อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติของกัมพูชา มีมติเมื่อช่วงกลางเดือนนี้ ไม่รับการจดทะเบียนของพรรคแสงเทียน ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักในปัจจุบัน เนื่องจาก ไม่สามารถแสดงเอกสาร “ได้อย่างครบถ้วนตามกฎหมาย” ภายในระยะเวลาที่กำหนด ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงไม่สามารถอนุมัติให้พรรคแสงเทียน เป็นหนึ่งในพรรคการเมือง ส่งผู้สมัครลงชิงชัยในการเลือกตั้งแห่งชาติ ที่กำลังจะเกิดขึ้น

ผู้สมัครและทีมงานพรรคแสงเทียน หาเสียงเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ในกรุงพนมเปญ เมื่อเดือน มิ.ย. 2565

ทั้งนี้ พรรคแสงเทียนถือเป็น “เหล้าเก่าในขวดใหม่” เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่ เคยร่วมงานกับพรรคกู้ชาติกัมพูชา (ซีเอ็นอาร์พี) ของนายสม รังสี ซึ่งตอนนี้ลี้ภัยอยู่ในฝรั่งเศส และนายเกิม สุขา ผู้นำฝ่ายค้านคนปัจจุบัน ก่อนที่ศาลฎีกาของกัมพูชา สั่งยุบพรรคซีเอ็นอาร์พี เมื่อเดือน พ.ย. 2560 ซึ่งส่งผลให้พรรคซีพีพี ชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือน ก.ค. 2561 “ได้อย่างง่ายดาย”

สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วไป ที่กรุงพนมเปญ 29 ก.ค. 2561

การรวมตัวอีกครั้งของสมาชิกพรรคฝ่ายค้านกัมพูชา ซึ่งกระจัดกระจายกันไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในนามพรรคแสงเทียน “เป็นที่จับตา” เมื่อพรรคส่งผู้สมัครครั้งแรก ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น เมื่อเดือน มิ.ย. 2565 และได้รับการเลือกตั้งเข้ามาด้วยสัดส่วนประมาณ 22%

สำหรับกัมพูชา ประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองของผู้นำคนเดียวเป็นเวลาต่อเนื่องนานหลายทศวรรษ การเลือกตั้งเป็นมากกว่าการตัดสินผู้ชนะ “ตามครรลองประชาธิปไตย” แต่แน่นอนว่า “จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ” ทางการเมืองของกัมพูชาในยุคปัจจุบัน เกิดขึ้นตั้งแต่การที่ศาลสั่งยุบพรรคซีเอ็นอาร์พี ที่ทำให้การเลือกตั้งของกัมพูชา กลายเป็น “การแทงม้าตัวเดียว” แม้ยังเหลือพรรคการเมืองขนาดเล็กอีกหลายพรรค แต่พรรคเหล่านั้นแทบไม่มีบทบาทอะไร

ผลการเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชา ที่กำลังจะเกิดขึ้นภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เป็นเรื่องที่คาดเดาได้อยู่แล้ว ว่าพรรคใดจะได้รับการเลือกตั้งเข้ามามากที่สุด หลายฝ่ายจึงมองไปที่ กระบวนการถ่ายโอนอำนาจภายในพรรคซีพีพีมากกว่า หลังคณะผู้นำพรรครุ่นแรก ที่นำโดยสมเด็จฮุน เซน ครองอำนาจต่อเนื่องยาวนาน 4 ทศวรรษ ตั้งแต่ปี 2522

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของพรรคซีพีพี มีมติเมื่อเดือน ธ.ค. 2564 สนับสนุน พล.อ.ฮุน มาเนต บุตรชายคนโตของผู้นำกัมพูชา ในฐานะ “ตัวแทนพรรคเพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป” แต่ไม่ได้ระบุช่วงเวลาอย่างชัดเจนว่าเมื่อใด ขณะที่สมเด็จฮุน เซน ยืนยันการสนับสนุนบุตรชาย ให้เป็นผู้สืบทอดอำนาจทางการเมือง “ผ่านกระบวนการการเลือกตั้ง”

พล.อ.สมเด็จ เตีย บัญ รมว.กลาโหมกัมพูชา (คนซ้าย) และ พล.อ.ฮุน มาเนต บุตรชายคนโตของสมเด็จฮุน เซน

ด้าน พล.อ.ฮุน มาเนต ยังไม่มีความเห็นอย่างเป็นทางการต่อการประกาศของบิดา ซึ่งยืนกรานปฏิเสธว่า การตัดสินใจครั้งนี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสถาปนา “ระบอบฮุน เซน” โดยนำไปเปรียบเทียบกับกรณีของนายชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งมีปู่เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเคยเดินทางเยือนกัมพูชาด้วย ขณะที่นายชินทาโร อาเบะ บิดาของอาเบะ เคยดำรงตำแหน่ง รมว.การต่างประเทศของญี่ปุ่น

สำหรับประวัติโดยสังเขปของ พล.อ.ฮุน มาเนต ปัจจุบันอายุ 45 ปี สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก “เวสต์พอยต์” เมื่อปี 2542 และสำเร็จการศึกษาระดับเศรษฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยบริสทอล ในสหราชอาณาจักร

หากไม่นับ “การเปิดตัวอย่างเป็นทางการ” ของ พล.อ.ฮุน มาเนต พรรคซีพีพีของสมเด็จฮุน เซน ดำเนินการถ่ายโอนอำนาจเป็นการภายในอย่างเงียบเชียบมานานแล้ว สมาชิกพรรคซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ มีบทบาทมากขึ้นทีละน้อย ทั้งภายในพรรค และการมีตำแหน่งในรัฐบาล การเลือกตั้งทั่วไปในเดือน ก.ค. ที่จะถึง “ซึ่งเป็นการเขียนบทไว้เรียบร้อยแล้ว” น่าจะเป็นขั้นตอนช่วงสุดท้ายของการถ่ายโอนอำนาจทางการเมือง แม้ในอนาคตกัมพูชา อาจไม่ได้อยู่ภายใต้การบริหารและการปกครองโดยผู้นำคนเดียวเป็นเวลานานหลายสิบปีอีกต่อไป แต่อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “ยุคสมัยแห่งการยากคาดเดา” ที่นานยิ่งกว่าก็เป็นได้.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP