เปลี่ยนผ่านจากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการกันแล้วนับจากนี้ โดยช่วงรอยต่อต้นฤดู ยังคงต้องติดตามฝนฟ้าอากาศใกล้ชิด ทั้งนี้จากการคาดการณ์สภาพอากาศในปีนี้ มีแนวโน้มเผชิญกับเอลนีโญ

การเตรียมความพร้อมรับมือ และติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องมีความสำคัญ อีกทั้งปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” คำที่ถูกพูดถึงบ่อยในเรื่องของสภาพอากาศ โดยที่ผ่านมา องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกยังคาดการณ์แนวโน้มโลกต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมกันเตรียมพร้อมรับมือกับอุณหภูมิซึ่งจะสูงขึ้น

ทั้งนี้ นำเรื่องน่ารู้ นำความรู้ส่องปรากฏการณ์เอลนีโญ และลานีญา ชวนมองผลกระทบรอบด้าน ทั้งร่วมดูแลธรรมชาติสิ่งแวดล้อม โดย ผศ.ดร.นิธิวัฒน์ ชูสกุล อาจารย์ประจำสาขาฟิสิกส์ ผู้ช่วยคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ให้ความรู้ว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา เป็นปรากฏการณ์ตรงข้ามกัน

ปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยหลักทำให้มีฝนตกหนัก ตกเยอะ ส่วนลานีญาเป็นความแห้งแล้ง ดังนั้นถ้าลานีญาอยู่ทางไหน จะมีความแห้งแล้ง ตรงข้ามกับเอลนีโญ อยู่ตรงไหนจะมีฝนตก นํ้าท่วม และมีภัยพิบัติอื่นพ่วงตามมา เกิดภาวะแห้งแล้ง ดินถล่ม พืชผลการเกษตรเสียหาย ฯลฯ

อาจารย์ประจำสาขาฟิสิกส์ ผศ.ดร.นิธิวัฒน์ อธิบายเพิ่มอีกว่า จากแผนที่มหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งเชื่อมต่อทวีปเอเชียและทวีปอเมริกา ลมค้าซึ่งพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้กระแสนํ้าอุ่นไหลจากอเมริกาใต้มายังฝั่งเอเชีย ทำให้เกิดฝนตกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ด้วยปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา ทำให้กระแสลมและกระแสนํ้าอุ่นที่กล่าวมา เกิดความแปรปรวน ส่งผลให้เกิดภาวะแห้งแล้งและฝนตกหนัก

ปรากฏการณ์เอลนีโญ เกิดจากกระแสลมมีกำลังอ่อนและเปลี่ยนไม่ถูกพัดผ่านมา ด้วยเหตุนี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย จะขาดฝนและเกิดความแห้งแล้ง แต่ชายฝั่งของทวีปอเมริกาใต้กลับมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น

“ส่วนบนของผิวนํ้าทะเลเมื่อได้รับความร้อนจะสะสมเกิดเป็นนํ้าอุ่นอยู่ด้านบน นํ้าลึกด้านล่างเป็นนํ้าเย็น นํ้าอุ่นที่อยู่ด้านบนจะถูกพัดมาด้วยลมประจำถิ่นในทิศทางเดิม โดยลมค้าจะพัดจากขวาไปซ้าย จากอเมริกาใต้มาไทยมายังทวีปแถบนี้ โดยถ้าเป็นความปกติ จะพัดมาเป็นประจำ เป็นแพตเทิร์นลักษณะนี้” 

แต่จากที่กล่าว และหากลมค้าพัดรุนแรงพากระแสนํ้าอุ่นไปทั้งหมด นํ้าเย็นก็จะเกิดขึ้นมาแทนที่ ฝนก็จะไม่มีทางทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งจะแล้ง โดยส่วนหนึ่งนี้ อธิบายถึงปรากฏการณ์ ซึ่งจะมีความต่างกัน ตรงข้ามกัน เป็นปรากฏการณ์ที่คู่กัน สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และด้วยกระแสนํ้ามีการเดินทางกว่าจะมาถึงปลายทาง ซึ่งมีระยะห่างกันไม่น้อย ก็จะมีช่วงเวลาที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน เหลือบกัน 

การที่นํ้าอุ่นจะเกิดขึ้น ต้องมีการรับรังสีแสงอาทิตย์ที่เพียงพอ ถ้าฟิลเตอร์ธรรมชาติถูกรบกวน โดยถ้าเป็นปกติ ก็จะมีตัวคัดกรองความเข้มข้นของแสงอาทิตย์โดยธรรมชาติ แต่ด้วยที่มนุษย์สร้างมลพิษ ทำให้ฟิลเตอร์ธรรมชาติ ชั้นบรรยากาศบางลง ทำให้รังสีผ่านเข้ามาได้มาก ส่งผลให้โลกร้อนขึ้น นํ้าอุ่นเพิ่มสูงขึ้น ก็มีโอกาสเกิดเอลนีโญเพิ่มขึ้น” 

ผศ.ดร.นิธิวัฒน์ อธิบายเพิ่มอีกว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ ลานีญา ที่ผ่านมามีการติดตามกล่าวถึงมาโดยตลอด เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ แต่ด้วยปัจจุบันปัญหามลพิษทำให้เกิดความไม่สมดุล โลกร้อนขึ้น ฝนตกโหดขึ้น ตกหนักมากขึ้น หรือเกิดฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง เกิดผลกระทบถึงกันทั้งโลก ทั้งนี้ คงต้องร่วมใจกันดูแลโลก ให้ความสำคัญต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในทุกมิติยิ่งขึ้น

“ปรากฏการณ์เหล่านี้มีแนวโน้มมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น แต่ไม่ว่าจะเกิดเอลนีโญ หรือลานีญา การเตรียมพร้อมรับมือเป็นสิ่งสำคัญ เช่นเดียวกับการลดมลพิษ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ยิ่งต้องตระหนัก อย่างฤดูฝนของไทยเวลานี้ ช่วงรอยต่อของฤดูกาล ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีความแปรปรวนของสภาพอากาศ

มีพายุฝนฟ้าคะนอง อากาศร้อนอบอ้าว ซึ่งการเกิดขึ้นเป็นไปตามฤดูกาล แต่ถ้ามองความรุนแรงมองว่ามีเพิ่มขึ้น ทั้งลูกเห็บ ลมกระโชกแรง ฯลฯ ต่างไปจากเดิมที่เกิดพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนองในปีก่อน ๆ”     

สภาพอากาศร้อนอบอ้าวดุเดือดหรือพายุฝนฟ้าคะนองที่รุนแรงเป็นภาพสะท้อนจากนํ้ามือมนุษย์ที่รบกวนธรรมชาติ ทำให้ธรรมชาติแปรปรวน จากที่กล่าวรังสีแสงอาทิตย์มีความสัมพันธ์กับการระเหยของนํ้า การเกิดเมฆเกิดฝน ยิ่งรังสีมากขึ้นการรับอุณหภูมิ การเก็บอุณหภูมิของพื้นที่ก็มีเพิ่มขึ้น อีกทั้งเรื่อง พื้นที่สีเขียว ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญสร้างความสมดุล ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ฯลฯ

อาจารย์ประจำสาขาฟิสิกส์ ผศ.ดร.นิธิวัฒน์ ให้มุมมองอีกว่า พื้นที่สีเขียวลดน้อยลงก็เป็นส่วนเสริมให้อากาศร้อนยิ่งขึ้น ทั้งนี้ความร้อนที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบแค่สุขภาพ หรือการดำเนินชีวิต แต่จะส่งผลกระทบต่อไปในวงกว้าง ต่อถึงสิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ โอกาสเกิดไฟป่า เกิดภัยแล้งรุนแรงซึ่งส่งผลต่อภาคเกษตรกรรม ทั้งเรื่องของการเพาะปลูก รวมถึงผลผลิตทางการเกษตร

อีกทั้งอากาศร้อนอุณหภูมิสูงกว่าปกติยังส่งผลต่อภัยธรรมชาติอื่น ๆ เกิดความแปรปรวน จากที่เคยเป็นอยู่เปลี่ยนไป ที่ไม่เคยเกิดขึ้นก็ปรากฏให้เห็น ดังเช่น ฝนตกนํ้าท่วมใหญ่ หรือการเกิดหิมะตกหนักในต่างประเทศ เป็นต้น พื้นที่สีเขียวในเมืองจึงมีส่วนสำคัญต่อการลดคลายอุณหภูมิความร้อน และการมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ประสิทธิภาพของพื้นที่สีเขียวก็จะยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น

แต่ถ้าเป็นเมืองที่มีพื้นที่สีเขียวน้อย มีแต่อาคารบ้านเรือน ถนนปิดกั้นไม่ให้นํ้าในดินระเหย หรือพื้นที่มีการจราจรหนาแน่น ฝุ่นควันรถยนต์ที่เกิดจากการเผาไหม้ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นซีสต์ให้ไอนํ้าเกาะรวมตัวเป็นหยดนํ้า โดยถ้าลมไม่พัดพาไปที่ใดก่อน ก็มีโอกาสทำให้เกิดฝนตกในเมือง แต่คุณภาพนํ้าฝนจะต่างจากนํ้าฝนจากพื้นที่สีเขียวธรรมชาติ

ปรากฏการณ์เอลนีโญ หรือปรากฏการณ์ลานีญา เป็นภาพรวมของทั้งโลก เป็นภาพใหญ่ที่ต้องเตรียมความพร้อมรับมือ ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับภาคการเกษตร ทั้งนี้ ผศ.ดร.นิธิวัฒน์ ให้ความรู้เพิ่มอีกว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าว เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ต้องเกิดขึ้น แต่จะมีความรุนแรงหรือไม่อย่างไรในแต่ละปี คงต้องเตรียมแผนรับมือพร้อมไว้ รวมทั้งช่วยกันไม่เพิ่มความรุนแรง จากที่กล่าว การทำเพียงลำพังคงไม่ส่งผลเท่ากับที่ทุกฝ่ายทุกประเทศร่วมมือช่วยกัน เพื่อเกิดเป็นความสมดุล

“การเตรียมคูคลองพร้อมรับนํ้า หรือพื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยงเกิดดินถล่มกรณีที่มีฝนตกหนักต่อเนื่อง ฯลฯ ก็จะต้องเตรียมความพร้อมไว้ หรือช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าผ่าก็ต้องเพิ่มความระมัดระวัง โดยเฉพาะฟ้าผ่าอาจทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรส่งผลให้เกิดไฟไหม้ขึ้นได้ ก็ต้องระมัดระวังยิ่งขึ้น หรือบริเวณบ้านเรือนที่อยู่ริมฝั่งแม่นํ้าก็มีโอกาสได้รับผลกระทบจากนํ้าท่วมฉับพลันก็ต้องเตรียมพร้อม จัดเก็บสิ่งของไว้ในที่สูง เพื่อป้องกันก่อนเกิดความเสียหาย ฯลฯ ทั้งนี้ การติดตามข่าวสารสภาพอากาศ สถานการณ์ปรากฏการณ์ รวมถึงการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนจากหน่วยงานภาครัฐก็มีความสำคัญ” 

ในช่วงฤดูฝนการที่ฝนตกชุ่มฉ่ำก็เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าฝนตกลงมามาก ตกหนัก แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อการระบายนํ้า ถ้าผันกักเก็บระบายได้ไม่ดีก็อาจทำให้เกิดนํ้าท่วมขึ้นได้ สำหรับเอลนีโญฝนจะตกหนักในบางช่วงแล้วหายไป เกิดฝนทิ้งช่วงได้ ส่วนจะตกในพื้นที่ไหนหรือไม่ตกที่ใด โดยเหล่านี้จะเกิดเป็นปัญหา เกิดความไม่สมดุล จากที่กล่าว การเตรียมพร้อมรับมือกับฤดูฝนเป็นเรื่องที่ดี ส่วนปีนี้จะมีปริมาณนํ้าฝนตกมากน้อยอย่างไร จะมีฝนตกหนักหรือไม่ก็คงต้องติดตาม   

อาจารย์ประจำสาขาฟิสิกส์ ผศ.ดร.นิธิวัฒน์ ให้ความรู้ทิ้งท้ายอีกว่า การเกิดขึ้นของปรากฏการณ์จะมีความแตกต่างกันของภูมิประเทศ ภูมิอากาศของท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการเกิดปรากฏการณ์รุนแรงมากน้อยอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าศึกษาติดตาม ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมวางแผนการเพาะปลูกพืช ทำการเกษตร

เตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดขึ้น.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ