ทั้งนี้ในคู่มือเกษตรกร “โมเดลแก้หนี้สินชาวนาแบบครบวงจร” โดยนักวิชาการท่านดังกล่าวนี้ นอกจากจะสะท้อน “สถานการณ์ปัญหาที่เกษตรกร-ชาวนาไทยต้องเผชิญ” แล้ว…ยังมีการ “เสนอแนวทางช่วยปลดล็อกวังวนหนี้” ให้กับเกษตรกรไว้ว่า…การจะแก้ปัญหานี้ได้นั้น…

จะ “ต้องรู้ถึงรากของปัญหา” ที่เกิดขึ้น

รวมถึง “เหตุที่ทำให้เกษตรกรมีหนี้สิน”

“จึงจะสามารถแก้ปัญหาหนี้ได้ตรงจุด!!”

ทั้งนี้ ดร.รุ้งทอง มูลนิธิชีวิตไท ได้มีการระบุไว้ในคู่มือ “โมเดลแก้หนี้สินชาวนาแบบครบวงจร” ว่า… สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกษตรกรมีหนี้สินนั้น มีหลายประการ หรืออาจจะกล่าวได้ว่า… หนี้สินเกษตรกรมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเป็นลูกโซ่ เพราะการเป็นหนี้สินของเกษตรกรและชาวนานั้น เกิดขึ้นมาจากหลาย ๆ ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กันหลากหลายด้าน

อนึ่ง นอกจากการที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนและรายได้ที่ไม่พอเพียงกับรายจ่ายแล้ว อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ เกษตรกรตกอยู่ในวังวนหนี้” ก็คือ “ปัจจัยความรู้-ทัศนคติ” ที่ทำให้ไม่เกิดการเพิ่มมูลค่าของผลผลิต โดย เกษตรกรส่วนใหญ่ขายผลผลิตทันทีหลังเก็บเกี่ยว ซึ่งการขายแบบนี้ ทำให้ไม่เกิดการเพิ่มมูลค่า และไม่ได้ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม

ยิ่งหาก “ขายผ่านระบบพ่อค้าคนกลาง”

ยิ่งทำให้ “ขาดอำนาจต่อรองด้านราคา”

จากกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้นี่เอง จึงเป็นที่มาในการจัดทำ “ข้อเสนอแนะ” เพื่อการ “แก้ปัญหาหนี้เกษตรกร” โดยในคู่มือดังกล่าว ได้มีการเสนอแนะการแก้ไขปัญหานี้ ผ่าน “แนวทาง” ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้คือ… “ไม่ควรแก้แบบแยกส่วน แต่ควรแก้ปัญหาอย่างครบวงจร” เนื่องจากปัญหาหนี้สินของเกษตรกรและชาวนานั้น มีสาเหตุมาจากหลาย ๆ ปัจจัยทำให้เกิดภาระหนี้สิน ดังนั้น การที่จะแก้ปัญหานี้ได้จึงต้องมีกระบวนการในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น การวิเคราะห์รากของปัญหา, การจัดทำกระบวนการทบทวนและวิเคราะห์หนี้, การวางแผนการลงมือปฏิบัติ เป็นต้น เพื่อที่จะ…

ให้เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนการผลิต

ที่จะลดต้นทุนพร้อมกับการเพิ่มรายได้

แนวทางประการต่อมาคือ… “ควรระดมผู้เชี่ยวชาญหลากหลายศาสตร์มาร่วมกันแก้ปัญหา” โดยเฉพาะในการ ออกแบบโมเดลการแก้ไขปัญหาหนี้ของชาวนาและเกษตรกร เนื่องจากปัญหาหนี้สินของเกษตรกรนั้น มีความซับซ้อน และไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากแค่เรื่องรายได้เพียงอย่างเดียว ดังนั้น หากจะอุดช่องว่างเรื่องนี้ ก็อาจจะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญจากหลาย ๆ ศาสตร์ อาทิ นักเศรษฐศาสตร์, นักการเกษตร, นักธุรกิจ, นักจิตวิทยา เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบโมเดลการแก้ปัญหา 

ในรูปแบบ “ทำงานบูรณาการร่วมกัน”

มิใช่ปล่อยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งแก้

นอกจากนี้ยังมีการเสนอแนวทางเพิ่มเติมเพื่อช่วยเกษตรกร อาทิ… “ควรมีกระบวนการจัดการความเครียดให้กับเกษตรกรที่มีปัญหาหนี้” ด้วย เนื่องจากพบว่า เกษตรกรและชาวนาในปัจจุบันนี้ตกอยู่ภาวะมีความเครียดรุนแรง จากปัญหาหนี้ จากปัญหาผลผลิตตกต่ำ และจากปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบ รวมถึงปัญหาภายในครอบครัว โดยกระบวนการจัดการความเครียดนี้ จะช่วยลดแรงกดดันที่เกษตรกรต้องเผชิญอยู่ ซึ่งหากสามารถลดความเครียดได้แล้ว เกษตรกรก็จะมีสติ…

จะนำไปสู่การ “เห็นทางออก-แนวทาง”

ที่จะนำมาแก้ปัญหาหนี้ของตัวเกษตรกรเอง

ถัดมา…“ควรมีโมเดลลดต้นทุนการผลิตที่ทำได้จริง” เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรได้นำไปศึกษาและปรับใช้จริง เพื่อจะนำไปสู่การแก้ปัญหาหนี้ เช่น การให้ความรู้เรื่องการลดรายจ่ายครัวเรือนที่ไม่จำเป็น, การส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดทางการเกษตร อาทิ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การปลูกพืชผสมผสานหลังฤดูทำนา การปลูกไม้ยืนต้น-ไม้เศรษฐกิจเสริม เป็นต้น เพื่อ…

“เพิ่มรายได้หมุนเวียน” ให้กับเกษตรกร

เติมรายได้ตลอดทั้งปีด้วยรายได้หมุนเวียน

และอีกแนวทางที่มีการเสนอไว้คือ… “ควรส่งเสริมให้มีระบบกลุ่มหรือเครือข่าย” ที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้เกษตรกรเห็นทางออกการแก้ปัญหา จากกรณีศึกษาในหลาย ๆ พื้นที่ …ทั้งนี้ เหล่านี้เป็น “แนวทางช่วยเกษตรกรแก้ปัญหาหนี้” ที่จัดทำโดย ดร.รุ้งทอง ครามานนท์ มูลนิธิชีวิตไท ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมเสนอ “ทางออกช่วยเหลือเกษตรกร-ชาวนา”

เหล่านี้นับว่าเป็นอีก “ชุดข้อมูลที่น่าสนใจ”

ในการ “ช่วยเกษตรกรไทยปลดล็อกหนี้”

อีก “ปัญหาที่รอความใส่ใจ?-วัดฝีมือ?” ของนักการเมือง…“ของรัฐบาลใหม่”.

‘ฉายภาพ’ รัฐบาลใหม่ ‘หนี้สินเกษตรกร’ วังวนนี้ ‘มีรากปัญหา’