ถูกขายฝัน…เพราะเข้าใจผิด…คิดว่าง่าย!! สุดท้ายก็เจ็บ!! เพราะเราไม่ได้ศึกษาให้ดี ๆ” เสียงจาก “สาวลุคเปรี้ยวแซ่บ” ที่ชื่อ “ออ-อรทัย ยางไธสง” บอกเล่าเส้นทางในอดีตให้เราฟัง เกี่ยวกับ “จุดเริ่มต้น” ที่ทำให้ชีวิตเธอพลิกผันกลายมาเป็น “เจ้าแม่ผักกะละมัง” ตามที่หลาย ๆ คนได้ให้ฉายานี้กับเธอ โดยเธอบอกเล่าว่า เริ่มจากลองเลี้ยงด้วง เพราะมีคนมาขายความฝันกับเธอว่าเป็นอาชีพที่ทำได้ง่าย ๆ และได้เงินดี แต่เมื่อลงมือทำจริง ๆ แล้ว กลับไม่เป็นอย่างที่เคยถูกขายฝันไว้ จนตอนหลังเธอจึงมุ่งค้นหาเส้นทางอาชีพใหม่ด้วยตัวเธอเอง โดย “นำประสบการณ์ในอดีตมาใช้เป็นบทเรียน” จนทำให้เจอ “เส้นทางที่ใช่” และกลายมาเป็นเธออย่างในวันนี้ ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” มีเรื่องราวของสาวลุคเปรี้ยวซี้ดคนนี้มานำเสนอ…

อออรทัย เล่าให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังว่า ปัจจุบันอายุ 42 ปี ยังไม่มีครอบครัว และตอนนี้เธอทำงานประจำ มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการในบริษัทออกแบบแลนด์สเคปแห่งหนึ่ง ซึ่งพื้นเพเธอเป็นคนบุรีรัมย์ แต่ปัจจุบันย้ายภูมิลำเนามาอยู่ที่นนทบุรี โดยเธอศึกษาจบปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ และปริญญาโท MBA จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยคุณพ่อเธอเป็นครู ขณะที่คุณแม่นั้นเป็นแม่บ้าน ทั้งนี้ เธอได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการ “ปลูกผักกะละมังขาย” ว่า หลังจากเธอได้รับทำงานฟรีแลนซ์กับบริษัทพี่สาว ทำให้มีเวลาว่างเหลือเยอะ จึงอยากหางานอดิเรกทำ จนมาจบที่การเลี้ยงด้วง เพราะเข้าใจผิดว่าใช้เวลานิดเดียวแต่ทำกำไรได้มาก เนื่องจากถูกขายฝันมา แต่ความเป็นจริงการเลี้ยงด้วงจะต้องใช้เวลาทั้งวัน แถมยังมีกลิ่นแรงมาก ซึ่งเมื่อไม่ใช่อย่างที่คิดไว้ ทำให้อาชีพเลี้ยงด้วงของเธอจึงไม่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่าก็ไม่ได้คิดโทษใคร แต่โทษตัวเองที่ไม่ศึกษาให้ดีพอ

“ตอนที่เลี้ยงด้วง ทั้งต้องใช้เวลา และกลิ่นมันแรงมาก จนกลิ่นไปรบกวนเพื่อนบ้าน และแม้แต่ตัวเราเองก็ทนไม่ได้ ทำให้ต้องหยุดเลี้ยง แต่เราลงทุนซื้ออุปกรณ์ที่ใช้เลี้ยงด้วงไปเยอะมาก ไหนจะลงทุนปรับสถานที่ไปแล้วอีก ก็มาคิดว่าจะทำยังไงดี ซึ่งตอนนั้นแค่คิดว่าจะทำยังไงกับทุนที่จมไปแล้ว โดยเฉพาะกะละมัง เราก็เลยเอากะละมังมาเจาะรู แล้วก็ปลูกผักสวนครัวแบบง่าย ๆ ผักสวนครัวอย่างผักบุ้ง ตอนนั้นก็คิดแค่ว่าปลูกเพื่อผ่อนคลาย ปรากฏผักมันออกมาสวยงามเลย ทีนี้มีเพื่อนบ้านมาเห็น ก็เข้ามาชมว่าน่ารักจัง ขอซื้อเอาไปฝากคนอื่นหน่อย ปรากฏ 20 กะละมังแรก เราขายได้หมดเลย โดยผักที่ปลูกลอตแรกนั้น เรายังไม่ทันได้เก็บกินเลย” ออ-อรทัย เล่าให้เราฟังเกี่ยวกับเรื่องนี้

สอนเด็ก ๆ และเยาวชนปลูกผักกะละมัง

พร้อมกับเล่าให้ฟังอีกว่า จากจุดนี้ก็กลายเป็นการ “จุดประกาย” ให้เธออยากลองปลูกผักขายจริงจัง แต่ด้วยความที่ไม่มีดิน ก็เลยเป็นที่มาของการปลูกผักลงในกะละมัง ซึ่งปัจจุบันมีผักที่ปลูกทั้งหมด 20 ชนิด ก็จะมีอาทิ ผักบุ้ง, ผักชีไทย, ผักชีลาว, ผักชีฝรั่ง, กวางตุ้งไทย, กวางตุ้งฮ่องเต้, ผักกาดขาว, สะระแหน่, กะเพรา, โหระพา, กรีนคอส, เรดคอส, ปวยเล้ง, ขึ้นฉ่าย, ต้นหอม, พริก, โรสแมรี่, ต้นอ่อนทานตะวัน แต่ที่ขายดีที่สุดคือ ผักชีไทยและผักบุ้ง เรียกว่าขายดีทุกเดือน

สำหรับต้นทุนและกำไรจากผักกะละมังนั้น เธอบอกว่าเธอคำนวณต้นทุนไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า เมื่อรวมค่าแรงของเธอแล้ว จะใช้ทุนไม่เกิน 50 บาท ซึ่งตอนที่ปลูกใหม่ ๆ เธอขายได้ 80 บาทต่อผัก 1 กะละมัง เท่ากับว่าเธอได้กำไร 30 บาทต่อ 1 กะละมัง ซึ่งจากผลตอบรับที่ออกมาดีมากช่วงนี้ ความต้องการของลูกค้ามีเข้ามามาก จึงกลายเป็นว่า ตอนนี้ขายให้ลูกค้าได้แต่คนที่สั่งจองหรือออร์เดอร์เอาไว้ โดยแทบไม่มีเหลือกับลูกค้าที่วอล์กอินเข้ามาเลย

“ที่ชอบที่สุดคือ ผักบุ้งกับผักชีไทยค่ะ เพราะไม่มีศัตรูพืชและปลูกง่าย แค่รดน้ำอย่างเดียวก็โตแล้ว ซึ่งผักแต่ละชนิดจะใช้เวลาปลูกไม่เท่ากัน เช่น ผักบุ้ง ถ้าต้นอ่อนก็ 14 วัน แต่ถ้าโตเต็มที่ก็ 30 วัน ส่วนผักชีไทย ผักชีลาว ผักชีฝรั่ง กวางตุ้ง คะน้า พวกนี้ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 45 วัน และที่ใช้เวลามากสุดก็จะเป็นกลุ่มผักสลัด ที่ต้องราว ๆ 60 วัน เพราะโตช้า อีกอย่างเราไม่ได้ใส่ปุ๋ยเร่ง แต่ให้เขาโตตามธรรมชาติ ส่วนผักที่ขายได้ราคามากสุด ก็จะเป็นพวกผักสวย ๆ กอใหญ่ ๆ เช่น โรสแมรี่ หรืออย่างมะนาวก็ปลูก ถ้าติดลูกจะขาย 400 บาท เพราะปลูกไม่ง่าย ซึ่งมีเท่าไหร่ก็ไม่พอขาย”

เป็นวิทยากรให้ความรู้ด้วย

“เจ้าแม่ผักกะละมัง” ยังบอกกับเราต่อไปถึงสิ่งที่น่าสนใจ เกี่ยวกับแนวคิดในการทำอาชีพนี้ของเธอ นั่นก็คือ ผักกะละมังของเธอนั้น ราคาที่จำหน่ายนั้นไม่ได้อิงจากราคาตลาด แต่เป็นราคาที่เธอกำหนดเอง โดยเธอตั้งราคาตามความตั้งใจในการเพาะปลูกผักของเธอ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ไม่เคยมีใครบ่น แถมยังบอกอีกว่า ผักที่เธอปลูกขายนั้นไม่แพง ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะดูรูปผักที่เธอขายจากเพจ wakeupvegetables ของเธอ แล้วจึงกดสั่งซื้อเข้ามา โดยลูกค้าส่วนใหญ่เชื่อมั่นในคุณภาพของผัก ซึ่งเรื่องนี้เธอได้ย้ำว่า ทุกอย่างคือความเชื่อใจที่ทั้งเธอและลูกค้ามีให้ต่อกัน

นอกจากการ ปลูกผักกะละมังขาย แล้ว กับงานเสริมตอนนี้ เธอก็มีเพิ่มเติมเข้ามา นั่นก็คือการเปิด คอร์สสอนปลูกผักกะละมัง และการรับเชิญเดินสายไปเป็น วิทยากรให้ความรู้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ให้กับหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ รวมถึงในโรงเรียน ในสถานศึกษาหลาย ๆ แห่ง และก็ยังมีรายได้เข้ามาอีกทางจากแบรนด์ของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ผัก ที่มีการจัดอีเวนต์ให้กับลูกค้าของแบรนด์ต่าง ๆ โดยคนส่วนใหญ่ที่สนใจมาเรียนกับเธอมักจะเป็นกลุ่มครอบครัว “หลาย ๆ คน เรียนไปเรียนมา สุดท้ายก็กลายมาเป็นเพื่อนกันกับเราก็มี” ออ-อรทัย เล่าเรื่องนี้พร้อมรอยยิ้มภูมิใจ

ทั้งนี้ เธอบอกว่า เท่าที่สังเกตคนกรุงเทพฯ จะตื่นเต้นและอินกับการปลูกผักกะละมังมาก ๆ และส่วนใหญ่จะเป็นคนที่พักอยู่ในตึก อาคาร หรือคอนโดมิเนียม ซึ่งหลายคนได้มาบอกกับเธอว่า ไม่เคยจับดิน ไม่เคยจับเมล็ดพันธุ์มาก่อนเลย แต่อยากลองปลูกผักไว้กินเอง ซึ่งคนที่เข้ามาเรียนนั้น ก็จะแนะนำตั้งแต่เรื่องการใช้ดิน การจัดสถานที่ปลูก หรือแม้แต่การเลือกซื้ออุปกรณ์

ลุคที่ไม่ใช่สาวปลูกผัก

“ที่ตั้งใจไว้ก็คือ อยากทำให้ที่นี่เป็นแบบ One Stop Service ที่มีทุกอย่างครบวงจรให้กับคนที่เขาเข้ามาหาเรา” เป็นสิ่งที่สาวคนนี้ตั้งใจเอาไว้ว่าจะพยายามทำให้สำเร็จ

ก่อนลากันวันนั้น “เจ้าแม่ผักกะละมัง” ที่ชื่อ “ออ-อรทัย ยางไธสง” ได้บอกทิ้งท้ายกับ “ทีมวิถีชีวิต” ไว้ว่า จากที่มีประสบการณ์ผิดพลาดมาก่อน ส่วนตัวอยากฝากถึงทุก ๆ คนว่า หากชอบหรือรักที่จะทำอะไร ก็ต้องไม่กลัวการผิดหวังหรือความล้มเหลว เพราะไม่มีใครที่รู้ล่วงหน้าได้ชัด ๆ ว่า สิ่งที่ทำจะดีจะสำเร็จหรือไม่ จนกว่าจะลงมือทำ แล้วค่อย ๆ เรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งกลัวล้มเหลวตั้งแต่ก่อนที่จะเริ่มทำ ก็ทำให้ยากจะประสบความสำเร็จ สู้ทำแล้วล้มเหลว แล้วก็เอาความล้มเหลวมาเป็นบทเรียนจะดีกว่า โดยเธอได้ย้ำว่า “เราเชื่อว่าความล้มเหลวเป็นครูที่ดีได้นะ ถ้าเราเอามาเป็นบทเรียนเพื่อปรับปรุงต่อยอด ซึ่งความกลัวการเปลี่ยนแปลง จะทำให้ตัวเราเองนั่นแหละ ไม่พัฒนา ย่ำอยู่กับที่ เพราะทำให้เราไม่กล้าลองอะไรใหม่ ๆ ดังนั้น…

การกลัวก่อนก้าวนี่ไม่ดีแน่”.

‘ปลูกความสุข-ปลูกผักบำบัด’

“เจ้าแม่ผักกะละมัง” ที่ชื่อ “ออ-อรทัย ยางไธสง” บอกไว้ด้วยว่า แม้การปลูกผักจะเป็นสิ่งเล็กน้อย แต่กลับได้ประโยชน์มหาศาล นอกจากเป็นอาชีพได้แล้ว คนปลูกก็ยังได้ความสุข ได้ผ่อนคลายจากความเครียดในชีวิตประจำวันอีกด้วย โดยเธอได้เล่าว่า มีลูกค้ากลุ่มหนึ่งเข้ามาปลูกผักกะละมังเพื่อ “บำบัด” โดยกลุ่มนี้มีภาวะ “แพนิก” หรือบางคนก็มีภาวะ “ซึมเศร้า” และที่เป็น “มะเร็ง” ก็มี ซึ่งถ้ามีลูกค้ากลุ่มนี้เข้ามา เธอจะบันทึกไว้ เพื่อจะให้เวลากับคนกลุ่มนี้มากเป็นพิเศษ แต่ก็จะคิดค่าใช้จ่ายตามปกติของราคาคอร์ส คือคนละ 500 บาท ไม่ได้เก็บเพิ่ม แม้จะให้เวลากับคนกลุ่มนี้มากกว่าปกติ เพราะนี่เป็นสิ่งที่เธอพอใจ อยากที่จะช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ เพื่อที่คนป่วยเหล่านี้จะได้มีพลังใจต่อสู้ต่อไป “อยากให้เขามีความสุข ด้วยสิ่งเล็ก ๆ นี้ที่เราทำได้”.

เชาวลี ชุมขำ : รายงาน