ที่แน่ ๆ ที่เห็นได้ชัด ๆ คือ “กระแสเลือกตั้งครั้งนี้ก็ถือว่าปัง!!” ทั้งจากการหาเสียงของบรรดานักการเมือง จากการให้ข้อมูลข่าวสารและการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการเลือกตั้งของสื่อ ขณะที่ในโลกโซเชียลนั้น ก็ล้นไปด้วยกระแสเลือกตั้ง…

ประชาชน “สนใจเลือกตั้ง” เป็นเรื่องที่ดี

แต่เรา ๆ ท่าน ๆ ก็ “ต้องระวังการอิน!!”

ทั้งนี้ กับการ “เลือกตั้ง ส.ส.” นั้น บางคนอาจจะเกาะติดใกล้ชิดมาอย่างต่อเนื่องติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน…จนมาถึงตอนนี้ก็เกาะติด “ผลเลือกตั้ง ส.ส.” ต่ออีกสเต็ปหนึ่ง ซึ่งก็มิใช่เรื่องผิดแปลกอะไร เพียงแต่ว่า…ถ้า “อินเกินไป-ลุ้นเกินไป” ก็อาจทำให้ “ป่วยจากสภาวะเครียดได้” ซึ่งวันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ปัดฝุ่นเรื่องนี้-โรคแบบนี้มาเน้นเตือนกัน โดยการป่วยจากสภาวะเครียดจากเรื่องการเมืองนั้น เป็นอีกหนึ่งปัญหาสุขภาพที่ในทางการแพทย์มีการกำหนดคำเรียกไว้นานแล้วว่า “โพลิติคอล สเตรส ซินโดรม (Political Stress Syndrome)” หรืออย่างย่อ ๆ ก็ “พีเอสเอส (PSS)” ซึ่งเป็นสภาวะ…

“เครียดจากสถานการณ์ทางการเมือง”  

กับเรื่องเครียดสถานการณ์ทางการเมืองนี่ กับคนไทยเราหลาย ๆ คนอาจบอกว่า “เครียดจนชินแล้ว” อย่างไรก็ตาม “ก็ไม่ควรประมาท!!” ซึ่งจากการที่ประเทศไทยมีการ “เลือกตั้ง ส.ส.” เป็นการทั่วไปครั้งใหม่ในปี 2566 นี้ กับกระแสที่ปัง กับกระแสที่อื้ออึง ก็อาจจะทำให้ “ลุ้น-อิน” แบบที่ “มากเกินไป” โดยไม่ทันรู้ตัว…จนเกิด “เครียด-ป่วย” ขึ้นได้ ซึ่ง “ไม่ดีแน่!!”

พลิกแฟ้มย้ำเตือนกันไว้ในช่วงที่กำลังมีการ “ลุ้นเลือกตั้ง” กันทั่วไทย… เกี่ยวกับภาวะ “ซินโดรม” ที่เรียกว่า “พีเอสเอส” หรือ “โพลิติคอล สเตรส ซินโดรม” นั้นมีคำอธิบายไว้ว่าคือ…สภาวะความเครียดจากสถานการณ์ทางการเมือง จน ส่งผลต่อ “ปฏิกิริยาของอารมณ์และจิตใจ” ในผู้ที่ให้ความสนใจ ติดตามเรื่องราวความเป็นไปอย่างใกล้ชิด หรือเป็นระยะเวลานาน ๆ แล้วก็ตามมาด้วยการ “เกิดความตึงเครียดทางจิตใจขึ้น” จากเรื่องราวการเมือง ซึ่งจะเกิดขึ้นเพราะเรื่องราวในประเด็นใด?? หรือจะเกิดขึ้นเพราะเรื่องราวในรูปแบบใด?? นั่นก็สุดแท้แต่ตัวบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือสนใจ แต่ที่แน่ ๆ ถ้าหากจะถามว่า… “เครียดเรื่องทางการเมืองแล้วยังไงล่ะ??” ก็มีคำตอบคือ… “ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเครียดจนป่วยทั้งใจและกาย!!”

ก็ “สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ย่ำแย่ได้!!” 

ในทางวิชาการแพทย์ มีข้อมูลระบุไว้ว่า… สภาวะความเครียดจากสถานการณ์ทางการเมือง สภาวะ “พีเอสเอส” นี้ อาจจะ “ทำให้เกิดความคิดคาดการณ์ที่นำสู่ความรู้สึกวิตกกังวล-ความหวั่นวิตก” โดยเฉพาะกับคนที่ “อินมาก ๆ” สามารถจะ “ทำให้ผู้ที่เกิดสภาวะมีอาการป่วยได้ทั้งทางจิตใจและทางร่างกาย” รวมถึงสามารถ “ทำให้กระทบต่อสัมพันธภาพกับผู้อื่น” ด้วย ซึ่งถึงแม้พีเอสเอสจะไม่ใช่โรคที่เกิดจากปัญหาทางสุขภาพจิต…แต่ก็เป็นปัญหาทางสุขภาพจิตที่ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติด้านจิตใจมากที่สุด ในช่วงนับสิบปีมานี้ โดยที่… ในประเทศไทย “พีเอสเอส” นี่ก็กลายเป็น “อีกปัญหาที่สำคัญ!!” …นี่เป็นการระบุไว้ในเชิงวิชาการทางการแพทย์ ตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งถึงตอนนี้…กับ “ศึกเลือกตั้ง 2566” ก็ควร “ต้องระวัง!!”…

กับ “การลุ้นผลเลือกตั้ง” นี่ “ก็ด้วย!!”

ทั้งนี้ ผลจากสภาวะ “พีเอสเอส” กับ อาการทางจิตใจ นั้น ก็อย่างเช่น… มีความรู้สึกวิตกกังวล มีความรู้สึกหวั่นวิตก หรือมีการครุ่นคิดอยู่ในหัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถ้าหากว่าสถานการณ์ไม่เป็นไปดังที่คาดหวัง ก็อาจจะทำให้… หงุดหงิดง่าย ฉุนเฉียว ก้าวร้าว รู้สึกโกรธ หรือรู้สึกเบื่อหน่าย ท้อแท้ หมดหวัง สิ้นหวัง รู้สึกเหมือนไม่มีทางออก สมาธิไม่ดี ฟุ้งซ่าน

ขณะที่ อาการทางร่างกาย จากสภาวะชินโดรม “พีเอสเอส” หรือ “โพลิติคอล สเตรส ซินโดรม” นั้น ก็อย่างเช่น… ปวดศีรษะ ปวดท้อง ปวดกล้ามเนื้อ แขน-ขา ขมับ ต้นคอ ร่างกายเกิดอาการชา นอนไม่หลับ หลับ ๆ ตื่น ๆ หรือหลับแล้วตื่นกลางคืน แล้วก็ไม่อาจจะหลับต่อได้ หายใจไม่อิ่ม ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติทั้ง ๆ ที่อยู่ในสภาพปกติ ซึ่ง…

มีปัญหาหัวใจเป็นทุนเดิม…ก็ยิ่งเสี่ยง!!

นอกจากนั้น ยังอาจเกิด อาการเกี่ยวกับสัมพันธภาพกับผู้อื่น คือ… มีการโต้เถียงกับผู้อื่น แม้แต่คนใกล้ชิด ที่ อาจถึงขั้น “ใช้อารมณ์” ตั้งแต่ระดับปานกลางจนถึงรุนแรง โดยที่ “ไม่สามารถยับยั้งตนเองได้!!” มีการพยายามเอาชนะทางความคิด แม้แต่กับคนที่เคยมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน อาจถึงขั้นตอบโต้ผู้ที่เห็นต่างกันโดย “ใช้กำลัง” หรือ “ทำร้ายร่างกาย”

สภาวะ “โพลิติคอล สเตรส ซินโดรม” สภาวะ “พีเอสเอส” ที่ว่านี้…จากข้อมูลในทางวิชาการแพทย์นั้นแม้ว่าก็สามารถที่จะ “หายไปเองได้เมื่อสถานการณ์ในแบบที่ผู้ที่เกิดสภาวะรู้สึกไม่ชอบได้คลี่คลายลงไป” แต่กระนั้น…ทางที่ดีแล้ว “เท่าทันโดยอินแบบพอสมควรไว้ก่อนเป็นดี…โดยเฉพาะกับการเมืองกรณีเลือกตั้ง” เพราะ…การเลือกตั้งนั้น เป็นกรณีที่ “เมื่อผลเป็นเช่นไรแล้วก็ใช่จะคลี่คลายหรือเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ๆ หรือในระยะเวลาอันสั้น” เสียเมื่อไหร่ล่ะ??

“เลือกตั้ง” นี่ “ให้ความสนใจเป็นเรื่องดี”

แต่ “อินจนเกิดผลร้าย” นั้น “ไม่ดีแน่ ๆ”

จะ “แย่เพราะอินมากไป!!” ได้เลยนะ!!.