รายงานดัชนีขยะอาหาร ปี 2564 (Food Waste Index Report 2021) ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ระบุว่า ทั่วโลกมีปริมาณขยะอาหารกว่า 931 ล้านตัน เทียบได้กับรถบรรทุก 40 ตัน จำนวน 23 ล้านคัน โดยเกิดจากผู้บริโภค 61% ผู้ประกอบการ 26% และผู้จำหน่ายอาหาร 13% หรือหากคิดปริมาณขยะอาหารคิดเป็น 74 กิโลกรัมต่อคนต่อปี นอกจากนี้ ขยะอาหารเหล่านี้ยังสร้างก๊าซเรือนกระจกถึง 8% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก

แต่ขณะเดียวกัน ทุกวันนี้มีผู้คนทั่วโลกกว่า 830 ล้านคน กำลังเผชิญกับความอดอยากและขาดสารอาหาร องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า หากลดปริมาณอาหารเน่าเสียหรือเหลือทิ้งทั่วโลกลงได้ 25% จะสามารถเลี้ยงดูผู้คนได้อีก 870 ล้านคน ส่งผลให้องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้หยิบยกปัญหาขยะอาหาร เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อลดปริมาณขยะอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2030 ขณะที่หลาย ๆ ชาติได้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จึงได้ผลักดันและออกกฎหมายให้มีการนำอาหารที่เดิมจะต้องทิ้งเป็นขยะ มาใช้ให้เกิดประโยชน์

อาทิ ฝรั่งเศส ออกกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านขยะอาหาร กำหนดให้ร้านค้าปลีกตั้งแต่ 400 ตารางเมตร ห้ามทิ้งและทำลายอาหารที่ยังไม่หมดอายุ ให้ใช้วิธีทำสัญญากับองค์กรการกุศล หรือธนาคารอาหาร เพื่อบริจาคให้ผู้ที่ต้องการ และมีมาตรการด้านภาษีเป็นแรงจูงใจ ด้านสหรัฐออกกฎหมายให้ผู้บริจาคอาหารโดยสุจริต ไม่ต้องรับโทษทางแพ่งและอาญา หากอาหารที่บริจาคไปเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เกาหลีใต้ เปลี่ยนการเก็บค่าธรรมเนียมการเก็บขยะในอัตราคงที่ เป็นเก็บตามสัดส่วนปริมาณขยะที่ทิ้ง เพื่อจูงใจให้ครัวเรือนลดปริมาณขยะ เรียนรู้การแยกขยะ

ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนในหลายประเทศก็พัฒนาโมเดลธุรกิจเพื่อช่วยลดปัญหาขยะอาหาร เช่น สหรัฐ มีแอปพลิเคชัน Misfits Market ให้คนซื้อผลผลิตทาง การเกษตรที่คุณภาพดีแต่ไม่สวยงามในราคาถูกกว่าปกติ 40% มีแอป Food for All ช่วยให้ซื้ออาหารได้ 1 ชั่วโมงก่อนร้านปิด ได้รับส่วนลดสูงสุด 80% อังกฤษและไอร์แลนด์ มีแอป FoodCloud เชื่อมโยงธุรกิจที่มีอาหารส่วนเกินกับองค์กรการกุศลและชุมชนที่ต้องการอาหาร เดนมาร์กมีแอป Too Good To Go ช่วยให้ร้านอาหาร นำอาหารส่วนเกินมาขายแบบลดราคา เป็นต้น

ขณะที่ในประเทศไทยนั้น มีรายงานของดัชนีขยะอาหารปี 2564 ประเมินว่ามีปริมาณขยะอาหาร 79 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ใกล้เคียงกับข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษที่ระบุว่าในปี 2563 ไทยมีปริมาณขยะอาหาร 5.58 ล้านตัน หรือ 80 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ขณะที่ไทยมีสัดส่วนผู้หิวโหยสูงถึง 9% ของประชากรทั้งประเทศ

ในเรื่องนี้ นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า จากการศึกษาของ สนค. พบว่าภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาขยะอาหาร โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565-2570) ที่ได้บรรจุแนวทางการลดปริมาณขยะอาหาร การส่งเสริมการแบ่งปันอาหารส่วนเกิน และการให้ความรู้เพื่อลดการเกิดขยะอาหารในส่วนของผู้บริโภค ส่วนภาคประชาสังคมก็ให้ความสำคัญ โดยมีบริการเชื่อมโยงอาหารส่วนเกินกับผู้ที่ต้องการ อาทิ มูลนิธิรักษ์อาหาร หรือ SOS Thailand และแอป Oho! เป็นแพลตฟอร์มสั่งอาหารคุณภาพดีที่เหลือจากการขายหน้าร้านอาหาร โรงแรม และซูเปอร์มาร์เกตที่ถูกกว่าราคาจริง 50-80%

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีช่องว่างในการพัฒนาการบริหารขยะอาหารได้อีกมาก ทั้งจากภาครัฐ ซึ่งสามารถหาแนวทางการออกกฎระเบียบช่วยจูงใจขับเคลื่อน เช่นเดียวกับภาคธุรกิจ สามารถหาโอกาสและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับอาหารส่วนเกิน เพื่อไม่ให้กลายเป็นขยะอาหาร โดยนำแนวทางปฏิบัติที่ดีจากหลายประเทศ เป็นตัวอย่างมาบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่การลดปริมาณขยะอาหาร และแก้ปัญหาความอดอยากได้อย่างยั่งยืน.