และประชาชนต้องการผู้นำการเปลี่ยนแปลง จึงสนับสนุนพรรคที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนฐานราก ความเท่าเทียม ความหลากหลาย ความเป็นมนุษย์ และมีแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG 17 ข้ออย่างจริงจัง ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก โดยการเปลี่ยนแปลงนี้ จุดประกายความหวังของผู้คนที่ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 มิติขึ้นมาอีกครั้ง และถึงแม้จะยังเร็วเกินไปที่ทุกคนจะได้เห็นผู้นำและผู้เล่นต่าง ๆ ที่ชัดเจนก็ตาม แต่ก็มีคำถามน่าสนใจว่า เรามีบทเรียนดี ๆ จากประเทศใดบ้าง ที่นายกรัฐมนตรีและทีมบริหารซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความยั่งยืนนี้ ซึ่งสำหรับคำตอบของคำถามนี้ ก็มีตัวอย่างดี ๆ ในหลายประเทศ

ทั้งนี้ สำหรับประเทศที่โดดเด่นและที่ลักษณะคล้ายกับเรามาก คือ ประเทศนิวซีแลนด์ ที่มีผู้นำคือ คุณ Jacinda Ardern ที่ใช้        เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นแกนกลางในการออกแบบนโยบายการทำงานของรัฐบาล และทลายกำแพงการทำงานที่เป็นแท่งของกระทรวงต่าง ๆ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐต่าง ๆ รับผิดชอบเป้าหมายที่เกี่ยวข้องร่วมกัน ทั้งยังขยายความร่วมมือกับภาคเอกชนและประชาสังคมอย่างกว้างขวาง โดยนโยบายเหล่านี้ ไม่เพียงสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับชุมชนและระดับประเทศเท่านั้น แต่รัฐบาลนิวซีแลนด์ ยังผลักดันเรื่องราวเหล่านี้ในเวทีระดับภูมิภาคและระดับโลกอีกด้วย

แล้วรัฐบาลชุดใหม่ของไทยจะนำบทเรียนเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ได้อย่างไรบ้าง ซึ่งเรื่องนี้ผมลองเสนอลายแทง “บันได 7 ขั้นสู่ความยั่งยืน” ที่ประมวลจากบทเรียนในระดับนานาชาติไว้ ดังนี้ ขั้นแรก ผู้นำรัฐบาลต้องประกาศให้ชัดเจนเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG ว่าเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่สุด และรัฐบาล รวมถึงหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมมือกันประกาศความรับผิดชอบเรื่องนี้ เพื่อให้เห็นตัวคนและทีมที่รับผิดชอบชัดเจน ขั้นที่สอง รัฐบาลต้องเร่งทำแผนปฏิบัติการความยั่งยืนแห่งชาติ และต้องมีหน่วยงานที่ขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริง เช่น สภาพัฒน์ หรืออาจต้องสร้างกลไกใหม่ที่ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี เพื่อประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการนี้  ขั้นที่สาม เร่งให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจกับข้าราชการ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทราบว่า SDG เป็นงานที่ทำอยู่แล้ว มิใช่งานเพิ่ม จะได้ปรับแผน วิธีทำงาน จัดสรรกำลังคน เวลา และงบประมาณให้เหมาะสม อย่างเร่งด่วน รวมทั้งตั้ง KPI หรือ OKR ของภาครัฐให้ชัดเจน

พอได้แผนชาติและกลไกขับเคลื่อนแล้ว ขั้นที่สี่ คือต้องมีการเชื่อมโยง Ecosystem ของผู้คนที่ทำเรื่องความยั่งยืนในภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หอการค้า สภาอุตสาหกรรม กลุ่ม SME และ Startup องค์กรอิสระ มหาวิทยาลัย ภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศให้มาเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบใน Platform เดียวกัน ขั้นที่ห้า ศึกษาพิจารณาข้อจำกัดทางกฎหมายต่าง ๆ ที่ต้องปรับปรุงพัฒนา หรือออกกฎหมายเฉพาะเพื่อขับเคลื่อนเรื่องที่สำคัญอย่างเร่งด่วน ขั้นที่หก พัฒนาระบบการเงินและประสานแหล่งทุนกับกองทุนต่าง ๆ ที่จะมาสนับสนุนแผนปฏิบัติการความยั่งยืนนี้ สุดท้าย ขั้นที่เจ็ด พัฒนาการสื่อสาร ข้อมูลข่าวสาร ติดตาม กับประเมินผลให้ทราบอย่างโปร่งใส และสร้างการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม

ทั้งนี้ ขั้นตอนเหล่านี้คือสิ่งที่หายไป และไม่มีใครรับผิดชอบอย่างจริงจังในยุคที่ผ่านมา ที่เราได้ทำงานโดยละเลยคำว่า เข้าใจเข้าถึงพัฒนา และคงจะต้องเริ่มกันใหม่อีกครั้ง ด้วยหัวใจ สมอง และสองมือของพวกเราทุกคน ซึ่งผมหวังว่า ลายแทงบันได 7 ขั้นสู่ความยั่งยืนดังกล่าวนี้ รัฐบาลชุดใหม่ จะลองนำไปพิจารณาดูนะครับ.