ทั้งนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ เกิดเหตุปาก้อนหินใส่รถบริเวณเชิงสะพานตากสิน คืนเดียวมีผู้เสียหาย 2 คน โดยก้อนหินทะลุกระจกรถทำให้คนในรถได้รับบาดเจ็บ และที่ จ.อ่างทอง ก็มีการจับคนร้ายปาหินใส่รถยนต์ 3 คันรวด มีผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บที่ใบหน้า ซึ่งทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกแฟ้มเรื่องนี้มาเน้นย้ำกันไว้ว่า…

“ปาหินใส่รถ” นี่ “มีโทษระดับที่ไม่เบา”

ถือว่า “เป็นอาชญากรรม” รูปแบบหนึ่ง

“อย่าหาทำ-อย่าทำเลียนแบบ” เด็ดขาด!!

ทั้งนี้ ณ ที่นี้ ขอนำเสนอเน้นย้ำไว้ว่า… “ปาหินใส่รถ” รวมถึง “ยิงหนังสติ๊กใส่รถ” ที่กำลังวิ่งบนถนน อาจจะดูเป็นเรื่องที่ทำแล้วถูกจับได้ยาก แต่จริง ๆ แล้ว ที่ผ่าน ๆ มา ผู้ที่ทำก็มักจะถูกจับกุมดำเนินคดีในที่สุด โดยที่โทษของการก่อคดีแบบนี้ไม่ใช่เบา ๆ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการกระทำผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ หากแต่เป็นการกระทำที่จะได้รับโทษหนัก โดยไม่ว่าจะกระทำไปเพื่อประสงค์ชิงทรัพย์หรือไม่ประสงค์ชิงทรัพย์ และไม่ว่าผู้เสียหายจะถึงขั้นเสียชีวิต หรือบาดเจ็บสาหัส หรือบาดเจ็บน้อย หรือไม่บาดเจ็บ…

ยังไงก็ “มีโทษหนักทางอาญา-ทางแพ่ง”

และต่อให้ เป็นเด็ก เป็นเยาวชน เป็นบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ก็ใช่ว่าจะรอด ซึ่งก็จะมีโทษทั้งทางอาญาและทางแพ่งเช่นกัน อีกทั้งยังจะ ลามไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่หากไม่ดูแลบุตรหลานให้ดี ก็ต้องมีโทษด้วย และต้องชดใช้ทางแพ่งแทน

ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกแฟ้มเรื่อง “ปาหินใส่รถ” มาแจกแจงเกี่ยวกับ “โทษของผู้ที่กระทำ” มาเน้นย้ำกันไว้ในวันนี้ จากการให้ข้อมูลในทางกฎหมายไว้โดยทนายความท่านหนึ่ง ซึ่งเริ่มที่ “ในทางแพ่ง” ที่หลักใหญ่ใจความโดยสรุปนั้นมีดังนี้…

นอกจากในทางอาญา คดีลักษณะนี้ฝ่ายผู้ที่เสียหายสามารถเรียกร้องทางแพ่งได้ด้วย ไม่ว่าจะ ค่ารักษาพยาบาล, ค่าซ่อมรถ, ค่าชดเชยทำให้ขาดงาน-ทำงานไม่ได้, ค่าชดเชยแก่ญาติกรณีตาย, ค่าขาดผู้อุปการะ ฯลฯ …เหล่านี้กฎหมายถือเป็นความเสียหายทางแพ่ง ซึ่งฝ่ายที่เสียหาย ไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหายเอง หรือญาติผู้เสียหายที่เสียชีวิต สามารถฟ้องร้องเรียกร้อง

ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้กระทำผิดได้

โดยที่… ถ้าผู้กระทำผิดบรรลุนิติภาวะแล้ว ก็ฟ้องเอากับผู้กระทำผิด ซึ่งต่อให้ติดคุกแล้ว ถ้ามีทรัพย์สินใด ๆ เช่น บ้าน ที่ดิน รถ เงินฝาก ฯลฯ ทางคู่สมรส ลูก ก็อาจถึงขั้นหมดสิทธิ เพราะผู้เสียหายฟ้องร้องฟ้องยึดเป็นค่าชดใช้ได้ ส่วนกรณีที่ผู้กระทำผิดยังไม่บรรลุนิติภาวะ ก็ฟ้องร้องเรียกค่าชดใช้จากพ่อแม่ผู้ปกครองได้ พูดง่าย ๆ กระทำผิดไปแล้ว ต้องเดือดร้อนกันไปหมดทั้งบ้าน!!

กรณี ผู้กระทำผิดเป็นเด็ก เป็นเยาวชน พ่อแม่ปล่อยปละละเลยไม่ดูแลเอาใจใส่ลูกจนไปทำผิด พ่อแม่ก็ต้องมีความผิดด้วยอีกต่างหาก!! ซึ่งจะผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก โดยตามกฎหมายส่วนนี้ พ่อแม่จะมีโทษจำคุก  3 เดือน เว้นแต่ว่าจะสามารถพิสูจน์ได้จริง ๆ ว่า ทางพ่อแม่ผู้ปกครองก็กำกับดูแลลูกอย่างดีแล้ว แต่ลูกไม่รักดี ยังไปกระทำผิด

ส่วนตัวเด็กหรือเยาวชนที่กระทำผิด ถ้าอายุไม่เกิน 15 ปี แม้ตามกฎหมายจะระบุว่าไม่ต้องรับโทษ แต่ก็ให้อำนาจศาลเรียกผู้ปกครอง พ่อแม่ มาตักเตือน หรือทำทัณฑ์บน หรือวางเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง และกรณีอายุเกิน 15 ปี แต่ต่ำกว่า 18 ปี จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาล ซึ่งอาจมีการวางเงื่อนไขทำทัณฑ์บนไว้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง แต่หากพิจารณาแล้วว่าจำเป็นต้องลงโทษ จะลดลงให้กึ่งหนึ่ง ซึ่งก็ใช่ว่าไม่หนัก เพราะคดีลักษณะนี้มีโทษรุนแรงมากดังที่กล่าวไว้แต่ต้น และถ้าผู้กระทำผิดอายุเกิน 18 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี ศาลอาจลดโทษกึ่งหนึ่ง หรืออาจลดแค่ 1 ใน 3 ก็ได้ ซึ่งจะแบบไหนก็ถือว่า “ติดคุกหัวโต!!”

ทั้งนี้ พลิกแฟ้มดูต่อ “ในทางอาญา” ตามที่ทางทนายความเคยให้ข้อมูลผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้… บทลงโทษคดี “ปาหินใส่รถ” หรือใช้หนังสติ๊กยิงใส่รถ ตามกฎหมายถือว่าเป็น “เจตนาฆ่า” เพราะการกระทำผิดแบบนี้ เป็นการกระทำที่เล็งเห็นได้ว่า สามารถที่จะ “ทำให้รถคว่ำได้” และก็สามารถ “ทำให้คนขับรถ คนที่อยู่บนรถ บาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้”

ภาษากฎหมายคือ “เจตนาฆ่าคนตาย”

คือ “ฆ่าผู้อื่นโดยการไตร่ตรองไว้ก่อน” 

การกระทำดังกล่าวนี้ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 เป็นการฆ่าผู้อื่นโดยการไตร่ตรองไว้ก่อน และบางคดีในอดีตยังเป็นการ ฆ่าผู้อื่นเพื่อตระเตรียมการหรือเพื่อความสะดวกในการกระทำผิดอย่างอื่น เช่น ชิงทรัพย์ ลักทรัพย์ ด้วย ซึ่งโทษก็จะยิ่งหนัก โดยนักกฎหมายชี้ไว้ว่า มีความผิดร้ายแรง ที่ โทษสูงสุดคือต้องระวางโทษถึง “ประหารชีวิต”

และ… แม้ว่าผู้เสียหายจากการถูก “ปาหินใส่รถ” จะไม่เสียชีวิต อาจจะบาดเจ็บมาก บาดเจ็บน้อย หรือแม้แต่ไม่บาดเจ็บเลย ผู้ที่ “ปาหินใส่รถ” นั้นก็จะถือว่า “พยายามฆ่า” เพราะการกระทำนี้เป็นเจตนาฆ่า…แต่ไม่บรรลุผล ซึ่งหากมี ผู้ร่วมกระทำความผิด ด้วย ตามกฎหมายก็จะต้องโทษ ฐาน ร่วมกันฆ่าคนตาย หรือร่วมกันพยายามฆ่าคนตาย ซึ่งพยายามฆ่าแม้โทษลดลงจากฆ่าหน่อย แต่ก็ไม่ใช่เบา ๆ คือต้องรับโทษ 2 ใน 3 ส่วนของโทษประหารชีวิต คือ “มีโทษจำคุก 50 ปี”…

“ปาหินใส่รถ” ก็เน้นย้ำไว้ว่า “อย่าหาทำ”

ทั้ง “เป็นการกระทำที่เข้าข่ายเลวร้าย”

ใคร “หาทำ” ก็แน่นอนว่า “หาคุก!!”.