22 พ.ค. 66 เป็นวันครบรอบ 9 ปี การทำรัฐประหารโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันที่ 22 พ.ค.57

ตอนนั้นทั้งนักการเมือง นักวิชาการ และบรรดาคอการเมือง ตั้งคำถามว่างานนี้เป็นการทำรัฐประหารตาม “ทฤษฎีสมคบคิด” และหา “ทางลง” ให้ม็อบ กปปส. (ม็อบนกหวีด) หรือเปล่า?

เพราะหากมองย้อนกลับไป นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 56 ต่อมามีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่2 ก.พ. 57

แต่แกนนำ กปปส.หลายคนที่มีคดีติดตัวอยู่ที่ศาลอุทธรณ์ขณะนี้ กับม็อบนกหวีดทั้งในกรุงเทพฯและภาคใต้ออกมาขัดขวางการเลือกตั้ง กีดกันไม่ให้ประชาชนไปเข้าคูหาเลือกตั้งจนสำเร็จลุล่วง ส่งผลให้การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.57 กลายเป็นโมฆะ

แล้วม็อบ กปปส.จะไปต่ออย่างไร ไม่รู้จะหา “ทางลง” ด้วยวิธีไหน? สุดท้าย พล..ประยุทธ์จึงเข้ามารัฐประหารยึดอำนาจ และบริหารประเทศมา 4 ปี แต่ไม่พอ! ต้องตั้งพรรค การเมืองลงเลือกตั้งเพื่อเป็นนั่งร้านให้ พล..ประยุทธ์เป็นนายกฯ อีก 4 ปีเต็ม ๆ แต่ยังสะกดคำว่า “พอ” ไม่ถูกอยู่ดี!

หลังจากทำรัฐประหารใหม่ ๆ พล.อ.ประยุทธ์คุยกับนักข่าวว่า “บริหารประเทศไม่เห็นยากตรงไหน ลองให้ทหารบริหารประเทศดูบ้าง”

แต่บริหารประเทศผ่านไป 8 ปีกว่า ๆ ต้องแจก “บัตรคนจน” 14.59 ล้านคน (จากยอดผู้ลงทะเบียน 22 ล้านคน) เมื่อเดือน เม.. 66 แถมตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) โตรั้งท้ายในประเทศอาเซียน ขณะที่หนี้สาธารณะสูงถึง 10.24 ล้านล้านบาท (30 .. 65) คิดเป็น 60.75% ต่อจีดีพี ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนห่างมากขึ้น สถิติคนไทยฆ่าตัวตายสูงติดอันดับโลก

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ถามว่ามียุครัฐบาลไหนบ้าง? ที่พ่อแม่ ผู้ปกครองนักเรียน ถึงขนาดต้องร้องขอให้ยกเลิก “ชุดลูกเสือ” เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ก็เพิ่งมีในยุครัฐบาลประยุทธ์นี่แหละ

เมื่อ 2 วันก่อน เห็นข้อมูลจาก “สภาพัฒน์” ว่าหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 4/2565 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 15.09 ล้านล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 86.9% ต่อจีดีพี) เพิ่มขึ้น 3.5% จากไตรมาส 3/2565

ตามมาด้วยตัวเลขจากคนแบงก์ชาติ ว่าลูกหนี้เริ่มค้างชำระ แต่ไม่เกิน 90 วัน พุ่งถึง 6.6 แสนล้านบาท จึงต้องประสานธนาคารพาณิชย์ให้เร่งปรับโครงสร้างหนี้ ก่อนจะลุกลามเป็นหนี้เสีย! เช่นเดียวกับข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ว่าหนี้ครัวเรือนที่น่าห่วง คือหนี้ที่กำลังจะเป็นหนี้เสียปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/2565 ที่อยู่ในระดับ 5.2 แสนล้านบาท และที่น่าห่วงมากคือหนี้ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ

9 ปีรัฐประหาร! นอกจากปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ภาระหนี้สินของรัฐบาลประชาชน ปัญหาสังคม ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันสูงกว่าก่อนรัฐประหาร ตามข้อมูลขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ รวมทั้งปัญหานิติรัฐ นิติธรรม

สิ่งเหล่านี้คือข้อมูล และเป็นบทเรียนที่สะท้อนไปยัง “นายทหาร” รุ่นน้อง ๆ ของ พล.อ.ประยุทธ์อย่าคิดทำ รัฐประหารอีกเลย! อย่ามองแต่ “มิติ” ความมั่นคงเพียงด้านเดียว แต่ต้องมองปัญหาที่จะตามมาในหลายมิติอย่างรอบด้าน

ถ้า “นายพล” เป็นผู้นำประเทศ แล้วทำให้ชาติบ้านเมืองเจริญก้าวหน้าขึ้น ประชาชนอยู่ดีกินดี ทั้งอเมริกา-อังกฤษ-ฝรั่งเศส-รัสเซีย-จีน คงให้ทหารเป็นผู้นำประเทศกันไปนานแล้ว!!

——————
พยัคฆ์น้อย