นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) กำลังจับตามองผลกระทบจากการระบาดของโควิดที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอี โดยนอกจากปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินที่ทำให้เอสเอ็มอีจำนวนมากต้องล่มสลายแล้ว ยังพบปัญหาโครงสร้างทางการตลาดที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการมีแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น อีเซอร์วิส อีโลจิสติกส์ อีคอมเมิร์ซเข้ามาแข่งขันทำให้ธุรกิจแบบดั้งเดิมไม่สามารถปรับตัวได้ทัน และถูกแย่งพื้นที่ตลาดไปมาก

นอกจากนี้ พบการควบรวมธุรกิจ โดยมีกว้านซื้อธุรกิจรายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการประกอบธุรกิจ แต่ปัญหาที่ตามมาคือทำให้โอกาสการแข่งขันเอสเอ็มอีรายย่อย และรายกลางลดลง ไม่สามารถแข่งขันได้เนื่องจากไม่มีอำนาจทางการค้าที่มากพอ อีกทั้งยังอาจจะตามมาซึ่งการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ จากธุรกิจรายใหญ่อีกด้วย ตลอดจนพบมีการใช้อำนาจเหนือตลาดของผู้ที่มีความสามารถในด้านเทคโนโลยี ซึ่งหากเอสเอ็มอีปรับตัวไม่ทันจะเสียเปรียบในการแข่งขันทางการค้า และนำมาซึ่งช่องว่างในการถูกรังแกมากขึ้น

“จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)ได้แสดงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดที่ส่งผลกระทบต่อทุกผู้ประกอบธุรกิจทุกภาคส่วน และเอสเอ็มอี ซึ่งพบว่าธุรกิจเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบหนักกว่าเศรษฐกิจโดยรวม โดยข้อมูลจีดีพีของเอสเอ็มอีปี 63 มีอัตราลดลง 9.1% เมื่อเทียบกับจีดีพีประเทศที่ลดลง 6.1% ซึ่งเป็นการปรับลดมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงเริ่มระบาด”

นายสกนธ์ กล่าวว่า สขค. ขอแนะนำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องเรียนรู้ด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยประเมินสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจตนเอง พร้อมกับศึกษาความท้าทายจากเทคโนโลยี รวมถึงต้องเรียนรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวกับแข่งขันทางการการค้าเพื่อป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการรายอื่น โดย สขค.จะเร่งสร้างบรรยากาศทางการค้าให้เป็นธรรม ไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ ผ่านการเร่งออกแนวปฏิบัติที่จะใช้กำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้เป็นธรรมกับทุกราย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีแนวปฏิบัติที่สำคัญ ได้แก่ แนวปฏิบัติสำหรับการประกอบธุรกิจค้าปลีก แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรมเกี่ยวกับระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (เครดิตเทอม) สำหรับผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นผู้ขายสินค้าหรือบริการ แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์ แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มรับและส่งอาหารกับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร รวมทั้งการเปิดให้มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียนโดยตรงและทางออนไลน์ หากผู้ประกอบธุรกิจไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการค้า