แม้ว่า ณ เวลานี้ทุกอย่างยังไม่นิ่งดี ต้องใช้ระยะเวลาในการจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการอีกสักระยะ เพื่อให้เห็นภาพนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 2 พรรคใหญ่ที่กวาด ส.ส. มาได้มากสุดว่า ตอนหาเสียงได้ประกาศนโยบายการดูแลสิ่งแวดล้อมไว้อย่างไรบ้าง เพื่อให้เห็นแนวทางที่ชัดเจนว่า หาก 2 พรรคนี้เป็นรัฐบาล นโยบายด้านนี้จะถูกขับเคลื่อนไปอย่างไร?

เริ่มจาก พรรคก้าวไกล ใน 100 วันแรก จะเดินหน้านโยบาย “หลังคาสร้างรายได้” เปิดเสรีโซลาร์เซลล์ ประกันราคาซื้อพลังงานสะอาดสำหรับครัวเรือน โดยปลดล็อกให้ประชาชนทุกบ้านติดแผงโซลาร์ ด้วยระบบหักลบหน่วยขาย/ซื้อ เพื่อช่วยลดค่าไฟฟ้า และเปิดโอกาสให้ขายไฟฟ้าที่ผลิตเกินใช้ กลับคืนให้รัฐในราคาตลาด

เปิดตลาดซื้อ-ขายไฟฟ้าเสรี รัฐดูแลระบบสายส่ง โดยปลดล็อกให้ประชาชนเลือกซื้อแผนการใช้ไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตหลายราย (เหมือนการเลือกแพ็กเกจโทรศัพท์) ด้วยการยกเลิกการที่ กฟผ. เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายเดียว และเปิดตลาดแข่งขันเสรี เพื่อลดค่าไฟให้ประชาชน

เลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดภายในปี 78 เร่งปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่ เพื่อลดการผลิตพลังงานโดยโรงไฟฟ้าถ่านหิน 70% ภายในปี 73 เลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดในปี 78 กำหนดเพดานปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายอุตสาหกรรม เปิดตลาดค้าขายแลกเปลี่ยน อีกทั้งตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกในรายอุตสาหกรรม และเปิดตลาดสำหรับการค้าขายแลกเปลี่ยนโควตา หรือเครดิตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้กรอบเพดานปริมาณที่รัฐกำหนด รวมทั้งสนับสนุนกรีน ไฟแนนซ์ เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยตํ่าสำหรับอุตสาหกรรมที่ลงทุนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กำจัดการเผาภาคเกษตรภายใน 3 ปี พร้อมงบปรับตัว 3 ล้านบาทต่อตำบล ด้วยการอุดหนุนงบประมาณให้ 1,000 ตำบลเสี่ยง เพื่อลดการเผาในภาคเกษตร (เช่น ส่งเสริมให้มีการใช้เครื่องจักรหรือรถไถสำหรับไถกลบตอซังข้าวแทนการเผา) จัดทำแนวกันไฟ และทีมเฝ้าระวังไฟในพื้นที่ป่าชุมชนและพื้นที่ป่าใกล้เคียงของชุมชน และเชื่อมโยงข้อมูลทั้งจากบนฟ้า (ดาวเทียม) และจากภาคพื้น (โดรน และการสำรวจรอยเผา)

ส่งเสริมแปรรูปฟางข้าวหรือซังข้าวโพด เกษตรกรขายแทนเผา เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรเก็บผลพลอยได้เหล่านี้ไปขายแทนการเผา เช่น ใช้สำหรับทำอาหารสัตว์ สำหรับเป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าชีวมวล หรือสำหรับวัสดุสำหรับการก่อสร้าง เช่น กระดาน/ฉนวนจากฟางข้าว ปลูกข้าวเปียกสลับแห้ง ได้ครบวงจร เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซมีเทน ตั้งแต่การลงทุนเพื่อปรับระดับพื้นที่ การจัดหา/จัดการนํ้าในไร่นา ไปจนถึงการตลาด เพื่อให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนที่มั่นคง และพร้อมสำหรับการปรับตัว ยังมีนโยบายแบนโฟม และหลอด-แก้ว-ถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง, เก็บภาษีถุงพลาสติกเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อม, ยกเลิกคำสั่ง คสช. ด้านขยะอุตสาหกรรม ให้อำนาจท้องถิ่นสั่งปิดโรงงานที่มีปัญหาชั่วคราวได้

ส่วน พรรคเพื่อไทย เน้นนโยบายทวงคืนอากาศสะอาด แก้ปัญหาพีเอ็ม 2.5 ที่ยังเป็นปัญหาหนักของประเทศไทย โดยเพื่อไทยมองว่า หัวใจของการปราบฝุ่น คือ การผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน สร้างความร่วมมือระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงวางโครงสร้างให้พร้อมต่อการรับมือ เน้นที่การเจรจาระหว่างประเทศ ตัดปัญหาที่ต้นตอแก้ไขปัญหา ระยะสั้น ทันที หน่วยงานรัฐต้องแจ้งเตือนค่าฝุ่นล่วงหน้าให้ประชาชนวางแผนได้ กรณีฝุ่นสูงจะมีการอพยพกลุ่มเสี่ยงให้ไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย แบบเดียวกับที่รับมือกับภัยพิบัติอื่น ๆ พร้อมทั้งแจกหน้ากากให้กลุ่มเปราะบาง รวมถึงสั่งหยุดโรงเรียนเพื่อลดความเสี่ยง

ระยะกลาง เพื่อไทยจะประสานกับกรมชลประทาน ให้ปล่อยนํ้าเข้านาหลังฤดูเก็บเกี่ยวเพื่อเปลี่ยนตอข้าวให้เป็นปุ๋ย สำหรับอ้อยจะประสานโรงงานนํ้าตาลให้ลงทุนตัดอ้อยไถกลบแทนการเผา ควบคู่กันไปจะมีการปลูกต้นไม้ เพื่อดักจับฝุ่นและจูงใจให้คนหันมาใช้รถพลังงานสะอาดด้วยมาตรการทางภาษี ปรับเงินอุตสาหกรรมรายใหญ่ที่ก่อฝุ่น

ระยะยาว ต้องมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการจัดการปัญหาฝุ่น บังคับใช้กฎหมายกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เจรจากับเพื่อนบ้านเพื่อร่วมกันยุติปัญหาฝุ่นทั้งในประเทศและข้ามพรมแดน รวมถึงพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือเกษตร เก็บเกี่ยวและขุดกลบที่ไม่ต้องเผา เพื่อจัดการฝุ่นให้ถึงต้นตอ ออกแบบผังเมืองใหม่ ลดปัญหาการจราจร

นอกจากนี้ จะเน้นการบริหารจัดการนํ้า ด้วยการทำให้นํ้าต้อง “ไม่ท่วม ไม่แล้ง” และ “ประชาชนต้องมีนํ้าดื่ม นํ้าใช้” ตลอดปี ผ่านการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน สร้างทางระบายนํ้าลงสู่ทะเล ใช้ระบบนํ้าใต้ดินทั้งบ่อตื้นและบ่อลึก ไปจนถึงจัดตั้งแผนจัดการลุ่มนํ้าเจ้าพระยา

เร่งรัดเพิ่มพื้นที่ชลประทานจาก 35 ล้านไร่เป็น 50 ล้านไร่ หรือ 40% ภายในปี 70 โดยยึดหลักการ “นํ้าต้องมีที่อยู่ที่ไป” นโยบายบริหารจัดการนํ้าทำเป็นลำดับจากต้นนํ้า กลางนํ้า ปลายนํ้าให้เชื่อมต่อกัน สร้างทางระบายนํ้าลงสู่ทะเลและช่องเชื่อมท่อทางนํ้าหลักเพื่อการกระจายนํ้า สร้างเขื่อน ฝาย และแก้มลิง เพื่อเก็บนํ้าหรือชะลอการไหลของนํ้าในพื้นที่เหมาะสม ปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางนํ้า เช่น ถนนโดยทำสะพาน และการเกลาริมฝั่งแม่นํ้า คู คลอง ให้นํ้าเดินได้สะดวกไม่มีสิ่งกีดขวาง ใช้ระบบนํ้าใต้ดินทั้งบ่อตื้นและบ่อลึก เพื่อให้ประชาชนทุกครัวเรือนมีนํ้าเพื่อการอุปโภคและบริโภคฟรี และ จัดทำชลประทานบาดาล นํ้าลึกระดับตำบลเพื่อการเกษตร สนับสนุนให้ชุมชน และเกษตรกรรายครัวเรือน จัดทำแหล่งเก็บนํ้าขนาดย่อม เพื่อเพิ่มการรองรับนํ้าในฤดูฝน และฤดูนํ้าหลาก และเพิ่มศักยภาพของการมีนํ้าใช้ในฤดูนํ้าแล้ง รวมทั้งนโยบายสนับสนุนพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก.