โดยหนึ่งในองค์กรที่มีบทบาทสำคัญ ได้แก่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ “กสศ.” ซึ่งปีนี้ได้ก้าวสู่ปีที่ 5 แล้ว ซึ่งในงานประชุมโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐานที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสคุยกับ อจ.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของกองทุนฯ ท่านได้เล่าให้ฟังว่า ในระยะเวลา 5 ปี กสศ. ได้ทำสิ่งสำคัญ 2 เรื่องคือ 1.ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของผู้คนที่ด้อยโอกาส และถูกทิ้งไว้ด้านหลัง โดย กสศ. ได้พัฒนาฐานข้อมูลว่าพวกเขาเหลานี้อยู่ที่ไหน มีจำนวนเท่าไหร่ และมีปัจจัยอะไรที่ทำให้พวกเขาหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจ และพ่อแม่ไม่มีเงินส่งลูกเรียน โดยเฉพาะในช่วง covid-19 ที่พอน้อง ๆ หลุดจากระบบการศึกษาไป บ้างก็อยู่บ้านเฉย ๆ บ้างก็ไปทำงานช่วยพ่อแม่หาเงิน

แต่ที่อันตรายคือ บางรายเข้าสู่วงจรธุรกิจสีเทา และลงเอยในทัณฑสถาน กสศ. จึงได้มีโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยน้อง ๆ เหล่านี้ โดยใช้กลไกชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้  เป็นศูนย์ส่งเสริมอาชีพ เป็นการศึกษาทางเลือก เพื่อให้การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในระบบโรงเรียนอีกต่อไป ซึ่งการจะทำสิ่งนี้ให้สำเร็จได้นั้น จะต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชน ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ นักวิชาการ และสื่อมวลชน ที่มีส่วนร่วมตั้งแต่คัดเลือก ปรับปรุงโครงการ ให้คำแนะนำ และเชื่อมโยงการผลิตกับการการตลาด ตลอดห่วงโซ่การค้าและบริการ ที่ไม่เพียงมุ่งสร้างความสามารถใหม่ แต่ยังสร้างโอกาสในอนาคตให้เด็ก ๆ ด้วย เพราะกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ มีมากมายกระจายในสังคม ซึ่งการศึกษากระแสหลักมักละเลยมองข้าม ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม ส่วนอีกเรื่องที่ทำคือ 2.การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา โดย กสศ. สร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ต้องการแรงงานคุณภาพ เพื่อสร้างความสามารถการแข่งขันให้ประเทศเร่งด่วนหลัง covid-19

ทั้งนี้ เราเห็นโครงการดี ๆ มากมายที่มีชุมชนเป็นฐาน เราเห็นผู้นำชุมชน นักวิชาการ นักธุรกิจ นักพัฒนา สื่อมวลชนเสียสละเวลาอาสามาช่วยกันกลั่นกรองและพัฒนาโครงการต่าง ๆ อย่างจริงจัง แทนที่จะใช้วันหยุดยาวไปพักผ่อนท่องเที่ยวหาความสุข ซึ่งพลังแห่งจิตอาสาเหล่านี้ ปลุกให้เรามีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง และหวังว่าหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ เราจะได้ผู้นำที่ดีมาเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทย ให้สามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ และก้าวหน้าไปสู่ความยั่งยืนอย่างถูกทางเสียที.