ก่อนอื่น สิ่งที่ขอแสดงความชื่นชมคือ กรณี น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ที่ลาออกจากตำแหน่งก่อน กกต.รับรอง เนื่องจากถูกจับคดีเมาแล้วขับ ซึ่งขอแสดงความชื่นชมเพราะเจ้าตัวและพรรคแสดงสปิริตเอง ไม่จำเป็นต้องให้ใครมาจิกกัดไปจนถึงมาไล่ ทำให้ชักจะรู้สึกว่า “การทำการเมืองเชิงอุดมการณ์” ก็มีโอกาสเป็นจริง ในการที่ ส.ส.ยึดมั่นในเรื่องจริยธรรมและการเป็นแบบอย่าง

นึกไปถึงบางพรรคแล้วอยากจะแหวะ คนมีคดีอยู่ในชั้น ป.ป.ช. หรือถูก ป.ป.ช.ชี้มูลแล้วรอส่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ยังแค่นจะส่งลงสมัคร ส.ส. ซึ่งดีแล้วที่สอบตกไป เพราะเกิดมีปัญหาศาลตัดสินว่าผิดระหว่างการเป็น ส.ส.( โดยเฉพาะ ส.ส.เขต ) ก็ต้องจัดเลือกตั้งใหม่ให้สิ้นเปลืองงบประมาณอีก คือพอเห็นว่าเป็นพวก “บ้านใหญ่” หรือ ส.ส.หลายสมัยก็คิดจะเอาเก้าอี้ ส.ส.ไว้ก่อน แล้วไปตายเอาดาบหน้าที่หลัง ว่างั้น ?

อย่างไรก็ตาม ท่าทางพรรคเพื่อไทยอารมณ์บ่จอยอยู่พอสมควร  เนื่องจากตั้งเป้าหมายในการแลนด์สไลด์ไว้สูงมาก ขนาด น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเคยหาเสียงอยู่ช่วงหนึ่งว่า จะต้องให้ได้ 310 เสียง และก็มีข่าวกระเซ็นกระสายว่า พรรคประเมินว่าจะได้ ส.ส 250 เสียงขึ้นไป กลายเป็นว่าไม่ได้แลนด์สไลด์ตามที่ตั้งเป้า แถมคะแนนห่างจากเป้าตั้งเป็นร้อย และดันแพ้พรรคก้าวไกลอีก แบบพวกบ้านใหญ่อายม้วนต้วน ฐานที่มั่นของเพื่อไทยในภาคเหนืออย่าง เชียงใหม่  ลำพูน ลำปาง ถูกเจาะได้หลายเขตแบบเจ้าที่มองตาปริบๆ

ทำไมพรรคเพื่อไทยคะแนนไม่เข้าเป้า ? หลายคนเขาก็มองไปต่างๆ นานา บ้างก็ว่า คนเบื่อพรรคการเมืองเก่าๆ อยากได้พรรคที่เป็นพรรคคนรุ่นใหม่ไฟแรง มีผลงานที่ดีในสภาในฐานะฝ่ายค้าน ได้มีโอกาสได้เข้ามาเป็นรัฐบาลบ้าง , บ้างก็บอกว่า นโยบายของพรรคเพื่อไทยถูกโจมตีเพราะไปทำประชานิยมแจกเงินเยอะ แล้วจะหาเงินมาจากไหนอีกนอกจากกู้เพิ่มจากที่เคยด่ารัฐบาลชุดบิ๊กตู่ไว้ว่าดีแต่กู้ , หลายคนเขาก็ว่าเขาเบื่อ“ลุงโทนี่”เต็มที คือเคยคุยๆ กับบางคน สามลุงที่เขาเบื่อคือลุงป้อม ลุงตู่ ลุงโทนี่นี่แหละ ..ลุงโทนี่นี่จะเคลื่อนไหวอะไรนักหนา ส่งลูกสาวมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ทำให้ภาพลักษณ์พรรคกลายเป็นพรรคของครอบครัวไปซะอย่างงั้น  บอกอยากกลับไทย เขากลัวจะมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งกันอีก แบบเรื่องรัฐบาลปูจะนิรโทษกรรม แม้เจ้าตัวจะบอกพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ลุงโทนี่ หรือนายทักษิณ ชินวัตร นี่ก็เป็นนายแบกให้พรรคเพื่อไทย ขณะที่กองเชียร์สายสีส้มหลายคนเขารำคาญและหมั่นไส้ “นางแบก” ซึ่งหลายคนคงทราบว่าใคร ที่ไม่ใช่แค่เชียร์พรรคเพื่อไทยตะพึดตะพือ แต่ลามไปโจมตีพรรคก้าวไกลด้วย ซึ่งกลายเป็นที่ขบขันกันเมื่อผลเลือกตั้งออก ว่า นางแบกนายแบกนี่แหละคือ “หัวคะแนนธรรมชาติ”ให้พรรคก้าวไกลเสียอย่างนั้น และล่าสุด อาการ“รมณ์บ่จอย”ที่ออกชัดที่สุดของลุงโทนี่ คือ ตอนไปจัดรายการคลับเฮาส์ของกลุ่มแคร์ มีผู้ฟังรายหนึ่ง ถามเรื่องผู้สมัคร ส.ส.ปทุมธานีรายที่สอบได้ แต่เคยโดนแฉเรื่องคดีทำร้ายร่างกายมาก่อน แนวๆ เขาก็ถามหาจริยธรรมในการเลือกคนเข้าพรรคล่ะนะ

ลุงโทนี่ออกอาการแนวเหวี่ยง ไปตอบคนถามว่า “ก็คุณใส่เสื้อส้ม” เล่นเอาพิธีกรแก้ตัวให้พัลวัน ขณะที่คนฟังเสียความรู้สึกไปแล้วเพราะเขาบอกเขากาเพื่อไทยทั้งใบม่วงใบเขียว ก็ไม่แน่ว่าเราจะได้เห็นลุงโทนี่แซะไปเรื่อยๆ แม้ว่าก้าวไกลจะส่งเทียบเชิญเพื่อไทยเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และก็รอดูเดือน ก.ค.นี้ว่า ลุงโทนี่หรือนายทักษิณจะกลับมาอย่างไร และต้องติดตะรางหรือไม่ เนื่องจากมีคดีที่ถูกตัดสินแล้วยังไม่รับโทษ ( หรือไม่แน่ ถ้าตั้งรัฐบาลได้เร็ว กระทรวงยุติธรรมอาจรีบออกกฎกระทรวงให้ควบคุมตัวผู้ต้องหาโดยใช้กำไลอีเอ็มได้ )

ส่วนเรื่องที่เขาฮากันจากการเลือกตั้งครั้งนี้ คือพรรคเล็กโนเนมได้รับการเลือกตั้งเข้ามา ปอบปูลาร์โหวตสูงกว่าพรรคเล็กบางพรรคที่มีบทบาทในสภาสมัยที่แล้วอย่าง พลังธรรมใหม่ หรือพรรคใหม่ที่โปรโมทตัวเองหนักอย่างไทยภักดี พรรคเส้นด้าย พรรคเปลี่ยน หรือกระทั่ง พรรคเสรีรวมไทย ที่หลายคนคิดกันว่า ผลงานของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรค จะทำให้ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์สักราวๆ 5 ที่ ก็เหลือแค่ที่เดียว แล้วพรรคเล็กคะแนนมาจากไหน ? เผลอๆ มีพวกกาผิดหรือเปล่า แบบว่า เข้าใจว่า ใบเขียวคือ ส.ส.เขต พรรคเล็กที่เข้ามาก็เป็นพรรคเลขตัวเดียว

แต่ก็อย่าประมาทพรรคเล็ก อย่างน้อย ถ้าเป็นพรรคที่มีจุดขายชัดเจน ก็อาจได้คะแนนปอบปูลาร์โหวตจากพื้นที่เฉพาะ อย่างเช่นสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็มีพรรคเล็กที่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เข้ามา คือ พรรคประชาธิปไตยใหม่และพรรคมหาชน คือปอบปูลาร์โหวต บางทีอาจไม่ต้องมาจากทั่วประเทศ แต่คุณอาจเก็บคะแนนจากพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งอย่างมีนัยยะสำคัญ ขายนโยบายอะไรบางอย่างที่โดนใจ ก็ได้คะแนนหลักแสนไม่ยาก

คำถามคือ ต่อจากนี้จะทำอะไรต่อ ? พรรคก้าวไกลเขาก็ไปต่อไม่รอแล้ว ประกาศรวมเสียงพรรคร่วมฝ่ายค้านปัจจุบันตั้งรัฐบาลเลย  ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเพื่อไทยเขาจะแอบคิดอะไรหรือไม่ เขาอาจจะอยากเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลจัดตั้งนายกฯ เองโดยการรวมเสียงในสภาให้ได้เสียงข้างมาก เหมือนตอนกรณีพรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) ตั้งรัฐบาลก็ได้ นั่นก็ไม่ใช่พรรคเสียงข้างมากอันดับหนึ่ง แต่ปัญหาคือ รวมเสียงพรรคอื่นได้ถึง 250 เสียงก่อน และก็ได้เสียง ส.ว.ที่ไม่รู้มีไว้ทำไมเข้ามาหนุน ซึ่งดูเป็นตราบาปมากที่มีการตราบทเฉพาะกาลอ้างว่า ให้ ส.ว.เข้ามาติดตามการปฏิรูป

อันนี้สมมุตินะครับสมมุติ .. ถ้าเงื่อนไขคือไม่เอาสองลุง ก็ให้บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. ลาออกจากปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 ไป วางมือทางการเมือง และทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ ( รทสช.) วางมือทางการเมืองไป เพื่อไทยก็รวมเสียงพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันได้ ประมาณบวกลบ 350 เอาก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน ..เสียงข้างน้อยตั้งรัฐบาลได้มันเคยมีมาแล้วในประวัติศาสตร์ไทย แต่ด้วยกระแสก้าวไกลแรงขนาดนี้ คิดว่า เงื่อนไขนี้คงเกิดขึ้นได้ยาก ไม่งั้นสมัยหน้าเพื่อไทยอาจกลายเป็นพรรคเล็ก  ..แต่ไมใช่ไม่มีโอกาสเกิด ต่อมาเขาก็คงหาหลักการและเหตุผลอะไรที่ไปกันไม่ได้ขึ้นมาก็ได้ ถ้าพรรคเพื่อไทยต้องการอำนาจ

ส่วน ส.ว.ว่าอย่างไร ? ถ้ารวมเสียงพรรคร่วมรัฐบาลได้ 313 เสียง ก็ต้องพึ่งเสียง ส.ว.อีกจำนวนหนึ่ง ทำให้มีกระแสสังคมที่กระตุกพรรคการเมืองที่อ้างว่า “ต้องการปิดสวิตช์ ส.ว.” ที่อยู่ในขั้วรัฐบาลปัจจุบัน เข้ามาโหวตให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ “ตามฉันทามติของประชาชน” แล้วหลังจากนั้นก็ไปเป็นฝ่ายค้านอย่างมีเกียรติ ซึ่งถ้าเอาประชาธิปัตย์,ชาติไทยพัฒนา มา ก็ได้อีกประมาณ 35 เสียง ก็หาเสียง ส.ว.อีกไม่เท่าไร ซึ่ง ส.ว.ที่มีเหตุผลก็มี ว่า “ไม่ควรฝ่าฝืนฉันทามติของประชาชน เมื่อเขาได้เสียงข้างมากก็ควรต้องโหวตให้เขา” ตอนนี้ก็ค่อยๆ ทยอยแสดงตัวออกมาบ้างแล้ว ซึ่งถึงจุดหนึ่งอาจได้เสียง ส.ว.พอหนุนรัฐบาลพรรคก้าวไกล  ..ประชาธิปัตย์เองก็มีโอกาสรีแบรนด์ตัวเองได้ ในแง่แนวคิดรักประชาธิปไตย ยอมรับผลการเลือกตั้งและตั้งใจล้างมรดก คสช.

วุฒิสภา ตั้งกรรมการ-หารือด่วน ออกมาตรการป้องกันโควิด-19 หลังพบส.ว.ติดเชื้อ  - ข่าวสด

แต่ถ้ารวมเสียงอย่างไรก็ไม่ได้ 376 เสียง มันก็ยึกยือคาราคาซังอยู่ต่อไป ประชุมสภาเลือกนายกฯ อาจไม่ใช่แค่ครั้งเดียว ก็ใช้รัฐบาลรักษาการไปก่อน แต่ปัญหาคือรัฐบาลรักษาการนั้นอำนาจไม่เต็ม หวังว่าคงไม่เล่นบ้าเล่นบอกันขนาดรอให้ ส.ว.ชุดนี้หมดวาระถึงโหวตได้ ( ส.ว.โหวตนายกฯ ได้มีชุดนี้ชุดเดียวตามบทเฉพาะกาล 5 ปี ) กรณีที่มีการยึกยักกันมาก มันมีโอกาสให้มีนายกฯคนนอก โดยเมื่อสองสภาลงมติไม่ได้ ให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เสนอให้เลือกนายกฯ จากนอกบัญชีพรรคการเมือง แล้วสองสภาโหวตรับรอง จากนั้นให้สภาผู้แทนราษฎรเสนอชื่อนายกฯ คนนอกแล้วสองสภาโหวตรับรอง

การทำงานอะไรก็คงยังไม่พูดถึงก่อน เพราะรัฐบาลยังตั้งไม่ได้ แต่เรื่องหนึ่งที่เหมือนจะโยนเผือกร้อนให้สภาคือ ป.อาญา ม.112 จะแก้หรือไม่ ? คือเอาจริงกฎหมายเพื่อคุ้มครองประมุขแห่งรัฐมันควรมี เพราะประมุขแห่งรัฐไม่อยู่ในฐานะที่จะฟ้องร้องใครเองได้ แต่ปัญหาคือมันเอามาตรานี้มาเล่นการเมืองแบบน่าเกลียด และเอามาใช้กลั่นแกล้งกันได้ เพราะใครฟ้องก็ได้ อย่างอยู่ๆ ใครจะหาเรื่องใครก็ล่อให้พูดอะไรเข้าข่ายหมิ่นสถาบันแล้วเอาไปฟ้อง และโทษมันสูง บางทีไปๆ มาๆ อัยการอาจไม่ฟ้องหรอก แต่ใครโดนแจ้งความจับมันก็เสียสุขภาพจิต

ถ้าจะแก้ ไม่ใช่ว่าใครก็ฟ้องได้ ควรมีหน่วยงานกลั่นกรองก่อน โดยพนักงานสอบสวนรับเรื่องแล้วส่งหน่วยงานกลั่นกรองว่า เป็นลักษณะการหมิ่นสถาบันจริงหรือไม่ แล้วถึงส่งอัยการ เห็นพูดกันสมัยรัฐบาลประยุทธ์ว่าจะมีการตั้งหน่วยงานมาดูแลกลั่นกรองคดี แต่ก็ไม่เห็นว่าจะทำอะไร องค์ประกอบคณะกรรมการใครบ้างก็ไม่รู้

การแก้ ม.112 อาจเป็นเรื่องที่สร้างความหวาดให้รัฐบาลได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญ ส.ว.มีหน้าที่กำกับให้นโยบายรัฐบาลเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ ถ้าไม่เป็นไปตามนั้น ยื่น ป.ป.ช.ทำรัฐมนตรีติดคุกได้ และยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงก็กางหรามาเลยว่ามีเรื่อง “การพัฒนาและเสริมสร้างความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ” ทีนี้ ถ้าจะไปแตะเรื่องแก้กฎหมายตัวนี้ ก็อาจถูกตีความในเชิงหาเรื่องได้

ดังนั้นก็อย่ากระนั้นเลย…เข้าไปเป็นรัฐบาล งานฝ่ายนิติบัญญัติคือยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก่อน อย่าให้มีมรดก คสช.โผล่มารัดคอรัฐบาลใหม่

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”