ในที่สุดพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรคก้าวไกลพรรคเพื่อไทยพรรคประชาชาติพรรคเสรีรวมไทยพรรคไทยสร้างไทยพรรคเป็นธรรมพรรคเพื่อไทรวมพลัง และพรรคพลังสังคมใหม่ ก็ได้รวมตัวรวมคะแนนเสียงแล้ว 313 เสียง ประกาศจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชนคนไทยไปเรียบร้อย พร้อมยอมรับในฉันทามติ 3 ข้อ เพื่อโหวตให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย

ขณะเดียวกันในวันที่ 22 พ.ค.นี้ พรรคร่วมรัฐบาลก็เตรียมจดปากกาเพื่อลงนามในบันทึกข้อตกลงหรือเอ็มโอยู ในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อแสดงถึงแนวทางการทำงานร่วมกันและวาระร่วมของทุกพรรค เพื่อแก้ไขวิกฤติการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ ก่อนแถลงรายละเอียดอย่างเป็นทางการอีกครั้ง หรือเรียกง่าย ๆ ก็เป็นสัญญาร่วมกันที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่เป้าหมาย โดยทุกพรรคการเมืองสามารถสานต่อนโยบายที่ได้สัญญาไว้กับประชาชน

พรรคใหม่ขอร่วมด้วย

ไม่เพียงเท่านี้!! ปรากฏว่ายังมีพรรคการเมืองน้องใหม่หมาด ๆ อย่าง “พรรคใหม่” ที่มี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 เดียว ก็ประกาศผ่านเฟซบุ๊กขอใช้อีก 1 เสียงสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลและสนับสนุนให้นายทิม-พิธา เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยปราศจากเงื่อนไขต่าง ๆ เมื่อรวมกันแล้วก็ทำให้คะแนนเสียงของการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ครั้งนี้เพิ่มเป็น 314 เสียงกันแล้ว

สำรวจสารพัดสัญญาใจ

แม้ว่า ณ เวลานี้ สุ้มเสียงของบรรดาสมาชิกวุฒิสภา ก็ยังไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับรายชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่อย่างนายพิธากันทั้ง 100% กันด้วยซ้ำไป แม้จะมีบางส่วนที่ออกมาแสดงตัวแสดงตนสนับสนุน แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่สามารถยอมรับได้ ซึ่งตามไทม์ไลน์หลังการเลือกตั้งจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ภายใน 15 วันหลังเกิดการประชุมรัฐสภา หรือราว ๆ 65 วันนับจากวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา

ในเมื่อพรรคร่วมรัฐบาลได้เลือกแล้วที่จะกลายเป็นพรรคร่วมรัฐบาล อาสาสรรพกำลังมาเพื่อบริหารประเทศ เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยทั้งประเทศให้ดีขึ้น “ทีมเศรษฐกิจ เดลินิวส์” ขอสรุปรวม “สัญญาใจ” ของพรรคร่วมที่ต่างขายฝันกันไว้ก่อนหน้านี้…เพื่อตอกย้ำถึงคำมั่นสัญญา

100 วันก้าวไกลทำอะไร?

เริ่มจาก…พรรคก้าวไกล!! ในฐานะที่ได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับหนึ่ง ชูสโลแกน “การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต” นำนโยบายเศรษฐกิจมาเป็นหนึ่งช่วยชูโรง พร้อมกับวางไทม์ไลน์กระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนให้ได้ใน 100 วัน โดยไม่ต้องรอแผนงบประมาณ เริ่มจากโครงการ “หวยใบเสร็จ” มุ่งเพิ่มกำลังซื้อช่วยธุรกิจรายย่อย โดยเปิดให้ประชาชนที่ซื้อสินค้า บริการ จากร้านค้าเอสเอ็มอีครบ 500 บาท แลกสลากได้ 1 ใบ ไม่เกิน 2 ใบต่อเดือน ส่วนเอสเอ็มอีที่ร่วมโครงการ หากขายของได้ครบ 5,000 บาท ก็แลกสลากได้ด้วยเช่นกัน ขณะที่ด้านดึงดูดการลงทุนจะใช้กองทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งมีเหลืออยู่ 10,000 ล้านบาท สนับสนุน ทุนวิจัย  ฝึกอบรมบุคลากร สนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายด้านเทคโนโลยี

ต่อมา…เป็นการเร่งแก้ปัญหาค่าครองชีพปากท้องประชาชน ด้วยการสั่ง ลดค่าไฟ 70 สตางค์ โดยให้คณะกรรมการกำกับดูแลนโยบายพลังงาน เปลี่ยนนโยบายจัดสรรก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย จากให้นายทุนก่อนเป็นให้ประชาชนก่อน ซึ่งจะเสร็จใน 100 วัน และเห็นผลภายใน 1 ปี รวมไปถึงการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทันที 450 บาท พ่วงกับเสนอ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบปรับขึ้นค่าจ้างตามภาวะเศรษฐกิจทุกปี ไม่ต้องรอ 4 ปีครั้งช่วงมีการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันจะช่วยเหลือเอสเอ็มที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง เช่น ช่วยสมทบประกันสังคมแทนนายจ้าง 6 เดือน พร้อมนำค่าแรงไปหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า นอกจากนี้เร่งปลดล็อกกฎระเบียบที่ขวางความเจริญของประเทศ เช่น การเดินหน้า พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า การคืนที่ดิน 10 ล้านไร่ เปลี่ยน ส.ป.ก.เป็นโฉนดให้เกษตรกร 

แตกไลน์ 4 นโยบาย ศก

นอกจากนี้ก้าวไกลยังมีนโยบายเศรษฐกิจที่จะทำต่อเนื่องในระยะถัดไปอีก โดยซอยย่อยออกมา 4 ด้าน เศรษฐกิจ เกษตร คมนาคม และพลังงาน  ประกอบด้วย ด้านเศรษฐกิจ การปรับ ปรุงกฎหมายแข่งขันทางการค้า การเพิ่มจำนวนใบอนุญาตธนาคารเสมือนจริงแห่งยุคดิจิทัลอย่างน้อย 3 เท่า ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้ทุนตั้งตัว 200,000 รายต่อปี  การส่งเสริมและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวสีเขียว การรื้อใหญ่กระทรวงวัฒนธรรมเปลี่ยนเป็นกระทรวงเศรษฐกิจและวัฒนธรรมสร้างสรรค์ การยกเลิกการเซ็นเซอร์ และให้กองทุนภาพยนตร์สนับสนุนผู้ผลิตหนังหน้าใหม่ ผลักดันอาชีพให้บริการทางเพศถูกกฎหมาย ปลดล็อกเซ็กซ์ทอย และหนังผู้ใหญ่ รวมถึงการตั้งกาสิโน และกาสิโนออนไลน์ถูกกฎหมายที่มีรัฐกำกับดูแล

ถัดไปเป็นด้านคมนาคม จะเร่งพัฒนาตั๋วร่วมใช้บัตรใบเดียวเดินทางได้ทุกระบบขนส่งสาธารณะทั่วไทย รถเมล์และรถไฟฟ้า 8-45 บาทตลอดสาย การอุดหนุนงบประมาณ 10,000 ล้านบาท รถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัดภายใน 7 ปี ด้านภาคเกษตรกรรม จะกระจายอำนาจการประมงให้ท้องถิ่น กำจัดการเผาภาคการเกษตรภายใน 3 ปี พร้อมงบปรับตัวตำบลละ 3 ล้านบาท ผลักดันกฎหมายอากาศสะอาด และ ด้านพลังงาน ส่งเสริมอุตสาหกรรมรถเมล์ รถบรรทุกไฟฟ้า สร้างเศรษฐกิจสีเขียวครบวงจร สร้างอุตสาหกรรมชิปในประเทศ

แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่น บ.

ขณะที่ “พรรคเพื่อไทย” ที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับสอง แบ่งนโยบายเศรษฐกิจเป็น 4 ด้านเช่นกัน เริ่มจาก ด้านเศรษฐกิจ เพื่อไทยชูนโยบายผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เติบโตเฉลี่ยอย่างต่ำปีละ 5% พร้อมกับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน รวมถึงจบปริญญาตรี หรือทำงานราชการเงินเดือนเริ่มต้น 25,000 บาท ภายในปี 70 และให้ทุกครอบครัวมีรายได้ไม่น้อยกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ขณะที่นโยบายที่สร้างเสียงฮือฮามากสุด คือ การแจกเงินดิจิทัล ให้คนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป จะได้เติมเงิน 10,000 บาท ลงกระเป๋าเงินดิจิทัล รวมถึงการสร้างเขตธุรกิจใหม่ 4 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และหาดใหญ่ การเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวเป็น 3 ล้านล้านบาท ในปี 70 พร้อมกับยกระดับสนามบินนานาชาติให้รองรับนักท่องเที่ยว 120 ล้านคน และปริมาณการขนส่งสินค้า 3 ล้านตัน ภายในปี 70

ด้านที่สองคือ ด้านคมนาคม เพื่อไทยประกาศเดินหน้ารถไฟฟ้ากรุงเทพฯ 20 บาทตลอดสาย ติดตั้งเครื่องปรับอากาศให้รถไฟชั้นสามทุกขบวน เร่งการเชื่อมโยงรถไฟขนส่งสินค้า เชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ ตามมาด้วย ด้านเกษตรกรรม ผลักดันเกษตรกรมีรายได้ 30,000 บาทต่อไร่ต่อปี การพักหนี้เกษตรกรทั้งต้นและดอก 3 ปี การเพิ่มผลผลิตข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ลำไย โดยเฉพาะข้าวโพดและถั่วเหลือง เพื่อลดการนำเข้าปีละกว่า 3 แสนล้านบาท ตลอดจนยกเลิก พ.ร.ก.ประมง 2558 และจัดทำใหม่ การรับจดทะเบียนฟรี ประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก ผลักดันกฎหมายอากาศสะอาด และ นโยบายพลังงาน ประกาศให้ลดราคาน้ำมัน แก๊ส และไฟฟ้าทันที ควบคู่กับเปลี่ยนรถเมล์กรุงเทพฯ เป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด

ล้างหนี้เพิ่มบำนาญ

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน

ส่วน “พรรคไทยสร้างไทย” ที่ระดมขุนพลมือดีด้านเศรษฐกิจไว้หลายคนโดยนโยบายเศรษฐกิจได้ชูโครงการบัตรเครดิตประชาชน ลดภาระหนี้สินครัวเรือน ล้างหนี้นอกระบบ พร้อมกับเปิดโอกาสประชาชนกู้เงินเพื่อตั้งตัว ตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท ดอกเบี้ยไม่เกิน 1% ต่อเดือน ไม่ต้องค้ำประกัน ติดเครดิตบูโรก็กู้ได้ การพักหนี้เสียให้ธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบโควิดไว้ 3 ปี ปรับโครงสร้างหนี้และงดจ่ายดอกเบี้ย 2 ปี การเพิ่มบำนาญประชาชน 3,000 บาทต่อเดือน เป้าหมาย 5 ล้านคน รวมถึงการออกหวยบำเหน็จ ซื้อหวยได้เงินคืนทุกบาท เก็บเงินหวยไว้ใช้ในวันเกษียณ ขณะที่ด้านเกษตรกรรม จะผลักดันสินค้าเกษตรราคาสูง โดยเกษตรกรกำหนดราคาขายได้ การสร้างโครงข่ายประปาเพื่อการเกษตร แก้น้ำแล้ง-น้ำท่วม ขุดลอกคลอง ขุดบ่อนา 1 ล้านบ่อ ขุดบ่อบาดาล 1 แสนบ่อ แก้ปัญหาสิทธิที่ดินทำกิน โดยปฏิวัติที่ดิน ส.ป.ก. และตั้งกองทุนวิสาหกิจชุมชนเพื่อเกษตรกร

เร่งสร้างตลาดกลาง

อาจเป็นรูปภาพของ 2 คน

ขณะที่ “พรรคประชาชาติ” นำโดย วันมูหะมัดนอร์ มะทา นักการเมืองรุ่นใหญ่ ที่มีฐานที่มั่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ วางนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตามระบบเสรีนิยม ให้คนไทยมีมาตรฐานการครองชีพสูงขึ้น มีไฮไลต์เน้นการพัฒนาด้านการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมควบคู่กัน เช่น สร้างตลาดกลางช่วยประกันราคาข้าว ตลอดทั้งผลิตผลเกษตรกรรมทุกชนิด ช่วยประนอมหนี้และช่วยให้มีที่ดินเป็นของตนเอง รวมทั้งการพาณิชยกรรมและการขนส่งให้ได้สัดส่วนและสอดคล้องกัน การเพิ่มผลผลิตของประเทศและรายได้ประชาชาติ ส่งเสริมให้ประชาชนได้รับผลจากการพัฒนาโดยเสมอภาคและทั่วถึง นอกจากนี้ยังส่งเสริมอุตสาหกรรมเอกชนทุกประเภท โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่สนับสนุนการพัฒนาการเกษตร ตลอดจนส่งเสริมให้ขยายตลาดและบริการทุกประเภทให้กว้างขวาง ตลอดจนการนำความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ แต่ขณะเดียวกันต้องรักษาเสถียรภาพการเงิน การคลัง เพื่อป้องกันภาวะเงินเฟ้อ ส่งเสริมการออม การหาทางเพิ่มรายได้ของรัฐให้สูงขึ้น และการพัฒนา การศึกษาให้สอดประสานกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 

เบี้ยพิการยกหนี้ กยศ.

หันมาที่ “พรรคเสรีรวมไทย” ไม่ได้มีดีแค่การปะ ฉะ ดะ แก้คอร์รัปชันเท่านั้น แต่ “วีรบุรุษนาแก” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ยังมีนโยบายเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ได้แก่ การจัดที่ดินที่อยู่อาศัยทำกินให้ประชาชน การปฏิรูปการใช้ที่ดินของรัฐ แก้ปัญหาแนวทับซ้อนที่ดินทำกินร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นการเรียนฟรีจนจบปริญญาตรี และยกเลิกหนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) พร้อมสนับสนุนภาคการศึกษาจ่ายตรงให้มหาวิทยาลัย 25,000 บาท ปีละ 2 ภาคการศึกษา เป็นเงิน 50,000 บาทต่อคนต่อปี การสร้างบำนาญประชาชนให้ได้รับเพิ่มเป็น 3,000 บาทต่อเดือน เพิ่มเบี้ยผู้พิการ 3,000 บาทต่อเดือน การสร้างเขื่อนเพื่อการเกษตร  ป้องกันปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม คือการสร้างเขื่อนขนาดกลาง ขนาดเล็ก และพนังกั้นน้ำ การทำพลังงาน น้ำมัน ไฟฟ้า ราคาถูกสำหรับประชาชน เช่น การทวงคืน ปตท. ให้กลับมาเป็นของประชาชน  การยกเลิกการอ้างอิงราคาตามประเทศสิงคโปร์ การรื้อระบบสัญญาสัมปทานไฟฟ้า รวมถึงสร้างโซลาร์เซลล์ โรงไฟฟ้าชุมชน และควบรวมการไฟฟ้า 3 ฝ่ายเข้าด้วยกัน

เปลี่ยนผ่านสร้าง

ด้าน “พรรคเป็นธรรม” ที่แม้มี ส.ส.เพียง 1 เก้าอี้แต่ก้าวไกลก็ต่อสายเชิญร่วมรัฐบาล เนื่องจากมีจุดยืนทางการเมืองเดียวกัน โดยศึกเลือกตั้ง 66 พรรคเป็นธรรม ชูนโยบาย  “4 เปลี่ยน” ผ่าน “3 สร้าง” และ “4 สู้” ซึ่งแม้นโยบายส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักเน้นการผลักดันสิทธิเสรีภาพ และมนุษยธรรมนำการเมือง แต่ก็สามารถคั้นนโยบายเกี่ยวกับเศรษฐกิจออกมาได้ ดังนี้ การสร้างเศรษฐกิจฐานรากจากนโยบายที่เรียกว่า “การทำงาน ณ ถิ่นกำเนิด” เปลี่ยนให้ชุมชนกำหนดอนาคตการพัฒนาแทนทุนใหญ่ พร้อมกับเปลี่ยนชายแดนเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม

เช่นเดียวกับ “พรรคเพื่อไทรวมพลัง” พรรคม้ามืดกับ 2 เสียง จาก ส..เขต 3 และเขต 10 อุบลราชธานี ที่ได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาล ที่พบว่าได้เน้นนโยบายในเรื่องของ การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่เป็นหนี้เสีย โดยให้กองทุนฟื้นฟูฯ รับซื้อหนี้ทั้งหมดที่มีในสถาบันการเงินทุกประเภท รวมหนี้นอกระบบด้วย ขณะที่ด้านการศึกษาก็มีนโยบายเรียนฟรี ปริญญาตรีมีงานทำ สร้างอาชีพในชุมชน ส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี ธุรกิจออนไลน์ ลดความเหลื่อมล้ำปฏิรูปที่ทำกิน ยกเลิก ส.ป.ก. กทบ.5 ที่ราชพัสดุที่หมดสภาพความเป็นป่าและมีประชาชนอาศัยอยู่โดยออกเป็นโฉนดทุกแปลงสร้างนวัตกรรมเกษตรไทย ปฏิรูปภาคเกษตรโดยใช้นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี เป็นต้น

ขณะที่ “พรรคพลังสังคมใหม่” ที่มี 1 เสียงจากส..บัญชีรายชื่อเพียงคนเดียวของพรรคในพื้นที่ จ.น่าน ที่มีนโยบายรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าจ่ายเงินให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยเดือนละ 3,000 บาททุกเดือน มีกองทุนกู้วิกฤติธุรกิจ รายย่อย (แม่ค้ารายย่อย) ให้เข้าถึงแหล่งทุน วงเงินไม่เกิน 300,000 บาท การแก้ไขปัญหาหนี้สินให้สมาชิกกองทุนฟื้นฟูและกลุ่มเกษตรกรปุ๋ยคนละครึ่งที่พึ่งเกษตรกรเพื่อลดต้นทุนให้กับเกษตรกร รวมไปถึงการนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ติดเครดิตบูโร

ด้านพรรคสุดท้ายอย่าง “พรรคใหม่” ก็มีนโยบายเด่นอยู่ที่การล้างบางทุจริตและการปฏิรูประบบราชการทุกหน่วยงาน การยกเลิกเครดิตบูโร การกำจัดสิทธิถือครองที่ดิน เพิ่มสวัสดิการที่อยู่อาศัย รักษาพยาบาล และกองทุนวัยรุ่นสร้างตัวให้ผู้เรียนจบใหม่มีเงินทุนใช้ประกอบอาชีพ

ถึงวันนี้แม้การได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ยังไม่จบลงง่าย ๆ  และมีขวากหนามอยู่หลายด่าน  ทั้งการรอผลรับรองการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. การเคลียร์ปมการถือหุ้นสื่อของตัวนายพิธาเอง หรือเสียงสนับสนุนจาก ส.. อีก 63 เสียง เพื่อสนับสนุนให้ “นายกฯทิม” ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

ทั้งหลายทั้งปวง!! ก็ต้องมาตามติดกันต่อไปว่าผลสำเร็จของการรวมตัวกันของพรรคร่วมฯ จะเกิดขึ้นได้จริง ตามที่หมายมั่นปั้นมือกันได้มากน้อยเพียงใด?

…ทีมเศรษฐกิจ…