้ชั่วโมงการทำงานลดลงต่อเนื่อง และยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติซึ่งจะกระทบต่อรายได้ของแรงงานและทำให้ครัวเรือนประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องมากขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อย  

ทั้งนี้เห็นได้จากเงินฝากต่อบัญชีหลังการระบาดของโควิด ระลอกแรก (มี.ค. 63) ที่พบว่า บัญชีที่มีมูลค่าต่ำกว่า 100,000 บาท ลดลงต่อเนื่อง สวนทางกับกลุ่มที่มีเงินฝากมากกว่า 100 ล้านบาท ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนรายได้น้อยอาจเจอปัญหาขาดสภาพคล่องเพิ่มขึ้น ทำให้ในปี 64 ต้องระมัดระวังการใช้จ่าย โดยเฉพาะการชะลอการซื้อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ ซึ่งมีมูลค่าสูงอาจชะลอออกไป ส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อชะลอตัวลง  

ขณะที่ความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น จากปัญหาการขาดสภาพคล่อง รวมทั้งมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ทั้ง ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ที่ส่งเสริมการให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น 

“ในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา แม้รัฐบาลได้ออกมาตรการแก้ปัญหาหนี้สินในวงกว้าง แต่จากสถานการณ์การระบาดที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในปัจจุบัน ได้กระทบต่อรายได้ของแรงงาน และส่งผลสืบเนื่องไปถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน ซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญของรัฐในการหาแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้เพื่อไม่ให้มีปัญหาสภาพคล่อง ที่จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และกลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจในระยะต่อไป” 

ทั้งนี้ สศช. เสนอว่า มาตรการระยะสั้นที่ต้องเร่งทำ คือ ปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ที่มีการปรับโครงสร้างไปแล้วเดิม ควบคู่กับการปรับโครงสร้างหนี้รายใหม่ เนื่องจากผลกระทบของโควิดระลอกใหม่จะซ้ำเติมปัญหาสภาพคล่องของลูกหนี้อีกรอบ โดยต้องจำแนกลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบระลอกใหม่ออกจากลูกหนี้กลุ่มอื่น เพื่อไม่ให้กลุ่มลูกหนี้ที่ไม่มีปัญหาทางการเงินเข้ารับมาตรการช่วยเหลือเพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระเงินกู้น้อยลงก่อให้เกิดความเสี่ยงในการผิดชำระสูงขึ้น 

รวมทั้งช่วยเหลือครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยเป็นพิเศษ เพราะมีสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้สูงกว่ากลุ่มอื่น ซึ่งจากผลการสำพบว่า สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ของกลุ่มครัวเรือนรายได้ที่เป็นหนี้ อยู่ในระดับสูงสุดเมื่อเทียบกับครัวเรือนกลุ่มอื่น ซึ่งรายได้ที่ลดลงอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อการดำรงชีพ เพราะเดิมมีภาระหนี้สินและขัดสนด้านการเงินอยู่แล้ว และต้องเฝ้าระวังปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ และการก่อหนี้นอกระบบ โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการจ้างงาน เพื่อให้ครัวเรือนมีรายได้ และสามารถรักษาระดับการบริโภคไว้ได้ ในระดับเดิม